SNP NEWS

ฉบับที่ 562

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

จุดส่งมอบ

‘จะสั่งซื้อสินค้านำเข้าด้วยเงื่อนไขอะไรดี ???’
‘ระหว่าง FOB กับ CIF หรือระหว่าง EXW กับ DDP’

การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ อาจมีเรื่องความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างของผู้ซื้อและผู้ขายเกิดขึ้นบ่อย
เหตุผลง่าย ๆ เพราะต่างคนต่างอยู่คนละประเทศ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็มีวัฒนธรรมและความคุ้นเคยของการซื้อและการขายแตกต่างกัน
ตัวอย่างง่าย ๆ คือ จุดส่งมอบสินค้า (Place of Delivery)
หากจะดูง่าย ๆ ก็คล้ายกับการซื้อตู้เย็นภายในประเทศ 1 ตู้นั่นล่ะ
ภายหลังการซื้อขายสิ้นสุดลง ร้านค้าบางแห่งจะส่งมอบตู้เย็น 1 ตู้ให้ถึงบ้านผู้ซื้อพร้อมติดตั้งให้เสร็จโดยการรวมค่าขนส่งและค่าส่งมอบไว้ในราคาตู้เย็น 1 ตู้เรียบร้อยแล้ว
บางร้านค้าก็กำหนดราคาตู้เย็น 1 ตู้ โดยแยกราคาค่าขนส่งและค่าส่งมอบไว้ต่างหากให้ชัดเจน ให้ผู้ซื้อเข้าใจ ผู้ซื้อจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการรับมอบสินค้าหน้าร้านผู้ขายเอง ชำระค่าขนส่งและค่าส่งมอบเอง
ขณะที่บางร้านก็กำหนดราคาสินค้าขั้นต่ำไว้ เมื่อผู้ซื้อมาซื้อสินค้าในราคามากกว่าขั้นต่ำตามที่กำหนด ผู้ขายก็จะขนส่งสินค้าและส่งมอบให้ฟรี เป็นต้น
การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศก็ไม่ต่างกัน นอกจากราคาสินค้าแล้ว กว่าสินค้าจะส่งมอบได้ ก็ยังจะมีค่าขนส่งและค่าส่งมอบระหว่างประเทศเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย
ค่าขนส่งและค่าส่งมอบประกอบด้วยค่าระวางเรือ, หรือเครื่องบิน, หรือรถบรรทุก, หรือรถไฟ (Freight), ค่าเบี้ยประกันภัยสินค้า (Insurance Premium), ค่าภาระท่าเรือส่งออกและท่าเรือนำเข้า (Port Charge), ค่าขนส่งภายในประเทศส่งออกและภายในประเทศนำเข้า (Inland Transportation), ค่าภาษีในประเทศส่งออกหรือนำเข้า (Export or Import Duty and Tax), ค่าบริการส่งมอบสินค้า (Delivery Charge) และอื่น ๆ จนสินค้าส่งมอบถึงมือผู้ซื้อ
ปัญหาที่ตามมาภายหลังการซื้อขายคือ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบค่าขนส่งและค่าส่งมอบที่จะตามมาเหล่านี้ ???
ผู้ขายก็อยากให้ผู้ซื้อมารับสินค้า ณ หน้าโรงงานในประเทศผู้ขายเพื่อลดภาระการขนส่งและการส่งมอบของตนซึ่งก็คือเงื่อนไข EXW หรือ Ex-Works
ขณะที่ผู้ซื้อก็อยากให้ผู้ขายมาส่งมอบสินค้าถึงที่ทำการในประเทศของผู้ซื้อซึ่งก็คือ DDP หรือ (Delivery duty paid) ที่เป็นเงื่อนไขรวมภาระค่าภาษีอากรในประเทศผู้ซื้อไปด้วย
สิ่งที่ชัดเจนคือ หากผู้ขายเป็นผู้เลือก, การเลือกเรือ ท่าเรือนำเข้าในประเทศผู้ซื้อ บริษัทประกันภัย ผู้ให้บริการต่าง ๆ เพื่อการส่งมอบสินค้า ผู้ขายก็ย่อมเป็นผู้ชำระค่าบริการเหล่านั้น
แน่นอน ผู้ขายย่อมเลือกผู้ให้บริการที่มีราคาต่ำที่สุดเพื่อลดต้นทุนของตนเอง
ตรงกันข้าม หากผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้ซื้อก็ย่อมเลือกเรือบรรทุกสินค้าที่ปลอดภัยและมีอัตราค่าธรรมเนียมปลายทางไม่สูง ท่าเรือนำเข้าที่มีเครื่องมือสอดคล้องกับสินค้าและศุลกากรที่คุ้นเคยกับสินค้าของตน และผู้ให้บริการอื่นที่ผู้ซื้อมั่นใจว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด
ผู้ขายเลือกค่าบริการที่ต่ำที่สุด ผู้ซื้อเลือกประสิทธิภาพที่สูงที่สุด
ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายพื้นฐานของ Logistics ‘ราคาที่ต่ำที่สุดและประสิทธิภาพที่สูงที่สุด’
แต่ในความเป็นจริง ราคาที่ต่ำที่สุดอาจไม่ใช่คำตอบของประสิทธิภาพที่สูงที่สุดก็ได้ คำตอบที่ถูกต้องจึงอยู่ที่ลักษณะสินค้า
สินค้าบางประเภทไม่จำเป็นต้องการการบริการ Logistics ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การเลือกผู้ให้บริการที่มี ‘ราคาที่ต่ำที่สุด’ จึงอาจหมายถึง ‘ประสิทธิภาพที่สูงสุด’ ไปด้วยก็ได้
ขณะที่สินค้าอ่อนไหว สินค้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือสินค้าที่อาจเสียหายง่ายอาจจำเป็นต้องใช้การบริการ Logistics ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแต่ไม่ใช่ราคาต่ำที่สุด
‘ราคาที่เหมาะสม’ จึงจะได้ ‘ประสิทธิภาพสูงสุด’ ตามมาด้วยจึงกลายเป็นเป้าหมายที่แท้จริงที่สูงกว่าพื้นฐานของ Logistics
ทั้งหมดนี้จึงเป็นความรู้ และความเข้าใจในเงื่อนไขส่งมอบสินค้า (Term of Delivery) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าระหว่างประเทศในการเลือกจุดส่งมอบสินค้า (Point of Delivery) ที่จะได้ราคาที่ต่ำที่สุด ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และได้ความเหมาะสมกับตัวสินค้า
การเลือกเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า (Term of Delivery) ที่จะส่งผลต่อจุดส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) จึงเป็นการเลือกประสิทธิภาพและราคาการบริการ Logistics ที่เหมาะสมของผู้ซื้อ
แต่การขาดความรู้ ขาดความเข้าใจในเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า (Term of Delivery) ก็อาจทำให้การเลือกจุดส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) ผิดพลาด ส่งผลต่อ ‘ราคาที่เหมาะสม’ และ ‘ประสิทธิภาพสูงสุด’ ของการบริการ Logistics ผิดพลาดไปด้วย
ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าของผู้นำเข้า การขอความเห็นหรือการปรึกษากับผู้ให้บริการ (International Logistics) ที่มีความรู้ ความเข้าใจอย่างแท้จริงจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

กทท. เดินหน้าเชื่อม BIMSTEC เปิดตลาดบังคลาเทศและกัลกัตตา

ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน ที่ผ่านมา คณะผู้แทน กทท. ประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กทท. โดยมีคุณสมชาย เหมทอง ผช. อทร.(บธ) เป็นหัวหน้าคณะฯ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปเยี่ยมคารวะ และเจรจาธุรกิจกับผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือจิตตะกอง (Chittagong Port Authority) ประเทศบังกลาเทศ และการท่าเรือกัลกัตตา (Kolkata Port Trust) ประเทศอินเดีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือระหว่างท่าเรือไทย ภายใต้การดูแลของ กทท. กับท่าเรือดังกล่าว ในลักษณะ Port-to-Port Cooperation เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านต่างๆ อาทิ ด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการท่าเรือ รวมถึงด้านการปฏิบัติการท่าเรือ และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน

ท่าเรือจิตตะกอง เป็นท่าเรือแม่น้ำที่สำคัญที่สุดของบังกลาเทศ มีความลึกหน้าท่า 9.5 เมตร มีท่าบริการตู้สินค้าจำนวน 11 ท่า ท่าบริการสินค้าทั่วจำนวนหกท่า ปัจจุบันสินค้าผ่านท่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้านำเข้าเพื่อการส่งออก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าถ่ายลำไปประเทศอินเดีย เนปาลและภูฐาน ให้บริการตู้สินค้าเป็นหลัก ซึ่งในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโต 11 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา มีตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 2.8 ล้านทีอียูและตั้งเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณตู้สินค้าในปี 2019 เป็น 3.1 ล้านทีอียู ในการนี้ การท่าเรือจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ มีความยินดีที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ กทท. ในลักษณะ Port –to-Port Cooperation ทั้งนี้ได้แต่งตั้งผู้แทนทั้งสองฝ่าย ในการดำเนินการตามกรอบการทำงานของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการลงนามภายในเดือนกันยายน ปี 2019

ท่าเรือกัลกัตตา เป็นท่าเรือที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 140 ปีก่อน เป็นแห่งแรกของประเทศอินเดีย จึงมีความเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่สุดของประเทศ ปัจจุบันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสาม มีความลึกหน้าท่าประมาณ 4.5-6.5 เมตร ในปี 2018 มีตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 8 แสนทีอียู 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้านำเข้าเพื่อการส่งออก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าถ่ายลำไปประเทศเนปาลและภูฐาน ท่าเรือแห่งนี้ถือเป็นประตูการค้าสู่อินเดียภาคตะวันออกและเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าไปยังประเทศเนปาลและประเทศภูฐาน ทั้งนี้ ท่าเรือกัลกัตตามีความยินดีในการพัฒนาความร่วมมือ กับ กทท. ในลักษณะ Port –to-Port Cooperation โดยจะพิจารณาปรับแก้ร่าง MOU และนำเสนอร่างความร่วมมือดังกล่าวต่อกระทรวงการขนส่ง (Ministry of Shipping) ของประเทศอินเดียเพื่อพิจารณา ก่อนแจ้งผลการตอบรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าวกับ กทท. ในโอกาสต่อไปโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ผู้แทน กทท. ได้หารือและเจรจาธุรกิจในลักษณะ Focus Group กับผู้ประกอบการสายเรือและโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย Ocean Network Express (Bangladesh) Ltd.: ONE, PIL (Bangladesh) LTD. และ กลุ่ม Continental Group ซึ่งเป็นตัวแทนเรือให้กับ Samudera Shipping Lines Hyundai และ OOCL รวมทั้งเข้าพบผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอศักยภาพและโครงการพัฒนาของ ทรน. ในการพัฒนาเป็นประตูการค้าของไทย เชื่อมกลุ่มประเทศ BIMSTEC พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับแผนงานด้านการตลาด และโอกาสในการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งระหว่างไทยกับท่าเรือจิตตะกองและท่าเรือกัลกัตตา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดของ กทท. ต่อไป

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com