SNP NEWS

ฉบับที่ 543

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ราคาศุลกากร

ความสามารถในการต่อรองเป็นตัวบ่งชี้ว่า ทำไมสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศของผู้นำเข้าหลายรายจึงมีราคาต่างกัน

ในทางธุรกิจ ความสามารถที่เหนือกว่าทำให้ต่อรองราคาสินค้าได้ต่ำกว่าผู้อื่น

แต่ในทางศุลกากร สินค้าเหมือนกันทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีราคานำเข้าต่างกันอย่างไร สินค้าที่ราคาต่างกันนั้นก็ต้องชำระภาษีอากรเท่ากัน

ความสามารถในการต่อรองทางธุรกิจไม่สามารถนำมาใช้ในทางศุลกากรได้ ราคาศุลกากรจึงแตกต่างจากราคานำเข้าในหลายกรณี

การกำหนด ‘ราคาศุลกากร’ (Customs Value) ต้องมีกฎหมายรองรับ พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 16 จึงกำหนดให้ราคาศุลกากรกรณีนำเข้าเพื่อจัดเก็บอากรตามราคาเป็นไปตามข้อตกลง GATT หรือ General Agreement on Tariff and Trade ซึ่งมีลักเกณฑ์เป็นลำดับขั้น  ดังนี้

(ก) ราคาซื้อขายของที่นำเข้า (Transaction Value)

หมายถึง ราคาที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าราคานั้นเป็นราคาซื้อขายที่แท้จริง

(ข) ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน (Transaction Value of Identical Goods)

   เมื่อไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ กรมศุลกากรก็จะนำราคาของการซื้อขายสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ เช่น ตัวสินค้า ประเทศกำเนิด ปริมาณ และอื่น ๆ มาเป็นราคาศุลกากร

(ค) ราคาซื้อขายที่คล้ายกัน (Transaction value of Similar Goods)

เมื่อไม่มีราคาของที่เหมือนกันทุกประการ กรมศุลกากรก็จะนำราคาของที่เหมือนกันบางประการ หรือของที่มีลักษณะคล้ายกันมาเป็นราคาศุลกากร

(ง) ราคาหักทอน (Deductive Value)

เมื่อไม่มีราคาที่คล้ายกัน กรมศุลกากรก็จะนำราคาขายปลีกที่หาได้ในประเทศไทยมาหักทอนค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง และส่วนที่คำนวณเป็นกำไรออกไปจนเหลือเป็นราคาที่ควรเป็นราคานำเข้า และใช้ราคาหักทอนนี้เป็นราคาศุลกากร

(จ) ราคาคำนวณ (Computed Value)

เมื่อไม่สามารถหาราคาหักทอนได้ กรมศุลกากรก็จะใช้วิธีการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศต้นทาง รวมค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง กำไร และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องลงไปจนเป็นราคาของที่มาถึงประเทศไทย และใช้ราคาคำนวณนี้เป็นราคาศุลกากร

(ฉ) ราคาย้อนกลับ (Fall Back Value)

เมื่อใช้วิธีการตามลำดับ (ก) ถึง (จ) แล้วยังไม่ได้ราคาศุลกากร กรมศุลกากรก็จะใช้วิธีการเดิมย้อนกลับมาหาราคาอีกครั้งจนกว่าจะได้มูลค่าสินค้ามาเป็นราคาศุลกากร

วิธีการหา ‘ราคาศุลกากร’ กำหนดเป็นกฎหมายที่ผู้นำเข้าและกรมศุลกากรต้องปฏิบัติตาม แต่วิธีดังกล่าวเป็นการใช้ตามลำดับขั้นที่อาจเกิดความล่าช้าและความเสียหายได้

บางกรณี กว่าจะได้ราคาศุลกากรมาคำนวณค่าภาษีอากร ผู้นำเข้าเคยพบว่า ราคาสินค้าเมื่อรวมค่าภาษีอากรตามกฎหมายนั้นสูงเกินไป หากขายก็ขาดทุน

แบบนี้ กรมศุลกากรก็อาจไม่ใช่หน่วยงานบริการตามนโยบายรัฐบาล

ดังนั้น กรมศุลกากรจึงออกประกาศที่ 17/2561 ลงวันที่ 23 มกราคม 2561 เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอทราบ ‘ราคาศุลกากร’ ล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

    1.   เอกสารประกอบการยื่นที่มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัย เช่น

1.1 สัญญาซื้อขาย (Sale Contract)

1.2 เอกสารการให้สิทธิของสินค้าที่นำเข้า (License Agreement)

1.3 เอกสารการแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจำหน่าย (Brokerage assignment)

1.4 บัญชีราคาสินค้า (Invoice)

1.5 บัญชีราคาสินค้าล่วงหน้า (Proforma Invoice)

1.6 ใบสั่งซื้อ (Purchase Order)

1.7 เลตเตอร์ ออฟ เครดิต (Letter of Credit)

1.8 เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

    1. กรมศุลกากรจะไม่รับพิจารณากำหนด ‘ราคาศุลกากร’ ล่วงหน้าสำหรับธุรกรรมการค้าของสินค้าประเภทเดียวกัน และ/หรือ มีลักษณะเดียวกันกับของที่

2.1 อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ราคาศุลกากร

2.2 อยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานภายในกรมศุลกากร

2.3 อยู่ในกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล

2.4 เป็นธุรกรรมการค้าที่สมมติขึ้น

2.5 เป็นธุรกรรมการค้าที่เกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล

    1. ค่าธรรมเนียมในการวินิจฉัยให้ชำระตามกฎกระทรวงคือ 2,000 บาทต่อฉบับ
    1. ผลของการกำหนด ‘ราคาศุลกากร’ ล่วงหน้า

4.1 ใช้อ้างอิงในการสำแดงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาศุลกากรของสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

4.2 พนักงานศุลกากรต้องถือปฎิบัติตามหนังสือแจ้งผลการกำหนดราคาศุลกากรล่วงหน้า

4.3 ใช้บังคับภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือแจ้งผลการกำหนดราคาศุลกากรล่วงหน้า

4.4 ใช้เฉพาะผู้ยื่นคำร้องสำหรับของที่มีธุรกรรมการค้าของสินค้าที่เหมือนกันทุกประการกับของที่ได้มีการยื่นคำร้องขอให้มีการกำหนดราคาศุลกากรล่วงหน้าไว้เท่านั้น

‘ราคาศุลกากร’ ที่แตกต่างจากราคานำเข้าสร้างความเสียหายต่อผู้นำเข้ามาช้านาน และจะสร้างความเสียหายต่อไป หากผู้นำเข้าไม่ทราบแนวทางทางกฎหมายดังกล่าว

ผู้นำเข้าใดที่มองว่าราคานำเข้าของตนมีโอกาสถูก ‘ราคาศุลกากร’ ทำให้ชำระภาษีอากรเพิ่มขึ้น จึงควรใช้ประโยชน์จากประกาศกรมศุลกากรที่ 17/2561 ในการแก้ไข

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

หมายเหตุ:  ประเทศไทย ใช้ราคาศุลกากรที่เรียกว่า “ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation)” ขององค์การค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในการกำหนดราคาสินค้าขาเข้า

LOGISTICS

กทท. ได้รับอนุมัติงบลงทุนปีงบประมาณ 2019 วงเงินกว่า 7,300 ล้านบาท

ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2019 กทท. ได้รับอนุมัติงบลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 7,329.438 ล้านบาท ซึ่ง กทท. มีกรอบการเบิกจ่ายเท่ากับ 1,923.383 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา เห็นชอบกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2019 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ พร้อมทั้งกำหนดกรอบการเบิกจ่าย งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุนคิดเป็น 1,827.214 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดของงบลงทุนตามแผนปฏิบัติการ ปีงบประมาณ 2019 ของ กทท. มีรายการลงทุนที่สำคัญ กล่าวคือ ในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ประเภทเครื่องจักรอุปกรณ์ ได้แก่ งานต่อเรือสำรวจพร้อมอุปกรณ์การสำรวจ จำนวน 2 ลำ (ทดแทนเรือสำรวจ 2 และ 3) ซื้อรถยกตู้สินค้าหนัก ขนาดยกไม่น้อยกว่า 40 เมตริกตัน แบบจัดเรียงได้ 3 แถว จำนวน 2 คัน (ทดแทน) ซื้อพร้อมติดตั้งเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ และเครื่องสำรองไฟฟ้า ซื้อพร้อมติดตั้งระบบจัดเก็บข้อมูล และประเภทสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ งานพัฒนาพื้นที่เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการบรรจุตู้สินค้าเพื่อการส่งออก งานสร้างศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของท่าเรือกรุงเทพ งานสร้างอาคารสำนักงานกองบริการ (ปากน้ำ) และอาคารหมวดพัสดุคลังสินค้าที่ 1 ฯลฯ และส่วนของท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ประเภทเครื่องจักรอุปกรณ์ ได้แก่ งานจ้างเหมาต่อเรือลากจูงขนาดกำลังฉุดไม่น้อยกว่า 50 เมตริกตัน จำนวน 2 ลำ (เพิ่มเติม) (ทดแทนเรือท่าเรือ 204, 205) ซื้อพร้อมติดตั้งโคมไฟถนนแบบ LED และปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างโครงการท่าเทียบเรือขั้นที่ 2 ทลฉ. (ทดแทน) ซื้อพร้อมติดตั้งตู้ตัดตอนไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าย่อยที่ 2 (ทดแทน) ฯลฯ และประเภทสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 115 เควี (ทดแทน) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ ทลฉ. โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันแผนการลงทุนดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้ กทท. ได้ดำเนินการจัดซื้อ ก่อสร้างตามแผนงานให้เป็นไปตามแผนการลงทุนที่กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถผูกพันสัญญาและเบิกจ่ายเงินได้ทันภายในปี 2019 และเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามกรอบการเบิกจ่ายที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของ กทท. เนื่องจากเป็นการลงทุนโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการ

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9610000115769