SNP NEWS

ฉบับที่ 526

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

การศึกษาไทย

‘โลจิสติกส์ไทยขยับขึ้นอันดับ 32 โลกแล้ว’

หัวข้อข่าวข้างต้นปรากฎด้านในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561

เนื้อหาข่าวเป็นการเปิดเผยจากธนาคารโลก หรือ World Bank ที่ประกาศการจัดอันดับความสามารถด้านโลจิสติกส์ปี 2561 จาก 160 ประเทศ

ผลปรากฎว่า ไทยอยู่อันดับที่ 32 ซึ่งเดิมในปี 2559 ไทยอยู่ในอันดับที่ 45 ข้อมูลนี้ถือว่า อันดับความสามารถของไทยดีขึ้น (การจัดอันดับทำทุก 2 ปี)

การที่ไทยมาอยู่ที่อันดับ 32 ซึ่งดีขึ้น 13 อันดับครั้งนี้ ทำให้ความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยในปีนี้มาอยู่เหนือมาเลเซียที่ได้อันดับ 41 ในปี 2561

หมายความว่า ปี 2561 นี้ ไทยกลายเป็นที่ 2 ของเอเชียเป็นรองเพียงสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 1 ของเอเซียและเป็นอันดับ 7 ของโลกเท่านั้น

ในอดีต ความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยในเอเชียจะอยู่อันดับ 3 จะเป็นรองสิงคโปร์อันดับ 1 และมาเลเซียอันดับ 2 ตลอดเวลา

เมื่อพิจารณาคะแนนการวัดก็พบว่า ไทยได้รวม 3.41 คะแนน จาก 5.00 คะแนนเต็มโดยวัดประสิทธิภาพ 6 ด้านที่ไทยผ่านการประเมินซึ่งประกอบด้วย

  1.  ด้านพิธีการสินค้าผ่านแดนและศุลกากร ได้ 3.14 คะแนน
  2.  ด้านการค้า การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน ได้ 3.14 คะแนน
  3.  ด้านความง่ายในการจัดการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ ได้ 3.46 คะแนน
  4.  ด้านความสามารถของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศได้ 3.41 คะแนน
  5.  ด้านความสามารถการติดตามสืบค้นสินค้าระหว่างการขนส่งได้ 3.47 คะแนน
  6.  ด้านการส่งสินค้าถึงที่หมาย ตรงเวลา ได้ 3.81 คะแนน

หากพิจารณาความสามารถทั้งหมดแล้วจะพบว่า 6 ด้านล้วนมาจาก 2 ส่วนที่ประกอบกัน 2 ส่วนคือ ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า Infarstructure และส่วนระบบบริหารจัดการ หรือที่เรียกว่า Management

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ความสามารถของประเทศไทยปี 2561 ดีขึ้น แต่อะไรจะเกิดขึ้น หากหลังปี 2561 โครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการของไทยถอยหลังลง ???

ข่าวในไทยรัฐฉบับเดียวกันโดย คุณลม เปลี่ยนทิศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ที่รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นมีแผนจะสร้างร่วมกัน

โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558

วันนี้ ทางการญี่ปุ่นได้ส่งผลการศึกษามาให้ฝ่ายไทย ผลการศึกษาสรุปช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 270,000 ล้านบาท

ผลการศึกษาของญี่ปุ่นพบว่าผู้โดยสารเฉลี่ยมีเพียงวันละ 10,000 – 20,000 คนเท่านั้น

ถ้าจะให้คุ้มทุน ต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 30,000 คน ถ้าจะให้มีกำไร ต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 40,000 – 50,000 คน

ในข่าวยังให้ข้อมูลว่า หากรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวสร้างเสร็จในอีก 5-6 ปี ข้างหน้า ผลการศึกษาจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 10,000 – 20,000 คน

สรุปว่า ‘ไม่คุ้มค่า’ ต่อการลงทุน

ยิ่งไปกว่านั้น คุณลม เปลี่ยนทิศยังให้ข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 2 เส้นทางในขณะนี้คือ เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ความเร็ว 250 กม. ต่อชั่วโมง เงินลงทุน 179,000 ล้านบาท

เส้นทางอู่ตะเภา – สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. ความเร็ว 250 กม. ต่อชั่วโมง วงเงินลงทุน 220,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 เส้นทางนี้ คุณลม เปลี่ยนทิศได้ให้ข้อมูลและข้อสันนิษฐานว่า ‘อาจจะขาดทุน’

หากการศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นและข้อสันนิษฐานที่คุณลม เปลี่ยนทิศ เขียนถึงข้างต้นเป็นจริงขึ้นมา อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ???

แน่นอน สิ่งนี้สื่อว่า ก่อนที่ไทยคิดจะสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้ง 3 เส้นทางนี้ การศึกษาอาจจะยังไม่ดีพอ หรืออาจไม่ได้ศึกษาเลยก็ได้ประการหนึ่ง

ประการต่อมา หากสุดท้ายรัฐบาลไทยในอนาคตมองไม่เห็นความคุ้มค่าการลงทุนอย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอมาแล้วชะลอโครงการ หรือเปลี่ยน Spec รถไฟ

มันก็ย่อมทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเราด้อยลง

สุดท้าย สิ่งนี้ยังสื่อว่า การศึกษาด้านโลจิสติกส์ของไทยอาจยังไม่ดีพอซึ่งพิจารณาได้จากนักศึกษาที่จบสาขาโลจิสติกส์มาแต่กลับมีน้อยคนที่เข้าใจ และนำความรู้ที่ได้จากการศึกษามาใช้งานได้

แม้วันนี้ ไทยจะได้อันดับความสามารถดีขึ้น และหากวันนี้การศึกษาด้านโลจิสติกส์ยังไม่ดีพอก็เชื่อว่า เยาวชนที่กำลังจะเติบใหญ่ในอนาคตนอกจากจะทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ดีพอแล้ว การบริหารจัดการโลจิสติกส์ก็อาจไม่ดีพอตามไปด้วย

มันจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการทุ่มเทการศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

การศึกษาที่จะนำไปสู่การประเมินความคุ้มค่าของโครงการได้เอง และทำให้การบริหารจัดการโลจิสติกส์ในอนาคตดียิ่งขึ้นเพื่อรักษาอันดับ 2 ที่ได้รับในครั้งนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีครั้งประวัติศาสตร์ – JEFTA

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 นาย Donald Tusk ประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรป นาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และนาย Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) หรือมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า JEFTA (Japan-EU Free Trade Agreement) โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และหลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการให้สัตยาบันของรัฐสภาจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งคาดว่าช่วงปลายเดือนมีนาคม 2562 ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

JEFTA ถือเป็นข้อตกลงทวิภาคีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของสหภาพยุโรป ครอบคลุม 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก ด้วยขนาดตลาดกว่า 600 ล้านคน โดยสหภาพยุโรปเป็นตลาดเดียวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ข้อตกลงการค้าเสรีครั้งประวัติศาสตร์นี้ใช้เวลาเจรจากว่า 4 ปี (เริ่มการเจรจาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556) และได้บรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขจัดและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน อันนำไปสู่การปรับลด/ยกเลิกภาษีสินค้าเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 99 เมื่อข้อตกลงถูกบังคับใช้อย่างสมบูรณ์) เช่น สหภาพยุโรปจะยกเลิกภาษีนำเข้าร้อยละ 10 สำหรับรถยนต์จากญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีนำเข้าสาหรับสินค้าเกษตร เช่น เนยแข็ง ไวน์ เนื้อสัตว์ ฯลฯ และยอมปฏิบัตตามหลักการเกี่ยวกับสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น

นาย Donald Tusk ประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรป กล่าวหลังการลงนามว่า ข้อตกลงนี้คือการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนของทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ในการต่อต้านการกีดกันทางการค้า ส่วนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นาย Shinzo Abe กล่าวว่า นี่คืออีกหนึ่งความสาเร็จทางประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของการค้าเสรี

ด้านนาย Joachim Lang ประธานผู้บริหารสมาพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมัน (Bundesverband der Deutschen Industrie – BDI) กล่าวว่า นี่คือสัญญาณที่เต็มไปด้วยความหวังสาหรับการค้าโลกในช่วงเวลาอันยากเข็ญนี้ เสริมด้วยคำกล่าวของนาย Holger Bingmann ประธานสมาพันธ์การค้าส่ง การค้าต่างประเทศ และภาคบริการ (Bundesverband Großhandel, Außenhandel, Dienstleistungen – BGA) ที่ว่า การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นเป็นสัญญาณที่สำคัญในการต่อต้านนโยบายปกป้องการค้า

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าสาคัญอันดับสองในเอเชีย (อันดับหนึ่งคือ จีน) ของสหภาพยุโรป ในปี 2560 มีมูลค่าการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น 129 พันล้านยูโร โดยสหภาพยุโรปนาเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 69 พันล้านยูโร และส่งออกมูลค่า 60 พันล้านยูโร สินค้าส่งออกสาคัญของทั้งสอง คือ เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องมือการแพทย์

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก อะไหล่รถยนต์ สาเก ชาเขียว และซอสถั่วเหลืองของญี่ปุ่น และการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น เนยแข็ง ของสหภาพยุโรป ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีในทันที

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo Institut และมูลนิธิ Bertelsmann คาดว่าในระยะ 10 ปี หลังจากการบังคับใช้ข้อตกลงอย่างเป็นทางการจะทำให้จีดีพีของญี่ปุ่นขยายตัวอยู่ที่ 8.6 พันล้านยูโรต่อปี (ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23) ส่วนจีดีพีของสหภาพยุโรปจะโตอยู่ที่ 10.7 พันล้านยูโรต่อปี (ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04) ในจำนวนนี้คิดเป็นการขยายตัวของจีดีพีเยอรมนี ประมาณ 3.4 พันล้านยูโรต่อปี (ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.11) อาจกล่าวได้ว่าเยอรมนีเป็นประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปที่จะได้รับอานิสงฆ์จากข้อตกลงเสรีการค้านี้มากที่สุด

ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 10.54 เยอรมนียังคงเป็นตลาดส่งออกหลัก (ขยายตัวร้อยละ 13.18) ทั้งนี้ ภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ยังเติบโตได้ดี อาจสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าจากไทย โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบเพิ่มมากขึ้น

แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก (ในระยะสั้น) จากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นแล้วยังมีจำกัด แต่สงครามการค้ามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในอนาคต หากสงครามการค้ายืดเยื้อและขยายวงกว้าง จะส่งผลลบต่อปริมาณการค้าโลกและการส่งออกของไทย ไทยควรเร่งรัดหาพันธมิตรทางการค้าเพิ่มและผลักดันการทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม ด้านผู้ส่งออกไทยควรเร่งมองหาตลาดการส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งหาโอกาสขยายการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตร่วมกับประเทศในภูมิภาคมากขึ้น

ที่มา:  http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/242549/242549.pdf&title=242549