SNP NEWS

ฉบับที่ 535

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

สูตรการผลิต

ประเทศไทยมีสินค้าส่งออกหลายประเภทที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ
เมื่อวัตถุดิบนำเข้ามิได้บริโภคภายในประเทศ การทำให้วัตถุดิบนำเข้าปลอดจากภาษีอากรจึงเป็นแนวคิดทำให้ต้นทุนสินค้าส่งออกต่ำลง
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนผลิตในประเทศไทย สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย
หากวัตถุดิบนำเข้าต้องชำระภาษีอากรขณะนำเข้า เมื่อส่งออกกฎหมายก็ให้ได้รับการคืนภาษีอากรตามมาตรา 29 แห่ง พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 (มาตรา 19 ทวิ เดิม)
ขณะเดียวกัน การทำให้วัตถุดิบนำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีอากรทันทีขณะนำเข้า ก็เป็นวิธีการจูงใจอีกวิธีหนึ่ง เช่น การนำเข้าภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน B.O.I. หรือนำเข้ามาผลิตภายใต้หลักเกณฑ์คลังสินค้าทัณฑ์ประเภทโรงผลิต เป็นต้น
หัวใจสำคัญของการพิสูจน์ว่า สินค้าส่งออกนั้นผลิตจากวัตถุดิบนำเข้าคือ “สูตรการผลิต”
เมื่อใดที่สูตรการผลิตมีปัญหา เมื่อนั้นก็อาจจะส่งผลให้ไม่ได้รับการคืนภาษีอากร หรืออาจต้องชำระภาษีอากรทั้ง ๆ ที่ได้รับยกเว้นไปแล้วขณะนำเข้าพร้อมเบี้ยปรับอีกส่วนหนึ่ง
สูตรการผลิตจึงเป็นหัวใจสำคัญจริง ๆ
ในสูตรการผลิต จะเป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าส่งออกกับสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้า
สินค้าส่งออก 1 หน่วยใช้วัตถุดิบนำเข้าอะไรบ้าง และวัตถุดิบแต่ละรายการใช้ในปริมาณเท่าไร
เมื่อสูตรการผลิตได้รับการอนุมัติ และสินค้าส่งออกได้ผ่านการรับรองจากกรมศุลกากรว่า การส่งออกสำเร็จแล้ว การคำนวณวัตถุดิบที่ถูกใช้ไปในการผลิตก็จะเกิดขึ้น
ปัญหาที่มักเกิดจากสูตรการผลิตมีหลัก ๆ มีดังนี้
ก. ชื่อวัตถุดิบนำเข้าที่ระบุในสูตรการผลิตไม่สอดคล้องกับชื่อวัตถุดิบที่สำแดงขณะนำเข้า บางครั้งก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ข. ชื่อสินค้าส่งออกที่ระบุในสูตรการผลิตไม่สอดคล้องกับชื่อที่สำแดงขณะส่งออก บางครั้งก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน
ค. ส่วนสูญเสียในการผลิตขาดความสัมพันธ์กัน หลายกรณีที่นำเอาส่วนสูญเสียนอกการผลิตมาร่วมในกระบวนการผลิต
ต่าง ๆ นานาของปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมากในอดีต และปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ข้อแนะนำดังต่อไปนี้จึงเป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดจากสูตรการผลิต
1. การสั่งซื้อวัตถุดิบทุกครั้งควรใช้ชื่อวัตถุดิบที่เป็นชื่อเดียวกับที่ระบุให้สูตรการผลิต หากวัตถุดิบมีหลายรายการ การใช้รหัสกำกับก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกทางหนึ่ง
2. การเสนอขายสินค้าส่งออกทุกครั้งควรชื่อสินค้าให้ตรงกับชื่อที่ระบุในสูตรการผลิต ในกรณีที่สินค้ามีหลายรุ่น ก็ควรมี Model Number หรือรหัสเพื่ออำนวยความสะดวก
3. การยื่นสูตรการผลิตพร้อมตัวอย่างสินค้าควรยื่นแต่เนิ่น ๆ หากเป็นไปได้ ควรให้สูตรการผลิตได้รับการอนุมัติก่อนการส่งออก การได้รับผ่อนผันให้ส่งออกก่อนสูตรการผลิตจะได้รับการอนุมัติ แม้จะเป็นความสะดวกที่ได้รับ แต่เมื่อเกิดปัญหา สินค้าส่งออกไปแล้วก็ไม่สามารถนำกลับเข้ามาพิสูจน์ได้
ในกรณีที่จะขอผ่อนผันการส่งออกในขณะที่สูตรการผลิตยังไม่ได้รับการอนุมัติ ผู้ประกอบการจึงต้องมั่นใจว่า สูตรการผลิตจะไม่เป็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น
มิฉะนั้นแล้ว สินค้าส่งออกจะมีภาระภาษีอากรของวัตถุดิบนำเข้ารวมเข้าไปจนทำให้ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นก็ได้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

CMA CGM เปิดตัว CLIMACTIVE เทคโนโลยีเพื่อการขนส่งสินค้าประเภทผักและผลไม้ที่มีความอ่อนไหวสูง
สายการเดินเรือ CMA CGM เปิดตัว CLIMACTIVE เทคโนโลยีเพื่อการขนส่งสินค้าประเภทผักและผลไม้ที่มีความอ่อนไหวสูง ที่ได้รับการติดตั้งด้วยระบบควบคุมบรรยากาศภายในตู้สินค้าแบบ ACTIVE ภายในงาน ASIA FRUIT LOGISTICA 2018
โดย CLIMACTIVE เป็นโซลูชั่นล่าสุดที่ใช้ในการรักษาความสดของสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง ด้วยการลดปริมาณก๊าซออกซิเจนภายในตู้ ผ่านการติดตั้งอุปกรณ์ DAIKIN Active CA ภายในตู้สินค้า

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาอุณหภูมิ ความชื้น และความสมดุลระหว่างก๊าซแต่ละชนิดตามที่กำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำ ทำให้การรักษาคุณภาพสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงเป็นไปอย่างเหมาะสม ดังนั้น โซลูชั่นนี้จึงเหมาะสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าสูง สินค้าที่มีระยะเวลาในการขนย้ายนาน รวมถึงสินค้าประเภทออร์แกนิค

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท CMA CGM เป็นสายการเดินเรือขนส่งสินค้าที่มีกองตู้สินค้าเย็นมากที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก ด้วยปริมาณตู้สินค้าเย็นจำนวน 385,200 ทีอียู และปลั๊กสำหรับตู้สินค้าเย็นจำนวน 288,000 จุด จึงทำให้สายการเดินเรือฯ สามารถนำเสนอโซลูชั่นการขนส่งสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านตู้สินค้าเย็นของสายการเดินเรือฯ ในกว่า 160 ประเทศ

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/