SNP NEWS
ฉบับที่ 404
มองอย่างหงส์ BY CEO
“ผิดพิกัด”
“พิกัดสินค้าที่คุณสำแดงมาหลายปีผิดนะครับ”
“ผมนำสินค้านี้เข้ามานาน สินค้าก็ขายไปหมดแล้วด้วยต้นทุนภาษีที่เสียไป พิกัดนี้ผมก็ใช้มาหลายปี”
“พิกัดที่คุณสำแดงมีอากรขาเข้า 10% แต่พิกัดที่ถูกต้องอากรขาเข้าต้องเป็น 30% ครับ”
“แล้วนี่ผมต้องทำอย่างไร”
“มันเป็นความผิดกฎหมายศุลกากร มาตรา 27 และ 99 มูลค่าการนำเข้า 5 ปี ประมาณ 100 ล้านบาท อากรขาดไป 20% ก็ประมาณ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนอีกราว 12 ล้านบาท และค่าปรับอากร 2 เท่า ประมาณ 40 ล้านบาท ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังประมาณ 8.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือนอีกราว 7.5 ล้านบาท ค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 เท่า ประมาณ 8.4 ล้านบาท ทั้งหมดแล้วก็ประมาณ 96.3 ล้านบาทครับ”
“อะไรกัน 5 ปีที่ผ่านมา ผมชำระภาษีด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากผมผิดพลาดทำไมไม่แจ้งผมตั้งแต่ต้นเพื่อแก้ไขแต่กลับปล่อยเวลาให้นานถึง 5 ปี และกำไรที่ได้รับ 5 ปี ยังไม่ถึง 10 ล้านบาทเลย ผมจะเอาเงินที่ไหนมาชำระให้ แบบนี้ผมยอมให้ฟ้องล้มละลายดีกว่า”
“ตามใจคุณครับ พวกผมมาตรวจย้อนหลังตามหน้าที่ครับ”
บทสนทนาข้างต้นอ่าน ๆ ดูคล้ายเป็นเรื่องสมมติ แต่ขอโทษมันกลับเป็นเรื่องที่เกิดจริงกับผู้ประกอบการของไทยหลายราย
ใครไม่โดนกับตัวไม่รู้หรอก
ระบบการทำงานของศุลกากรในวันนี้ ด้านหนึ่งพัฒนาให้เกิดความรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่งกลับสะสมความผิดพลาดให้ยาวนาน
ระบบที่มีความรวดเร็ว แต่มีการตรวจย้อนหลัง หรือที่เรียกว่า Post Audit
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ถูกตรวจย้อนหลัง มักประสบปัญหาที่คล้าย ๆ กันคือ การสำแดงพิกัดสินค้าผิดจนเป็นเหตุให้ภาษีอากรขาดแบบสะสมกันหลายปี
สมมติพิกัดสินค้าสำแดงตอนนำเข้ามีอัตราอากร 10% แต่พอมีการตรวจว่าผิด พิกัดสินค้าใหม่สมมติเป็นอัตราอากร 30% โศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้นทันทีตามบทสนทนาสมมติข้างต้น
เพียงแค่อากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการพอจะเข้าใจและพอรับได้
ที่ไหนได้ กลับมีค่าปรับอีก 1-2 เท่า และดอกเบี้ยย้อนหลังอีก 1% ต่อเดือนสำหรับอากรขาเข้า และ 1.5% ต่อเดือนสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปอีก
หากเรื่องถูกปล่อยไว้ 5 ปี ตัวเลขตามเรื่องสมมติข้างต้นย่อมทำให้ผู้ประกอบการหลายรายถึงกับยอมให้ฟ้องล้มละเลยจริง ๆ
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างก็มีคำถามคล้าย ๆ กัน
ทำไมกรมศุลกากรต้องปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ทำไมไม่รีบบอกตั้งแต่แรกว่าพิกัดไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีเสียภาษีอากรให้ถูกต้องอยู่แล้ว
การมาตรวจสำนักงานก็เหมือน ๆ มาให้คำแนะนำผู้ประกอบการให้ชำระภาษีอากรให้ถูกต้อง แต่ที่ไหนได้ การปล่อยเวลาให้เนินนานจนมีดอกเบี้ยและค่าปรับมาก ๆ มันไม่น่าจะเป็นการช่วย อย่างนี้แล้วจะให้ผู้ประกอบการไทยเอาอะไรไปกู้เศรษฐกิจของชาติที่นับวันมีแต่ซบเซา
มันเหมือนการกลั่นแกล้งให้ล้มละลายชัด ๆ แล้วเศรษฐกิจของประเทศก็โดนกระหน่ำอย่างซาดิสก์โดยไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ
การตรวจย้อนหลังก็ไม่เว้นแม้แต่สินค้าที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นอากรตามข้อตกลงการค้าเสรี FTA (Free Trade Agreement)
ตอนนำเข้ามาก็มีการนำใบรับรองเมืองกำเนิด CO (Certificate of Origin) จากประเทศผู้ขายเป็นหลักฐานประกอบ
ใบรับรองเมืองกำเนิดสำแดงพิกัดสินค้าอะไร ผู้ประกอบการนำเข้าก็สำแดงไปตามนั้น ใครจะไปรู้ได้อย่างไรว่าพิกัดที่กำหนดมานั้นถูกหรือผิด
แล้วเป็นอย่างไร ???
วันดีคืนดีพอถูกตรวจค้นย้อนหลัง ปัญหาผิดพิกัดก็ตามมา แล้วข้อหาก็คือ เมื่อพิกัดสินค้าเปลี่ยนไป ใบรับรองเมืองกำเนิดที่สำแดงพิกัดสินค้าตอนนำเข้าก็ย่อมใช้ไม่ได้
สินค้าที่เคยได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า ก็อาจกลับกลายเป็นต้องชำระอากรพร้อมค่าปรับและดอกเบี้ยมหาโหดเข้าไปอีก
แล้วคำถามก็ตามมา
ทำไมตอนนำเข้าจึงไม่บอกตั้งแต่แรกว่าพิกัดสินค้าในใบรับรองเมืองกำเนิดนั้นผิด เมื่อผิดผู้ประกอบการก็สามารถส่งไปแก้ไขได้ หรือชำระภาษีอากรไปก่อนแล้วสงวนสิทธิ์ขอคืนภาษีอากร จากนั้นพอแก้ไขเสร็จก็มาขอคืนภายหลัง
มันง่าย ๆ แต่ทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก ทำไมต้องมาลากเข้าไปในเกมล้มละลาย ???
นานาปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นเนื้อร้ายจากระบบที่พัฒนาขึ้น
ผู้ประกอบการนำเข้ารายใดไม่ประสบไม่ได้หมายความว่าเขาโชคดี แต่มันหมายความว่า ใจเย็น ๆ รออีกสักหน่อยเดี๋ยวก็จะประสบเอง
มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ หนักบ้าง เบาบ้าง ไม่แตกต่างกัน
กฎหมายศุลกากร มาตรา 102 ตรี เขาให้รางวัลนำจับถึง 55% อย่างนี้แล้วใครเป็นเจ้าหน้าที่ก็ยิ่งขยันออกตรวจค้น
มันไม่ได้แกล้งก็เหมือนกับแกล้ง ยิ่งมาตรวจช้าก็เหมือนยิ่งปล่อยให้ความผิดสะสมนาน ๆ ปล่อยให้ความผิดพอกหางหมูเยอะ ๆ จนค่าปรับ ดอกเบี้ย และรางวัลนำจับยิ่งมากขึ้น
บางกรณีตัวแทนออกของเลว ๆ บางคนกลับเป็นผู้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เห็นแก่ได้บางท่านให้ร่วมมือกันเข้าไปตรวจค้นผู้ประกอบการนำเข้าเพื่อเอารางวัลมาแบ่งกัน
แล้วตัวแทนออกของเลว ๆ บางคน บางทีก็มาเรียกเงินนอกระบบจนทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่มีคุณธรรมดี ๆ ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย
เวรกรรมของผู้ประกอบการแท้ ๆ มือหนึ่งต้องสร้างงานให้ลูกน้องอยู่รอด อีกมือก็ต้องคอยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ 2 เท้ากลับถูกผูกมัดให้จมลึกลงไป
ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ สาเหตุส่วนใหญ่ล้วนมาจากการผิดพิกัดไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามทั้งสิ้น เมื่อรู้ปัญหา หากจะป้องกันแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องยาก
วิธีการที่ดีที่สุดคือ การยื่นพิกัดให้ถูกต้องและถูกใจศุลกากรตั้งแต่แรก
แต่ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรให้ได้พิกัดที่ถูกต้องและถูกใจ ???
ปัจจุบัน ระบบพิกัดสินค้าที่ใช้กันเกือบทุกประเทศทั่วโลกเป็นระบบฮาร์โมไนซ์ มันหมายถึง ประเทศสมาชิกทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องใช้พิกัดสินค้าที่เหมือนกัน
พิกัดสินค้าเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากองค์การศุลกากรโลก WCO (World Customs Organization) ก่อน
แต่ทั้ง ๆ ที่ผ่านความเห็นชอบ ปัญหาพิกัดผิดพลาดก็ยังเกิดขึ้น
แม้องค์การศุลกากรโลกจะกำหนดพิกัดสินค้าไว้แต่แรกแล้วแต่ตัวผู้ขาย ผู้ซื้อ หรือศุลกากรในประเทศผู้ขายหรือประเทศผู้ซื้อก็อาจตีความไม่ตรงกัน
นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง
พิกัดสินค้าบางประเภทก็อาจมีความขัดแย้งจริง หรืออาจครุมเครือไม่ชัดเจนจริง
แล้ววันดีคืนดีองค์การศุลกากรโลกก็มีมติประกาศชี้ขาดพิกัดสินค้าให้ชัดเจนขึ้น แต่กว่าจะเป็นที่รับทราบโดยทั่วกันก็เป็นเวลานาน หรืออาจไม่มีผู้ประกอบการใดทราบเลยก็มี
นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
จริง ๆ แล้ว กฎหมายศุลกากรก็มีแนวทางช่วยเหลือไว้ แต่มีน้อยคนทราบ มาตรา 13/1 (3) และมาตรา 13.2 กำหนดย่อ ๆ รวม ๆ กัน ดังนี้
“เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การประเมินค่าภาษี ผู้ที่มีความประสงค์จะนำของเข้ามาในราชอาณาจักรอาจยื่นคำร้องขอต่ออธิบดี เพื่อพิจารณากำหนดราคาของนำเข้า กำหนดถิ่นกำเนิด และตีความพิกัดอัตราศุลกากรล่วงหน้า โดยให้ผู้ร้องขอเสียค่าธรรมเนียมตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
แนวทางบรรเทาความเดือดร้อนในกฎหมายก็มีให้
แต่ก็อย่างว่าไว้ น้อยคนที่จะทราบ แล้วส่วนใหญ่จะเอากันง่าย ๆ คือไปถามพิกัดกันโดยวาจาที่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง
วันนี้ ผู้ประกอบการทุกคนสามารถสอบถามพิกัดล่วงหน้าได้โดยเสียค่าธรรมเนียม จากนั้นกรมศุลกากรก็จะตอบให้มาเป็นลายลักษณ์อักษร
กฎหมายใหม่ให้เก็บค่าธรรมเนียม
มันก็ดี ผูกมัดซึ่งกันและกัน
เมื่อผู้ประกอบการได้หนังสือยืนยันพิกัดตรงกับที่สำแดง อย่างนี้ก็ไม่ต้องกังวลต่อการตรวจย้อนหลังจนนำไปสู่เกมล้มละเลย
หากถามไปแล้ว คำตอบกลับมาว่าผู้ประกอบการเสียภาษีต่ำ อย่างนี้ก็มาแสดงตนขอยื่นชำระภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วนโดยไม่มีค่าปรับ
หรือหากเป็นสินค้าได้รับสิทธิ์ยกเว้นอากรตามข้อตกลงการค้าเสรี ผู้ประกอบการนำเข้าก็เพียงส่งพิกัดที่กรมศุลกากรตีความแล้วไปให้ผู้ขายต้นทาง จากนั้นก็ใช้พิกัดสินค้าที่ได้รับระบุลงในใบรับรองเมืองกำเนิด
เพียงเท่านี้ ความมั่นใจและความปลอดภัยก็เกิดขึ้น
วันนี้ ผู้ประกอบการนำเข้าจะมั่นใจได้อย่างไรว่า พิกัดสินค้าที่ใช้กันมาหลายปีจะไม่ผิดพิกัดแล้วอาจถูกตรวจย้อนหลัง
ไม่ว่าจะมั่นใจอย่างไร การทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการย่อมเป็นหนทางหนีรอดจากเกมล้มละลายได้เป็นอย่างดี
หากวันนี้ไม่รีบทำหนังสือสอบถามพิกัดสินค้า แล้วจะรอให้ถูกตรวจย้อนหลังก่อน มันก็อาจจะสายเกินไป
สิทธิชัย ชวรางกูร
กฎหมายศุลกากรที่เกี่ยวข้องแบบสรุป
มาตรา 10
สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ ให้มีอายุความ 10 ปี
มาตรา 27
การหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือ ฯลฯ ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 99
ผู้ใดกระทำ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำ ยื่นใบขนสินค้า สำแดงอันเป็นเท็จ หรือ ฯลฯ ผู้นั้นมี ความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
The Logistics
พาณิชย์ ศึกษาธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์บนเส้นทาง R9 ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการจัดคณะผู้แทนการค้าการลงทุนด้านธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ศึกษาเส้นทางและสร้างเครือข่ายธุรกิจบนเส้นทาง R9 ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2559 เพื่อใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งสำคัญในปัจจุบัน ที่สามารถเชื่อมโยงประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคอีสานตอนบนกับ สปป.ลาว ผ่านไปยังเวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น ผลไม้
ทั้งนี้ การจัดคณะผู้แทนการค้าการลงทุนด้านธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับสมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมแล้วถึง 34 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจอัญมณี ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง ธุรกิจด้านการบริการซอร์ฟแวร์ ธุรกิจเสื้อผ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกำหนดจัดประชุมหารือร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ณ โรงแรมริเวอร์ ซิตี้ จังหวัดมุกดาหาร
และในวันที่ 1 – 2 เมษายน 2559 คณะผู้แทนฯ มีกำหนดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สปป.ลาว รับฟังการบรรยายสรุปด้านพิธีการศุลกากร สถานการณ์การค้าการลงทุน และที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงการค้าระหว่างไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม – จีน พร้อมการจัด Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการ สปป.ลาว
นอกจากนี้ ยังเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซ-โนของ สปป.ลาว เพื่อรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนการลงทุนแก่นักลงทุนจากรัฐบาล สปป.ลาว สำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเข้าเยี่ยมชมบริษัทสีอุไร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซ-โนแล้วในปัจจุบัน
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับสปป.ลาว ถึง 176,474.54 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2557 ร้อยละ 17 การค้าผ่านแดนปี 2558 ของไทยไปยังเวียดนามและจีน มีมูลค่า 105,850.56 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2557 ร้อยละ 14.61 จากมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนดังกล่าวเป็นการค้าที่ผ่านด่านชายแดนมุกดาหาร 65,415.33 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 23.17 สำหรับเดือนมกราคม ปี 2559 มีมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับ สปป.ลาว และการค้าผ่านแดนผ่านช่องทางด่านชายแดนจังหวัดมุกดาหารแล้ว 6,583.59 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 36.49 จึงถือได้ว่า “มุกดาหาร” เป็นประตูการค้าบนแนวระเบียงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพของไทย
ที่มา : http://www.ryt9.com/s/iq03/2392129
‘เบทาโกร’ ลุยลงทุนนอกไทย ประเดิมเปิด รง.อาหารสัตว์กัมพูชา
เครือเบทาโกร” ปักธงเปิดโรงงานอาหารสัตว์ในกัมพูชาด้วยกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี กรุยทางวางเกมยาวหวังขยายธุรกิจไปยังประเทศกลุ่มเออีซีอื่นๆ…
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเบทาโกร ผู้ทำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารครบวงจร กล่าวว่า เครือเบทาโกรได้จัดให้มีพิธีเปิดโรงงานผลิตอาหารสัตว์เบทาโกร (กัมพูชา) อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งใหม่และแห่งแรกของเครือเบทาโกรที่เปิดดำเนินการในต่างประเทศ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
ทั้งนี้ กัมพูชาถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมเกษตร โดยภาพรวมตลาดอาหารสัตว์ในประเทศกัมพูชามีขนาดตลาดอยู่ที่ประมาณ 600,000 ตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เครือเบทาโกรจึงสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งนี้เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งเพื่อรองรับโครงการผลิตปศุสัตว์ของเครือเบทาโกรในประเทศกัมพูชา ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้าง กระบวนการผลิต ระบบคุณภาพต่างๆ รวมทั้งความใส่ใจในเรื่องอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานเดียวกับธุรกิจอาหารสัตว์เบทาโกรในประเทศไทย ใช้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 216,000 ตันต่อปี ผลิตอาหารสัตว์บกคุณภาพทุกประเภท
นายวสิษฐ กล่าวต่อว่า เบทาโกรมีแผนขยายฐานการผลิตอาหารสัตว์ให้ครอบคลุมและรองรับการขยายตัวของธุรกิจอาหารสัตว์ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเออีซีด้วยการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้าง ปัจจุบันเบทาโกรมีลูกค้าอาหารสัตว์ประมาณ 200 รายทั่วประเทศกัมพูชา ซึ่งมีแผนขยายตลาดด้วยการเพิ่มการขายอาหารสัตว์แบรนด์ใหม่คือ ฟาร์ม ในกลุ่มลูกค้าฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเบทาโกรในกัมพูชาเติบโตได้ เพราะมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีมาอย่างยาวนาน และมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและความต้องการของตลาด
และมีการพัฒนาด้านวิชาการให้ลูกค้าทั้งเกษตรกรและตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตแบบยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เครือเบทาโกรเริ่มทำธุรกิจในประเทศกัมพูชาด้วยการส่งออกอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำจากโรงงานอาหารสัตว์เครือเบทาโกร ประเทศไทย มากว่า 10 ปี โดยอาหารสัตว์แบรนด์เบทาโกรได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตและผลตอบแทนที่ดีให้เกษตรกรกัมพูชาในปี พ.ศ.2551 จดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท เบทาโกร (กัมพูชา) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศกัมพูชา ภายใต้การบริหารงานตามนโยบายเครือเบทาโกร ประเทศไทย ปัจจุบัน มีฟาร์มสุกรพันธุ์และฟาร์มไก่ไข่ระดับปู่-ย่าพันธุ์ และพ่อ-แม่พันธุ์ ฟาร์มโครงการจ้างเลี้ยงสุกรขุน ไก่เนื้อ ไก่ไข่รุ่นและร้านเบทาโกร ช็อปสาขาพนมเปญและสาขาเสียมเรียบ รวมทั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เบทาโกร (กัมพูชา) ซึ่งสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชาวกัมพูชาเป็นจำนวนมาก
ที่มา http://www.thairath.co.th/
คุยข่าวเศรษฐกิจ
สมคิด’ สั่งพาณิชย์เร่งศึกษา TPP เชิงลึก
รองนายกฯ สมคิด สั่งพาณิชย์เร่งศึกษา TPP เชิงลึกเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้สามารถเดินหน้าเจรจากับประเทศสมาชิกได้ในต้นปีหน้า สั่ง พาณิชย์ สนับสนุนธุรกิจ Start up
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังได้ติดตามความคืบหน้าในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบการเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่ให้สถาบันปัญญาภิวัฒน์ศึกษา แล้วเห็นว่ามีประโยชน์ หากไทยเข้าร่วม จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งจัดทำแผนและกรอบเวลาในการดำเนินการ ทั้งการเจรจา และการศึกษาผลกระทบในเชิงลึกของแต่ละภาค ให้มีความชัดเจน เพื่อหามาตรการเยียวยาในภาคที่ได้รับผลกระทบ และให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและติดตามเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย ให้ไทยสามารถเริ่มต้นการเจรจากับประเทศสมาชิก TPP ได้ ในต้นปีหน้า
โดยให้กระทรวงพาณิชย์ทำแผนเสนอให้ นายกรัฐมนตรี พิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. เพื่อเดินหน้าความร่วมมือตามท่าที ที่ไทยได้ส่งสัญญาณมาโดยตลอด
นายสมคิด ยังเปิดเผยว่า ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมธุรกิจ Start up และประชารัฐ ที่จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น โดยการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 1 ไตรมาสที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี แต่ต้องการให้มีความรวดเร็วและชัดเจนมากขึ้นโดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงพาณิชย์เตรียมความพร้อม และพัฒนาการทำงานให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่จะต้องมีส่วนในการสนับสนุนให้ธุรกิจ Start up สามารถเกิด และขยายตัวได้รวดเร็ว ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์เองได้ระบุว่า ภายในเดือนสิงหาคมจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความทันสมัยมากขึ้น
ที่มา http://www.thairath.co.th/