CEO ARTICLE

PM 2.5

Published on March 26, 2024


Follow Us :

    

เชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 มลพิษโลก คนไทยจะทำอย่างไร ?

ข่าวข้างต้นเป็นปัญหาใหญ่มากของไทย เมื่อรวมกับ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นที่มีปัญหาฝุ่นพิษจึงเป็นเรื่องที่บั่นทอนความสุข สุขภาพ ชีวิต และชื่อเสียงของคนไทย
PM ย่อมาจากคำว่า Particulate Matter หรือ Particle Pollution หมายถึง สิ่งเล็ก ๆ ที่เป็นอนุภาค หรือเป็นภาวะมลพิษที่เกิดจากหน่วยอนุภาคเล็ก ๆ
ส่วน 2.5 เป็นขนาดของหน่วยอนุภาคเล็ก ๆ โดยมีหน่วยเป็นไมโครเมตร
หากไม่รู้ว่า “อนุภาคไมโครเมตร” มีขนาดเล็กแค่ไหน เว็บไซต์ รพ. พญาไทให้เปรียบเทียบขนาดของเส้นผม 1 เส้นที่มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น เส้นผมมีขนาดเฉลี่ย 50-70 ไมโครเมตร
ฝุ่น PM ที่มีขนาด 2.5 ไมโครเมตรจึงมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมราว 20-28 เท่า
ปกติจมูกของมนุษย์มีระบบกรอง (Respiratory Cilia) ดักจับสิ่งแปลกปลอมไม่ว่าจะเป็นขนจมูก การหลั่งน้ำมูก หรือเสมหะเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ แต่เพราะฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก ๆ จนรอดผ่านรูจมูกเข้าไปถึงหลอดลมฝอย
สุดท้ายฝุ่น PM 2.5 ก็ไหลเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย (อ้างอิง เว็บไซต์ รพ. พญาไท)
ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้แก่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจ ส่วนคนมีสุขภาพแข็งแรงก็เพิ่มโอกาสการเป็นโรคปอด โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด
หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศไทยอย่างมาก เว็บไซต์ Greenpeace ให้ข้อมูลว่าอาจทำให้คนไทยมีอายุสั้นลงเฉลี่ย 1.8 ปี โดยคนที่อยู่กรุงเทพฯ ปริมลฑล เชียงใหม่ และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และอาจมีอายุสั้นลงเฉลี่ย 2 ปี
ฝุ่น PM 2.5 จะเกิดก่อนฤดูฝน ช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. ของทุกปีก่อนการเพาะปลูก และจะกระจายไปทั่วโดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือมากที่สุด ส่วนสาเหตุมาจากหลายกรณี เช่น
1. การลักลอบเผาป่าบนภูเขาในภาคเหนือเพื่อใช้ดินเป็นพื้นที่ทำการเกษตร
2. การเผาป่าในประเทศเพื่อนบ้านแล้วฝุ่น PM 2.5 ลอยเข้ามาในประเทศไทย
3. การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และการขุดเจาะที่สร้างฝุ่นละเอียด
4. การผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจายทั่วประเทศ
5. การคมนาคมจากรถยนต์สันดาปที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น
6. กิจกรรมอื่นที่ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก เช่น การสูบบุหรี่ จุดธูป เผากระดาษ ปิ้งย่างอาหาร

สาเหตุของฝุ่น PM 2.5 มาจากในและต่างประเทศ และเป็นข่าวให้รับรู้ไปทั่ว
ส่วนวิธีการแก้ไขในระบอบประชาธิปไตยก็หนีไม่พ้นกฎหมาย ไม่ว่าจะออกใหม่หรือแก้ไขที่เกี่ยวกับการเผา การไม่อุดหนุนสินค้าจากการเผา อากาศสะอาด การใช้รถยนต์เก่า อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ การเข้มงวดจับกุมผู้ทำผิด และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและประเทศเพื่อนบ้านจึงหนีไม่พ้นระบบราชการ
แต่ระบบราชการของไทยเต็มไปด้วยกระทรวง ทบวง กรม และกอง แต่ละหน่วยงานสั่งงานข้ามกันไม่ได้ ผู้ว่าราชการสั่งการกรมป่าไม้ กรมโรงงาน กรมการค้า ทหาร หรือตำรวจไม่ได้ หน่วยงานเหล่านี้ก็สั่งการข้ามกันไปมาไม่ได้ แต่ PM 2.5 กลับเกี่ยวพันหลายหน่วยงาน
คำว่า “ระบบราชการ” และ “หลายหน่วยงาน” นี่เองที่ทำให้เกิดการล่าช้าที่ทั้งรู้ปัญหา ทั้งรู้สาเหตุ และทั้งรู้วิธีการแก้ไข แต่ PM 2.5 กลับยังลอยเป็นปัญหาในอากาศไม่จบสิ้น
ทางเดียวที่จะแก้ไขได้คือ การสร้างบูรณาการให้ทุกหน่วยงานร่วมมือเป็นทีมเดียวกันซึ่งหนีไม่พ้นรัฐบาล และหนีไม่พ้นนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน
PM 2.5 และการแก้ไขจึงวนกลับมาที่รัฐบาลและการเมือง
แต่ในอดีต คนไทยส่วนใหญ่ลงคะแนนเลือกจากมุ้งที่นักการเมืองสังกัด จากผลประโยชน์ที่ได้รับ ไม่พิจารณาประวัติการทำงาน ผลงาน พฤติกรรม ความสามารถ และตัวตนที่แท้จริง
เมื่อได้นักการเมืองที่ด้อยคุณภาพ การบูรณาการจึงเกิดขึ้นได้ยาก
ไม่มีใครตอบได้ว่า ปัจจุบันคนไทยมองคุณภาพนักการเมืองได้กว้างขึ้น และไกลขึ้นอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ พรรคการเมืองลอยเด่นแทนมุ้งการเมือง และปัญหา PM 2.5 ก็ยังลอยเด่นในอากาศเคียงคู่กับนักการเมืองที่ลอยหน้าลอยตาแสดงความคิดเห็น แต่ยังขาดการบูรณาการ
การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว คนไทยจะทำอย่างไรได้นอกจากเร่งรัดนักการเมืองที่เลือกมา หรือส่งเสียงโวยวายทางโซเซียลเร่งรัดรัฐบาลให้บูรณาการ ให้บริหาร และจัดการให้เร็วกว่านี้
การบริหารประเทศช้าไม่ได้ ผิดก็ไม่ได้ ผิดนิดเดียวมีผลต่อชีวิตและความหายนะ ประเทศจึงไม่ใช่สนามทดลองบริหาร หากจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ คนไทยจึงควรพิจารณานักการเมืองที่คุณภาพ ผลงาน และความสามารถเพื่อเข้ามาบูรณาการระบบราชการให้ทำงานรับใช้ประชาชน
ประชาชนเลือกนักการเมืองอย่างไรก็จะได้รัฐบาลอย่างนั้น และได้รับผล PM 2.5 อย่างนั้นไปด้วย.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : March 26, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ในช่วงเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ 2567 ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินมีจำนวนเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทะลุ 2.1 เเสนตู้มาตรฐาน

ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์การค้าทางเรือของตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งถ่านหินและข้าวไปยังพื้นที่ตอนบนของจีน และเป็นเส้นทางการค้าทางเรือที่สำคัญกับต่างประเทศ โดยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินมีจำนวนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทะลุ 2.1 แสนตู้มาตรฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ปัจจุบัน ท่าเรือเซี่ยเหมินมีการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งภายในจีนทั้งหมด 26 สาย และกับต่างประเทศกว่า 100 สาย โดยที่ผ่านมาท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินได้เร่งพัฒนาประสิทธิภาพท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายสินค้าด้วยระบบดิจิทัล ปรับปรุงมาตรฐานท่าเทียบเรือของเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยเพิ่มจำนวนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงยังช่วยย่นระยะเวลาของเรือที่จอดเทียบท่าด้วย

วันที่ 4 มีนาคม 2567 ท่าเรือซินไฮ้เซี่ยเหมิน มีจำนวนเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เทียบท่า 3 ลำ และมีการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์รวม 6.8 พันตู้มาตรฐาน

ทั้งนี้ การท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินตั้งเป้าหมายการยกระดับศักยภาพท่าเรือของเมืองเซี่ยเหมิน เพิ่มจำนวนเรือการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อผลักดันให้ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินเป็นศูนย์กลางในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย ภายใต้นโยบายสนับสนุนการพัฒนาการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของเมืองเซี่ยเหมิน โดยมีระยะเวลาแผนปฎิบัติการช่วงปี 2565-2567

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.