SNP NEWS

ฉบับที่ 456

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ช่วยเกษตรกร

เกาหลีเอาจริง เริ่มใช้ “หลอดข้าว” แทนหลอดพลาสติกแล้ว

“สตาร์บัคส์” ประกาศเลิกใช้หลอดพลาสติกทุกสาขาทั่วโลก ภายในปี 2020

บ๊ายบายพลาสติก!  Indonesians ได้คิดค้นถุงพลาสติคย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว และผลิตจากมันสำปะหลังได้สุดยอด นวัตกรรมใหม่จริง ๆ

‘อียู’ อนุมัติรายละเอียดกฎหมายแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียว คาดบังคับใช้ 2021

ช่วงปลายปี 2561 ข่าวการประกาศเลิกใช้พลาสติกค่อย ๆ กระจายขึ้นทั่วโลกด้วยการใช้พืชทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิตแทนที่ (http://news.sanook.com/7599030)

ในข่าวยังกล่าวว่า “หลอดข้าว” ที่ว่านี้ผลิตจากข้าวร้อยละ 70 และมันสำปะหลังร้อยละ 30 สามารถแช่ไว้ในเครื่องดื่มร้อนได้ 2-3 ชั่วโมง และแช่ไว้ในเครื่องดื่มเย็นได้เป็นเวลานาน
ดู ๆ ไปข่าวนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย แต่จริงหรือ ???

ทั่วโลกต่างหันมาใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในการผลิตสินค้า ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาราคาข้าว ยางพารา และสินค้าเกษตรอื่นซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ

เกษตรกรไทยมีแต่หนี้สิน คุณภาพชีวิตไม่ดีทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลจากประชาธิปไตยก็มาก รัฐบาลทหารก็ไม่น้อย แต่มาถึงวันนี้ เกษตรกรไทยก็ยังมีชีวิตไม่ดีขึ้

   ไทยรัฐ บทความฉบับวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561 หน้า 2 ให้ข้อมูลว่า ราคายางตลาดโลกในเวลานั้นอยู่ช่วงขาลง ราคาเฉลี่ยไม่เกิน 50 บาท และจนถึงวันนี้ ราคาก็ไม่ได้ดีขึ้นจนเป็นที่พอใจแก่ชาวสวนยางแต่อย่างใด

แม้จะพยายามช่วยเหลือ แต่รัฐบาลก็ไม่มีเงินมากพอที่จะอุ้มราคายางและใช้ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วด้วยก้อนมโหฬาร

บทความยังสรุปไอเดียของ “นายอุทัย สอนหลักทรัพย์” ประธานสภาเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทยเสนอรัฐบาลใช้ยางพาราไทยเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนในการจัดซื้ออาวุธ จัดซื้อรถไฟความเร็วสูง หรือจัดซื้ออุปกรณ์อื่น ๆ ของรัฐบาล

ในท้ายของบทความยังได้ยกตัวอย่าง “รัฐบาลอินโดนีเซีย” สามารถเจรจาตกลงซื้อเครื่องบินรบ เอสยู 34 ฝูงจากรัสเซียโดยจ่ายเงิน 50% และจ่ายเป็นยางพารา 50%

นี่คือข้อเสนอจากเอกชนที่น่าจะเป็นข่าวดีของเกษตรกรไทยอีกข่าว แต่จริงหรือ ???

การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ใช่เอกชนรายใดจะแก้ไขง่าย ๆ นี่เป็นปัญหาระดับประเทศหรืออาจเป็นระดับโลกก็ได้

ผู้แก้ไขที่แท้จริงจึงต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น

ปัญหาสินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ ทั่วโลกน่าจะคล้ายกัน อาจแตกต่างกันบ้างตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศ แต่ที่แตกต่างกันมากสุด ๆ คือ ความสามารถในการบริหารจัดการในระดับรัฐบาล

หากถามว่า เกษตรกรทั่วโลกนิยมปลูกพืชอะไรมากที่สุด คำตอบก็น่าจะมีเพียง 2 เหตุผลเท่านั้น

หนึ่ง สภาพภูมิอากาศเอื้อต่อพืชใดในแต่ละพื้นที่ก็น่าจะนิยมปลูกพืชนั้นกันมาก และ

สอง ราคาพืชใดในตลาดโลกสูงขึ้น หากสภาพภูมิอาการในพื้นที่อำนวย เกษตรกรทั่วโลกก็จะหันไปปลูกพืชนั้นมากขึ้น

แต่เกษตรกรทั่วโลกมีมากเหลือเกิน หากทั่วโลกเฮละโลปลูกพืชใดกันมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ฯลฯ มันก็ย่อมส่งผลให้ราคาพืชนั้นตกต่ำลงตามกฎเกณฑ์เศรษฐศาสตร์

เกษตรกรไทยก็หนีกฎเกณฑ์นี้ไม่พ้น ดังนั้นหากรัฐบาลไทยจะแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรไทย รัฐบาลไทยต้องเป็นเจ้าภาพด้วยการใช้วิธีบริหารจัดการสินค้าทางการเกษตรด้วยตนเอง

เมื่อพิจารณาจากข่าวดีที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2561 รัฐบาลไทยน่าจะขยับก่อนใครได้

ประการที่ 1 รัฐบาลไทยต้องส่งเสริมเอกชนทุกรูปแบบให้นำสินค้าเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่น ขณะนี้สินค้าที่ผลิตจากพลาสติกกำลังอยู่ในกระแสให้เลิกใช้ สินค้าที่ใช้ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารากำลังเข้ามาเป็นวัตถุดิบแทนที่

รัฐบาลควรเริ่มส่งเสริมเอกชนให้เป็นผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ จากข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และพืชอื่น ๆ ด้วยมาตรการภาษีที่มากกว่า B.O.I ระยะเวลานานกว่า B.O.I. ซึ่งจะเป็นการจูงใจเอกชนคนไทยและต่างชาติให้เข้ามาตั้งโรงงานในไทยที่มีวัตถุดิบทางการเกษตรมากมาย

ประการที่ 2 รัฐบาลต้องให้เงินทุนแก่สถาบันศึกษาเพื่อใช้การวิจัยสินค้าใหม่ ๆ ที่ใช้พืชผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบแทนที่ การวิจัยต้องให้มีการประชาสัมพันธ์ให้มากเพื่อให้เอกชนหันมาสนใจและเป็นการสอดคล้องกับการส่งเสริมวิธีการผลิตสินค้าใหม่ ๆ

ประการที่ 3 หากการส่งเสริมเอกชนให้เป็นผู้ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยยังได้ผลช้า รัฐบาลควรตั้งโรงงานผลิตเอง เช่น การผลิตหลอด จาน ช้อน ตะเกียบที่ใช้ครั้งเดียวเพื่อจำหน่าย

รัฐบาลชิงทำในมือต้น ๆ ไม่ว่าจะทำในรูปของรัฐวิสาหกิจ การร่วมทุน หรือการว่าจ้างนักบริหารที่มีชื่อเสียงด้วยการแบ่งผลกำไรเพื่อการจูงใจ เป็นต้น

ประการที่ 4 รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพในการนำพืชผลการเกษตรมาแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อเสนอของประธานสภาเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย

การจัดซื้ออาวุธ รถไฟความเร็วสูง อุปกรณ์อื่น ๆ ของรัฐบาล หรือการจัดซื้อต่าง ๆ ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานใดที่บังคับได้ รัฐบาลก็ออกเป็นกฎหมายกำหนดให้ใช้วัตถุดิบจากพืชผลการเกษตรเป็นข้อแลกเปลี่ยนเท่านั้น

เพียงข้อเสนอ 4 ข้อนี้ พืชผลการเกษตรของไทยราคาย่อมดีขึ้นโดยไม่ต้องง้อราคาในตลาดโลก ไม่ต้องรอการส่งออก ไม่ต้องง้อต่างชาติมากำหนดราคา สุดท้ายก็ได้ช่วยเกษตรไทยโดยตรงให้มีรายได้แน่นอน และมีอนาคตดีขึ้นแทนการให้เงินช่วยเหลืออย่างที่หลายรัฐบาลทำมา

โอกาสมาต้องรีบฉวยเป็นหลักการบริหารจัดการง่าย ๆ

กระแสโลกต่อต้านการใช้พลาสติกนับวันจะยิ่งมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีพืชการเกษตรเป็นสินค้าหลัก หากรัฐบาลไทยมองเห็นโอกาสนี้แล้วฉวยให้ได้ แบบนี้ก็จะเป็นการใช้วิธีการบริหารจัดการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้จริง ๆ

หากเกษตรกรไทยที่เป็นสันหลังของประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็เชื่อว่า ประเทศชาติก็น่าจะรอดไปแล้วมากกว่าครึ่ง

หากทำอย่างนี้ได้จริง ๆ การช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการลด แลก แจก แถมตามโครงการประชานิยมก็จะหมดไปและเป็นการพัฒนาเกษตรกรไทยให้ภูมิใจในอาชีพของตน เว้นแต่รัฐบาลยังมีความสุขต่อประชานิยมเท่านั้น

นี่คือข้อเสนอ

ในวาระส่งท้ายปีเก่า 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ทีมงาน SNP และผมผู้เขียนบทความขออวยพรท่านผู้อ่านให้มีความสุขในเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะเข้ามา

สวัสดีปีเก่า 2561

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

เดินหน้ารถไฟทางคู่อีอีซี เชื่อมท่าเรือ-นิคมฯ ลดต้นทุนขนส่ง
รฟท.เดินหน้าศึกษารถไฟทางคู่ เชื่อม 3 ท่าเรือ อีอีซี กระจายสินค้าทั่วประเทศ ลดต้นทุนการขนส่ง คาดเดือนมี.ค.2562 ได้ผลการศึกษาเบื้องต้น หากไฟเขียวใช้เวลาอีก 6 เดือนออกแบบรายละเอียด คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ทันรองรับโครงการอีอีซี
นายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ วิศวกรโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบรางเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า โครงการรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกนี้ จะเชื่อมท่าเรือที่สำคัญใน อีอีซี 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าของประเทศ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสูงถึง 80% ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก
ดังนั้นจึงต้องขยายเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมโยงทั้ง 3 ท่าเรือ รองรับปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบังจะเพิ่มจากในปี 2563 จะมีจำนวน 8.5 แสนตู้ ในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านตู้ ในปี 2573 เพิ่มเป็น 2.3 ล้านตู้ ในปี 2583 เพิ่มเป็น 4.3 ล้านตู้ และในปี 2593 จะเพิ่มเป็น 4.8-5 ล้านตู้ ทั้งนี้ หากคาดการณ์รายจังหวัดในพื้นที่ อีอีซี จะพบว่า จ.ฉะเชิงเทรา ปริมาณสินค้าในปี 2565 จะมีปริมาณ 13.1 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 17 ล้านตันต่อปี จ.ระยองในปี 2565 จะมีสินค้าปริมาณ 35.6 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 44 ล้านตันต่อปี และจ.ชลบุรี ในปี 2565 จะมีสินค้าปริมาณ 78 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 จะมีสินค้า 96 ล้านตันต่อปี รวมแล้วทั้ง 3 จังหวัด ในปี 2565 จะมีสินค้าปริมาณ 126 ล้านตันต่อปี และในปี 2580 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 157 ล้านตันต่อปี

ในเบื้องต้นแนวเส้นทางรถไฟจากหัวหมากถึงฉะเชิงเทราจะมีทางรถไฟ 3 ทาง จากฉะเชิงเทราถึงศรีราชา จะมีทางรถไฟทางคู่ 2 ทาง และระยะจากศรีราชาถึงมาบตาพุดจะมีทางรถไฟทางคู่ 1 ทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของสินค้า เนื่องจากการขนส่งทางรางมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนนอยู่มาก

“ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะเน้นการเพิ่มศักยภาพการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือมาบตาพุด จะเน้นเป็นท่าเรือขนส่งก๊าซ และท่าเรือสัตหีบจะยกระดับไปสู่การเป็นท่าเรือท่องเที่ยวที่ทันสมัย รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และเรือเฟอร์รี่ โดยเส้นทางรถไฟจะเข้าไปช่วยขนส่งคน และสินค้าไปยังทุกที่ทั่วประเทศ”

โดยโครงการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 145 ล้านบาท ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ จะใช้เวลา 6 เดือน จะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.2562 ซึ่งจะมีรายละเอียดของงบการลงทุนทั้งหมด รูปแบบการลงทุน และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ หากผลการศึกษาพบว่าโครงการมีความเหมาะสมก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างในรายละเอียดใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จะนั้นจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่ออนุมัติงบประมาณ ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบก็จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ก็จะแล้วเสร็จใกล้เคียงกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

สำหรับ แนวคิดการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่ อีอีซี จะมีอยู่ 5 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมการเดินทางของผู้โดยสารให้มีความรวดเร็ว โดยเน้นการใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นเส้นทางหลัก และเสริมด้วยระบบ Feeder ภายในพื้นที่พัฒนาระบบขนส่งมวลชน 2. พัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือ เพื่อเป็นแกนหลักของการขนส่งสินค้า 3. พัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือกับย่านนิคมอุตสาหกรรม พัฒนารถไฟทางคู่ลักษณะรวมและกระจายการขนส่งสินค้าระหว่างนิคมอุตสาหกรรม เข้าสู่รถไฟแกนหลัก เพื่อเชื่อมออกประตูการค้า และ5. การขนส่งสินค้ามูลค่าสูง หรือขนาดเล็ก รองรับด้วยการขนส่งด่วนทางอากาศ

ในส่วนของโครงข่ายการคมนาคมระบบรางในพื้นที่ อีอีซี จะมี 3 ระบบ ได้แก่ โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ร่วมกับรถไฟทางไกล โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา สถานีชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด และชุมทางเขาชีจรรย์-สัตหีบ

โดยระบบรถไฟฟ้าชานเมืองจะเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ปริมณฑล เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ อีอีซี โดยเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ กับระบบรถไฟฟ้าชานเมือง และขยายแนวเส้นทางรถไฟต่อไปยัง 4 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, นครปฐม และจ.สมุทรปราการ เพื่อให้เกิดการเดินทางระหว่างเมือง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยังเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพฯกับ อีอีซี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกล ประกอบด้วย สายเหนือช่วงรังสิต-สถานีชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 60 กม. สายตะวันออกเชื่อมมักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 12.6 กม. ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 43.2 กม. สายตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-นครปฐม ระยะทาง 43 กม. และสายใต้ ช่วงมหาชัย-ปากท่อ ระยะทาง 56 กม.

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการสำคัญเพื่อสร้างโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ อีอีซี ให้สมบูรณ์ โดยรถไฟความเร็วสูงสามารถเดินทางจากสถานีระยองเข้าถึงสถานีสุวรรณภูมิ สถานีบางซื่อ และสถานีดอนเมืองได้โดยตรง ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ-ระยอง และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้จะมี 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง, บางซื่อ, มักกะสัน, สุวรรณภูมิ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ศรีราชา, พัทยา และสถานีอู่ตะเภา

โครงการรถไฟทางคู่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางส่งเรือ ซึ่งจะศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา สถานีชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด และชุมทางศรีราชา-สัตหีบ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงทางรถไฟเดิม ปรับปรุงระบบอาณัตสัญญาณ และแก้ไขจุดตัดทางผ่าน ช่วงหัวหมาก-สถานีชุมทางศรีราชา ระยะทางประมาณ 115 กม. เพิ่มเส้นทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 46 กม. ก่อสร้างทางคู่ ช่วงชุมทางศรีราชา-ชุมทางเขาชีจรรย์-มาบตาพุด และชุมทางเขาชีจรรย์-สัตหีบ ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองบริเวณชุมทางศรีราชา และชุมทางเขาชีจรรย์ ระยะทาง 85 กม.

นอกจากนี้ จะศึกษาการพัฒนาที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ มีพื้นที่ศึกษา 500 เมตร-1 กม. รอบสถานีรถไฟ ซึ่งผลการศึกษาจะเสนอแนวทางออกแบบเบื้องต้น และประมาณราคาต้นทุนการพัฒนา ในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยในพื้นที่นิ้จะประกอบด้วยย่านการค้าเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง ต้องมีพื้นที่สาธารณะเพียงพอตอบสนองการใช้งาน ซึ่งจะมีย่างการค้าเกาะตัวไปตามแนวแกนเชื่อมต่อหลัง และรอง หรือสถานีเชื่อมต่อการขนส่งโดยรอบ ย่านการขนส่งสินค้าต้องสอดคล้องกับประเภท รูปแบบ และปริมาณการขนส่งสินค้า

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/822084