Logistics Corner

ฉบับที่ 471

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“สงคราม”

สินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (Dual-use Items) ให้ถือเป็นสินค้าควบคุมการส่งออก

รวมถึง วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำมาประกอบเป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

ก่อนการส่งสินค้าและวัสดุอุปกรณ์ข้างต้นออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้ส่งออกต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ก่อน

เริ่มให้มีผลบังคับตั้งแต่การส่งออกวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

คนทำธุรกิจไม่ชอบสงคราม

สงครามที่เกิดขึ้นทุกครั้งมักส่งผลต่อธุรกิจอย่างแสนสาหัส แล้วปัจจุบันสงครามเปลี่ยนรูปแบบไปมากจนกลายเป็นการก่อการร้าย อาวุธหลายอย่างถูกสร้างขึ้นจากวัสดุ อุปกรณ์ที่ไม่น่าคิดว่าจะสร้างขึ้นมาได้

แล้วใครจะเชื่อว่าวันนี้ การส่งออกของไทยก็ต้องได้รับผลกระทบจากสงครามไปด้วย

มันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อท่อแป๊บและข้อต่อลักษณะต่าง ๆ ที่ใช้ในการลำเลียงของเหลว ใช้บรรจุสิ่งของ และใช้ในการก่อสร้างได้ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูง

การก่อการร้ายหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาปรากฎให้เห็น

จากนั้นก็มีการนำมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในอดีตที่ 1540 (2004) วันที่ 28 เมษายน 2547 มาตีความ

การตีความส่งผลให้สินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (Dual-use Items) และวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำมาประกอบเป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงถือเป็นสินค้าควบคุม

สหประชาชาติตีความแล้วมีผลในทางปฏิบัติ

ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศจึงออกประกาศในวันที่ 22 กันยายน 2558 เพื่อควบคุมการส่งออก เนื้อหามีดังนี้

“สินค้าที่ใช้ได้สองทาง”

หมายถึง สินค้าที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางการพาณิชย์และการทหารโดยการนำไปใช้ออกแบบ พัฒนา ผลิต ใช้ ดัดแปลง จัดเก็บ ลำเลียง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

“อาวุธที่มีอานุภาภทำลายล้างสูง”

หมายถึง อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และอาวุธอื่นใดซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์จำนวนมากหรือต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง รวมทั้งระบบนำวิถีด้วยจรวด ขีปนาวุธ หรือระบบไร้คนขับอื่น ๆ ของอาวุธดังกล่าว

ประกาศกำหนดให้สินค้าข้างต้น เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ รวมถึงสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัย หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้สุดท้าย หรือผู้ใช้สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

จากนั้นกรมการค้าต่างประเทศก็ทำบัญชีแสดงรายงานสินค้าและพิกัดศุลกากร (Customs Tariff) ยาวเป็นร้อย ๆ หน้า ขอย้ำว่ายาวเป็นร้อย ๆ หน้า ประกาศออกมา

นี่ละที่ทำให้การค้าวุ่นวาย และผู้ส่งออกเดือดร้อน

ใครก็ตามที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าว ต้องไปขึ้นทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2561

มิฉะนั้น สินค้าจะส่งออกไม่ได้

เท่าที่พิจารณาจากรายงานสินค้าเป็นร้อย ๆ หน้า นอกจากจะระบุท่อต่าง ๆ ตามพิกัดที่ 3917.21.00 ถึง 3917.32.90 แล้ว ก็ยังมีสินค้าอื่นอีกมาก เช่น

ผ้ายางรถยนต์ ตามพิกัดที่ 5902.10.11 ถึง 5902.90.90

ผ้าสิ่งทอที่อาบซึม ตามพิกัดที่ 5903.90.00

เสื้อโอเวอร์โค๊ต ตามพิกัดที่ 6201.93.00 6202.93.00

เสื้อผ้า ตามพิกัดที่ 6210.10.11 ถึง 62.10.40.90

รายละเอียดสินค้ามีมากมายจริง ๆ มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

ผู้สนใจสามารถตรวจสอบได้จาก http://www.dft.go.th/th-th/Detail-Law/ArticleId/6033/19-10-2558

หากท่านเป็นผู้ส่งออก ท่านย่อมไม่ชอบสงคราม แต่สงครามกำลังเล่นงานท่าน การตรวจสอบรายการสินค้าของท่านว่าสอดคล้องกับประกาศกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้ สงครามกระทบการค้ามากขึ้น

การปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ท่านควรขึ้นทะเบียนโดยเร็ว หรืออาจปรึกษาตัวแทนของท่านดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพการส่งออกและกิจกรรม Logistics ของท่านเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

อินเดีย พลิกโฉมสู่ระบบภาษี GST

นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี Narendra Modi เข้าดำรงตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2557 อินเดียมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ด้วยการชูนโยบายMake in India ที่มุ่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้าไปตั้งฐานการผลิตในอินเดีย เพื่อยกระดับภาคการผลิตและเพิ่มสัดส่วน GDP ของภาคอุตสาหกรรมเป็น 25% ของ GDP รวม ภายในปี 2565 จาก 17% ในปัจจุบัน ส่งผลให้ในปี 2558 FDI หลั่งไหลเข้าอินเดียเพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากปี 2557 อย่างไรก็ดี อินเดียยังมีปัญหาการจัดเก็บภาษีที่มีความซ้ำซ้อนระหว่างรัฐ ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการทำการค้าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้จากอันดับด้านการจ่ายภาษี (Paying Taxes) ในรายงาน Ease of Doing Business 2017 ของ World Bank อินเดียอยู่อันดับ 172 ค่อนข้างรั้งท้ายจากทั้งหมด 190 ประเทศ

รัฐบาลอินเดียจึงมีแผนนำระบบภาษี GST (Goods and Services Tax) มาใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค. 2560 เพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษี ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าระบบดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตต่อเนื่อง จนแตะระดับ 8% ภายในปี 2564

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนที่จะมีการปฏิรูประบบภาษี การซื้อขายระหว่างรัฐทั้ง 29 รัฐในอินเดีย มีการเรียกเก็บภาษี หลากหลายประเภท อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเข้ารัฐ (Entry Tax) ภาษีขายระหว่างรัฐ (Central Sale Tax) และภาษีผ่านแดน (Octroi Tax) ซึ่งสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนในอินเดียเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้มีภาระค่าขนส่งในระดับสูงจากการที่นักลงทุนจำเป็นต้องเลือกใช้เส้นทางขนส่งบางเส้นทางที่ไม่มีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีระหว่างรัฐในอัตราสูง

เมื่อมีการปฏิรูประบบภาษีในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีทั้งประเทศให้เป็นอัตราเดียวกัน (One Nation, One Tax) ในสินค้ากว่า 500 รายการ และยังเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ลดลงในหลายกลุ่มสินค้า ซึ่งรวมถึงสินค้านำเข้าบางประเภทด้วย

การปฏิรูประบบภาษีของอินเดียจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปอินเดียในหลายกลุ่มสินค้าที่ชัดเจน ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก ส่วนประกอบเครื่องจักรกล และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะได้อานิสงส์จากภาษีนำเข้าที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบของไทยไปอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปอินเดีย มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ธัญพืช นม และเครื่องปรุงรส ที่จะได้รับการยกเว้นหรือเก็บภาษีในอัตราที่ไม่สูงนัก ล่าสุด TCI บริษัทวิจัยด้านการขนส่งของอินเดียคาดว่า ระบบ GST จะทำให้ราคาสินค้าและบริการในอินเดีย ลดลงเฉลี่ยราว 10% ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคซึ่งกว่า 30% เป็นผู้บริโภคระดับกลางที่มีกำลังซื้อตัดสินใจบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น จึงนับเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดียได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การปฏิรูประบบภาษีของอินเดียยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในอินเดีย ท่ามกลางนโยบาย Make in India ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้หลั่งไหลเข้าไปในอินเดียมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (Global Manufacturing Hub) ในอีกไม่ช้า

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 – 19 กรกฎาคม 2560