SNP NEWS

ฉบับที่ 534

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

Switched B/L

“สั่งซื้อสินค้าจากจีนแล้วส่งตรงไปจำหน่ายญี่ปุ่นไม่แวะไทย”

ทำอย่างไรให้มี Logistics Cost ต่ำที่สุด และลูกค้าญี่ปุ่นไม่ทราบต้นทางของสินค้า ???

นักธุรกิจที่สามารถทำตนให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า มักเจอคำถามลักษณะเช่นนี้ไม่มากก็น้อย

ตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยคือ ผู้ประกอบการไทยต้องการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่ 2 เช่น จีน แล้วนำไปขายยังประเทศที่ 3 เช่น ญี่ปุ่น

วิธีการพื้น ๆ ที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดคือ สั่งซื้อและนำสินค้าจากประเทศที่ 2 เอามาเก็บไว้ในประเทศไทยก่อน

จากนั้นค่อยส่งไปจำหน่ายยังประเทศที่ 3 ในภายหลัง

ด้วยวิธีพื้น ๆ นี้ ผู้ประกอบการยังมีทางเลือกอีก 2 ทางคือ ชำระภาษีอากรที่ประเทศไทยเพื่อนำมาเก็บไว้ในคลังสินค้าของตน อาจมีการยื่นคำร้องขออนุมัติเปลี่ยนสลากหรือหีบห่อ จากนั้นค่อยส่งไปจำหน่ายยังประเทศที่ 3 แล้วขอคืนภาษีอากรที่ชำระไปแล้วตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร 2560

วิธีนี้ ผู้ประกอบการจะได้เงินคืนอากรขาเข้าตามปริมาณที่ส่งออกไปประเทศที่ 3 ยกเว้นส่วนที่เก็บเป็นค่าธรรมเนียมศุลกากรไม่เกิน 1,000 บาท
อีกวิธีหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการไม่ชำระภาษีอากรขาเข้าที่ประเทศไทยแต่เก็บไว้ที่คลังสินค้า ณ ท่าเรือนำเข้า จากนั้นก็ทำพิธีการนำเข้าและส่งออกไปประเทศที่ 3 พร้อม ๆ กัน

วิธีนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนฉลากหรือหีบห่อในเขตท่าเรือส่งออกได้ด้วย

กฎหมายยังมีวิธีการอื่นอีก เช่น การนำเข้ามาเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนที่มีหลากหลายประเภทในประเทศไทยโดยไม่ต้องชำระภาษีอากรขาเข้า และเปลี่ยนฉลากหรือหีบห่อสินค้า

จากนั้นก็ส่งออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนไปจำหน่าย

วิธีการทั้งหมดนี้เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการ แต่มิได้ตอบโจทน์การมี Logistics Cost ต่ำที่สุดได้ ทั้งนี้เพราะค่าระวางเรือ ค่าเคลื่อนย้าย ค่าเก็บรักษา ค่าดำเนินการ และอื่น ๆ ตามลักษณะงานที่ต้องชำระถึง 2 ต่อ ซึ่งแน่นอนมันเป็น Logistics Cost ที่จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

การนำสินค้าจากประเทศที่ 2 ส่งไปจำหน่ายยังประเทศที่ 3 ให้มี Logistics Cost ต่ำที่สุดและมิให้ผู้ซื้อประเทศที่ 3 รู้ถึงต้นทางและนั้นจึงน่าจะมีวิธีเดียวคือ การสั่งผู้ขายในประเทศที่ 2 ให้จัดระวางเรือและขนส่งสินค้าโดยตรงไปยังประเทศที่ 3 ด้วยคำสั่งพิเศษในเรื่องการบรรจุหีบห่อ  เครื่องหมาย และเลขหมายด้านข้างหีบห่อนั่นเอง

แต่วิธีนี้ หากผู้ประกอบการไม่เข้าใจระบบงานก็อาจทำให้ผู้ส่งในประเทศที่ 2 ต้นทางทราบผู้รับในประเทศที่ 3 ปลายทาง

ในทำนองเดียวกัน ผู้รับในประเทศที่ 3 ก็ย่อมทราบถึงประเทศต้นทางที่ 2 ไม่ต่างกัน

ระบบงานที่ว่านี้คือ การสลับร่าง B/L หรือที่เรียกในวงการผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศว่า Switched B/L

B/L มีชื่อเต็มว่า Bills of Lading คำในภาษาไทยเรียกว่า “ใบตราส่งสินค้า”

B/L เป็นเอกสารแสดงสิทธิ์สินค้าที่ตัวแทนขนส่ง (เรือ) ออกให้แก่ผู้ส่งออก ใน B/L จึงต้องมีข้อมูลหลัก ๆ เช่น ชื่อสินค้า จำนวน น้ำหนัก ปริมาตร ผู้ส่ง ผู้รับ ท่าเรือส่งออกต้นทาง และท่าเรือนำเข้าปลายทาง เป็นต้น

B/L ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ B/L ที่ออกโดยผู้ประกอบการขนส่งสินค้า (เรือ) หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายโดยตรง B/L ชนิดนี้เรียกว่า Ocean B/L หรือ OB/L

ส่วน B/L อีกประเภทหนึ่งออกโดยผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ Freight Forwarder ซึ่งมิใช่เรือ หรือตัวแทนเรือโดยตรง

B/L ชนิดนี้เรียกว่า Forwarder B/L หรือ House B/L หรือ HB/L

การสลับร่าง B/L หรือ Switched B/L สามารถทำได้ด้วย HB/L เท่านั้นโดยตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder) ในประเทศที่ 2 เมื่อรับสินค้าแล้วก็จะออก HB/L ให้แก่ผู้ส่งออกประเทศที่ 2

HB/L นี้จะระบุข้อมูลปลายทางคือ ประเทศไทย ผู้รับคือผู้ประกอบการไทย และข้อมูลอื่นให้สอดคล้อง

ในขณะที่สินค้าจริงกลับถูกส่งไปยังประเทศที่ 3 หรือประเทศผู้ซื้อปลายทาง

เมื่อผู้ส่งออกประเทศที่ 2 ได้รับ HB/L นี้แล้วก็สามารถนำไปขึ้นเงินค่าสินค้าตาม L/C หรือเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการไทยแล้วส่ง HB/L ดังกล่าวมายังผู้ประกอบการไทย

เมื่อผู้ประกอบการไทยได้รับ HB/L จากผู้ส่งออกประเทศที่ 2 แล้วก็สามารถนำ HB/L ดังกล่าวมายังสำนักงานตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder) ในประเทศไทยเพื่อขอเปลี่ยน  HB/L เป็นฉบับใหม่

HB/L ฉบับที่สลับร่างใหม่นี้จะระบุประเทศที่ 3 เป็นประเทศปลายทาง ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ส่งสินค้า และข้อมูลอื่นให้สอดคล้อง

ระบบงานที่กล่าวถึงนี้คือ การสลับร่าง B/L หรือ Switched B/L

ด้วย Switched B/L นี้ ผู้รับปลายทางในประเทศที่ 3 ก็จะไม่ทราบต้นทางสินค้า เว้นแต่จะตรวจสอบโดยวิธีอื่นซึ่งก็ยังมีวิธีป้องกันได้หลากหลายเช่นกัน

ทั้งหมดนี้คือความร่วมมือระหว่างตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder) ที่มีสำนักงานตัวแทนกระจายในประเทศต่าง ๆ และให้ประโยชน์ผู้ประกอบการในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างประเทศที่สามารถลด Logistics Cost ได้ต่ำกว่าวิธีอื่น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

MCC, Sealand และ Seago Line เปลี่ยนชื่อเป็น Sealand – a Maersk Company

เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร บริษัทระดับภูมิภาคในเครือ MAERSK ซึ่งได้แก่ บริษัท MCC, SEALAND และ SEAGO LINE ประกาศว่า ทั้งสามบริษัทจะดำเนินงานภายใต้ชื่อเดียว คือ SEALAND – A MAERSK COMPANY

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทดังกล่าว จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2018 เป็นต้นไป โดยผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลในระดับภูมิภาคของ Seago Line, MCC และ Sealand ซึ่งอยู่ในเครือของ A.P. Moller-Maersk จะดำเนินงานภายใต้ชื่อเดียวกันคือ Sealand – a Maersk Company โดยจุดประสงค์ในการเปลี่ยนชื่อครั้งใหม่ เพื่อเป็นการลดความซับซ้อนให้กับลูกค้า นำเสนอชื่อองค์กรที่จดจำได้ง่ายมากขึ้น เสริมสร้างความสามารถในการเข้าถึงของบริการ และเสริมสร้างความสามัคคีขององค์กรในแง่ภาพลักษณ์ทางการตลาดและการลงทุนให้อยู่ภายใต้ชื่อเดียวกันและใช้แพลตฟอร์มดิจิตอลร่วมกัน ทั้งนี้ Sealand – a Maersk Company จะดำเนินงานอิสระจาก Maersk และทั้งสามองค์กรจะดำเนินการเป็นอิสระจากกันและกัน ทั้งสามบริษัทจะปฏิบัติการภายใต้ชื่อ Sealand Asia, Sealand Europe & Med และ Sealand Americas – a Maersk Company

Mr. Bo Wegener ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MCC Transport และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sealand Asia – a Maersk Company กล่าวว่า “ลูกค้าของเราจะยังสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมผู้ให้บริการที่มีความทุ่มเท มีประสบการณ์ และมีความมุ่งมั่นเช่นเดิม ทั้งนี้ เรามุ่งมั่นรับฟังผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องและเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรร่วมกัน”

Mr. Wegener กล่าวเสริมว่า “การมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในการเสริมสร้างการเชื่อมต่อกันและกันและบนโลกดิจิทัล การใช้ชื่อแบรนด์ชื่อเดียวร่วมกันช่วยสร้างความชัดเจนให้กับลูกค้าและสร้างความแตกต่างให้กับบริการขนส่งสินค้าทางทะเลในเส้นทางระยะสั้นที่ Maersk ให้บริการ” 

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/