SNP NEWS

ฉบับที่ 514

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

” C/O กับ FTA “

FTA มีความหมาย 2 นัยะ คือ

Free Trade Area กับ Free Trade Agreement เขตการค้าเสรี หรือข้อตกลงการค้าเสรี

แนวคิดเรื่อง FTA เกิดจากอุปสรรคทางการค้าที่มีมากมายในอดีต

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกในองค์กรการค้าโลก (WTO – World Trade Organization) หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกกันบ่อย

เนื่องจากอุปสรรคทำให้การค้าไม่สะดวก

อุปสรรคที่หนักที่สุดก็คือ อัตราภาษีศุลกากรที่แต่ละประเทศต่างตั้งเป็นกำแพงสกัดสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้าไปสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจมากเกินไป หรือที่เรียกว่า อุปสรรคทางการค้าด้านภาษีอากร (Tariff Barrier)

การหยิบยกแต่ละครั้งก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้เนื่องจากมากประเทศก็มากความ ในที่สุด ประเทศที่พอจะคุยกันรู้เรื่องก็แยกออกมาคุยกันเอง

บางครั้งก็คุยกันแค่ 2 ประเทศที่เรียกว่า ทวิภาคี (Bilateral) หรือคุยกันเป็นกลุ่มย่อยที่เรียกว่า พยุหภาคี (Multilateral)

ผลของการเจรจาทำให้วันนี้ ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ เช่น จีน นิวซีแลนด์ บาห์เรน ชิลี ญี่ปุ่น เปรู สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มอาเชียนด้วยกัน เป็นต้น

ผลเหล่านี้ แม้จะทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศเก็บภาษีศุลกากรเพื่อการนำเข้าน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้ประชาชนซื้อสินค้าได้ถูกลง การค้าขายคล่อง ส่งผลต่อการค้าและระบบเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตขึ้น

ดังนั้น ก่อนการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ผู้นำเข้าของไทยจึงควรตรวจสอบก่อนว่า สินค้าที่จะสั่งซื้อนั้นผลิตจากประเทศที่อยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีหรือไม่ ?

หากใช่ ผู้นำเข้าก็ย่อมมีสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากรเพื่อการนำเข้า
เงื่อนไขเพียง 1 เดียวที่จะทำให้การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากรเพื่อการนำเข้าเป็นไปอย่างสมบูรณ์คือ การพิสูจน์ว่า สินค้าที่กำลังจะนำเข้ามานั้นเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศตามข้อตกลงจริงในแนวทางที่กำหนดขึ้น

แนวทางเพื่อการพิสูจน์ก็มาจาก 2 ด้านคือ ประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง

ประเทศต้นทาง พิสูจน์โดยการขอให้ผู้ผลิต หรื

อผู้ส่งออกยื่นบัญชีการใช้วัตถุดิบที่มีหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ หรือที่เรียกว่า ต้นทุนสินค้า (Cost Statement)

ประการแรก ชื่อวัตถุดิบแสดงเส้นทางการผลิตที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์

ประการที่สอง หากวัตถุดิบซื้อมาก็ให้นำใบเสร็จการซื้อหรือหลักฐานการซื้อมาแสดง แต่หากเป็นการผลิตเองก็ให้แสดงใบประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวข้อง

ต้นทุนสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติแล้วจะมีอายุตามแต่ที่กำหนด เช่น 3 ปี ที่จะนำมาอ้างอิงได้

จากนั้น เมื่อมีการส่งออกจากประเทศต้นทางแต่ละครั้ง ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกต้องมายื่นทำใบรับรองเมืองกำเนิด หรือที่เรียกว่า C/O หรือ COO หรือ Certificate of Origin ตามแบบฟอร์มที่ได้กำหนดไว้ โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้ซื้อนำไปแสดงขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากรในประเทศนำเข้า

นี่คือ ความสำคัญของ C/O ใน FTA

ส่วนเอกสารหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการขอทำใบ C/O ก็คือ Invoice เพื่อการส่งออก และใบตราส่งสินค้า (B/L หรือ Bill of Lading และ AWB หรือ Airway Bill)

ส่วนข้อมูลที่สำคัญสุดคือ พิกัดสินค้า (Customs Tariff) ที่แสดงหมายเลขตรงกันระหว่างประเทศผู้ส่งออกและประเทศผู้นำเข้า

ปัจจุบันพิกัดสินค้าที่ใช้เหมือนกันเกือบทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในหมู่สมาชิก WTO จะเป็นระบบฮาร์โมไนซ์ (Hamonized System)

ชื่อสินค้าเดียวกัน หมายเลขพิกัดก็จะใช้เหมือนกันทั่วโลก พิกัดจะใช้ 6 หลักเหมือนกัน หากประเทศผู้ขายต้นทางใช้พิกัดหมายเลขหนึ่ง ขณะที่ศุลกากรของประเทศผู้ซื้อปลายทางใช้พิกัดอีกหมายเลขหนึ่ง ความแตกต่างนี้จะส่งผลให้สิทธิการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรี FTA ถูกกระทบ หรืออาจถูกยกเลิกทันที

บางครั้งก็เกิดจากชื่อสินค้าที่ประเทศผู้ลิตต้นทางเรียกเฉพาะชื่อหนึ่ง แต่ประเทศปลายทางกลับเรียกเฉพาะอีกชื่อหนึ่งจนเป็นเหตุให้ตีความพิกัดต่างกัน

ปัญหาจึงมักเกิดจากการประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่อยู่คนละประเทศนี่เอง

จากประสบการณ์ของคนทำงานที่พบบ่อย ๆ คือ ผู้ขายมักใช้พิกัดหมายเลขหนึ่งโดยไม่หารือกับผู้ซื้อว่า พิกัดหมายเลขนี้ตรงกับศุลกากรในประเทศผู้ซื้อหรือไม่ ?

เมื่อขาดการประสาน การขอทำใบ C/O โดยใส่หมายเลขพิกัดที่ผู้ขายคิดว่าใช่ แต่กลับไม่สอดคล้องกับประเทศผู้ซื้อจึงเกิดขึ้นบ่อย ๆ และมักนำมาสู่ปัญหาดังกล่าว

ในกรณีนี้ หากเป็นการนำเข้าในประเทศไทย วิธีแก้ไขง่าย ๆ จึงควรเริ่มจากผู้ซื้อของไทยเองโดยการตรวจสอบ ทำหนังสือสอบถาม หรือวิธีการอื่นให้ได้พิกัดหมายเลขที่ศุลกากรของไทยต้องการและแจ้งไปยังผู้ขายขณะสั่งซื้อ

ปัจจุบันกรมศุลกากรของไทยให้ความสะดวกมากในเรื่องการขอจำแนกพิกัดล่วงหน้า โดยการเก็บค่าธรรมเนียมในเรื่องนี้

ผู้ซื้อของไทยอาจกำหนดอย่างรัดกุมลงไปใน L/C (Letter of Credit) เลยก็ได้ว่า เอกสาร C/O ที่ต้องการนั้น ให้ระบุพิกัดหมายเลขอะไร

เพียงเท่านี้ ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าของไทยก็สามารถป้องกันปัญหานี้ได้ล่วงหน้าด้วยตนเอง

ส่วนด้านประเทศปลายทางต้อง การพิสูจน์ว่า สินค้าเป็นไปตามข้อตกลงการค้าเสรีหรือไม่นั้นก็คือ การนำใบ C/O และเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเปิดตรวจกับสินค้าจริง

หากสินค้าตรงกันก็จะทำให้การใช้สิทธิ์ FTA เป็นไปโดยสมบูรณ์

เอกสาร C/O กับ FTA จึงมีความสัมพันธ์กันเช่นนี้

ปัจจุบัน จึงมีผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าของไทยที่เข้าใจ ทำหนังสือสอบถามพิกัดจากกรมศุลกากรมากขึ้น กำหนดหมายเลขพิกัดลงในใบสั่งซื้อ หรือ L/C มากขึ้น หรือแม้แต่พิกัดที่ใช้อยู่ประจำก็ยังอาจทำหนังสือสอบถามเพื่อความมั่นใจก็ยังมีให้เห็น

ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าของไทยที่ละเลยในจุดนี้ แล้ววันหนึ่งก็พบว่าพิกัดไม่ตรงกัน หรือพิกัดมีการตีความแล้วเปลี่ยนแปลงใหม่จนสร้างปัญหาอยู่อีกมากเช่นกัน

อะไรป้องกันได้ก็ป้องกันไว้ก่อน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

กนอ. จัดสรรพื้นที่รับดีมานด์ EEC สู่เขตส่งเสริมอุตฯ คาดเงินลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

​ (​กนอ.​)​

เผย 21 นิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้แต่ละนิคมฯ ในพื้นที่ EEC กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมกันนี้ สำหรับการลงทุน ในพื้นที่ EEC โดย กนอ. ได้จัดเตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการลงทุนของนักลงทุนได้ทันทีใน 14 นิคมฯ รวมพื้นที่กว่า 11,000 ไร่

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีนิคมฯ ในกำกับของ กนอ. จำนวน  31 แห่ง รวมพื้นที่ 113,000 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ มีนิคมฯ ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วจำนวน 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 86,775 ไร่ เป็นพื้นที่ลงทุน 28,666 ไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 70 ของพื้นที่นิคมฯ ในเขต EEC ทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถรองรับวงเงินลงทุนได้ 1.31 ล้านล้านบาท โดย กนอ.ได้จัดสรรพื้นที่ 21 นิคมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประเภทต่างๆ ไว้ดังนี้

นิคมฯ ใน จ.ระยอง จำนวน 8 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ/อุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วน/อุตสาหกรรมไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์/อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร/อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์/อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

นิคมฯ ใน จ.ชลบุรี จำนวน 12 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์/อุตสาหกรรมดิจิตอล/อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต และเมืองวิทยาศาสตร์

นิคมฯ ใน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์/อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อเป็นส่วนประกอบในรถยนต์ และโลจิสติกส์

โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อต้องการให้แต่ละนิคมฯ มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ ให้มีความทันสมัย เช่นจัดทำเขตนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมดิจิทัล ฯลฯ และส่งเสริมให้แต่ละ นิคมฯ จัดทำโครงการเพื่อรองรับการประกอบอุตสาหกรรมที่มีการจัดสรรที่ดิน เพื่อขายหรือเช่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ สำหรับการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ในพื้นที่ EEC  กนอ. ได้จัดเตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการลงทุนของนักลงทุนได้ทันทีใน 14 นิคมฯ กว่า 11,000 ไร่ และในอนาคต กนอ. จะมีการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีกประมาณ 15,000 ไร่ และส่วนพื้นที่ที่เหลือจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนอก กนอ. ที่อยู่ในการส่งเสริมของ BOI หรือ อยู่ในเขต/สวนอุตสาหกรรมซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในระดับต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

ที่มา: http://www.transportjournalnews.com/%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%AD-2/