CEO ARTICLE

Start Up – 2

Published on March 23, 2021


Follow Us :

    

ในซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง Start Up ตัวเอกของเรื่องมองเห็นความไม่สะดวกจากการใช้ชีวิตของคนใกล้ตัวที่มีปัญหาสายตาจนสร้างเครื่องช่วยการเดินทางและพัฒนาไปสู่รถยนต์ไร้คนขับ
ในชีวิตจริง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มองความไม่สะดวกที่เพื่อนนักศึกษาได้รับจากหนังสือรุ่นที่เป็นเล่มจึงร่วมกับเพื่อน ๆ สร้างหนังสือรุ่นสื่อในโซเซียลชื่อเฟซบุ๊ค จนมีหุ้นส่วนมากขึ้น พัฒนาไปสู่แอปพลิเคชั่นการสื่อสาร ช่องทางการค้า และเติบโตอย่างก้าวกระโดดทุกวันนี้
Start Up จึงเป็นการสร้างธุรกิจอย่างก้าวกระโดดด้วยทัศนคติ วิสัยทัศน์ และจุดแข็งของผู้ที่ต้องการเริ่ม
Start Up ในขั้นตอนที่ 1 คือ “การมองให้เห็นสิ่งที่ไม่สะดวก สิ่งที่ขาดหาย สิ่งที่จะเติมเต็ม”

เมื่อแน่ใจ ผ่านการปรึกษาที่ดีแล้ว ขั้นตอนที่ 2 คือการสร้างต้นแบบ “แผนธุรกิจ”
ต้นแบบ “แผนธุรกิจ” คือ การจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ เราจะขายสินค้าหรือบริการอะไรที่สามารถสนองสิ่งที่ขาดหาย ความไม่สะดวกสบาย และจะมีคนมาซื้อจำนวนมาก ดังนี้
1. ด้านลูกค้า
ใครจะเข้ามาเป็นลูกค้าให้กับเรา ลูกค้าของเราอยู่แถวไหน ทำไมเขาเหล่านั้นจึงต้องมาซื้อสินค้าหรือบริการของเรา ของเรามีอะไรดี และเขาจะเข้ามาซื้อได้อย่างไร ???
ลูกค้าคือพระเจ้า ลูกค้าคือบุคคลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นจริงและมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ประเด็นลูกค้าจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการจำลองแผนธุรกิจ
เมื่อมั่นใจก็ต้องนำสินค้าหรือบริการมาทดสอบหรือสำรวจเพื่อมิให้ผิดพลาดว่า สินค้าหรือบริการที่เรากำลังจะทำนั้นมีลูกค้าต้องการจริง โดนใจลูกค้าจริง
การทดสอบหรือสำรวจจะเป็นการป้องกันการคิดไปเองที่จะนำไปสู่ความล้มเหลว
2. ด้านการรับรู้
เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้ารับรู้ถึงสินค้าหรือบริการใหม่นี้ จะใช้ช่องทางไหน จะใช้การตลาดรูปแบบใด จะวางขายที่ไหน หรือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าทราบในวงกว้างที่สุด ???
ปัจจุบันโลกหมุนเร็วมาก ข่าวสารข้อมูลสื่อถึงกันก็มีมากและรวดเร็วมาก ทำอย่างไรข้อมูลของเราจึงจะมีความเร็วอย่างเพียงพอ (Sufficient Speed) และได้รับความสนใจ
ช่องทางจำหน่าย (Marketing Place) จึงมีความสำคัญรองลงมาจากลูกค้า
3. ด้านการผลิต
วิธีการผลิตสินค้าหรือการสร้างการบริการมีขั้นตอนอะไรหรือมีวิธีการอย่างไรบ้าง ???
จุดแข็ง (Strength) ของเราคืออะไร เพียงพอที่จะสร้างสินค้าหรือบริการได้หรือไม่ จุดอ่อน (Weakness) ที่จะทำให้ล้มเหลวคืออะไร เราต้องใช้ความรู้อะไรเพิ่ม ต้องมีที่ปรึกษาด้านไหน หรือหุ้นส่วนแบบไหนมาแก้ไขจุดอ่อน ???
ใครจะเป็นผู้จัดหา (Supplier) ผู้ขายส่งวัตถุดิบที่จะใช้ผลิต ขายอุปกรณ์ ใครจะเป็นผู้ร่วมทีมในการให้บริการกับเรา ???
บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้คือเครือข่ายที่เราต้องให้ความสำคัญ (Network Necessitation) ที่จะร่วมกันสร้างคุณภาพ ความพึงพอใจ และร่วมกันตอบสนองความต้องการที่ขาดหายให้แก่ลูกค้า
4. ด้านการเงินและงบประมาณ
จากข้อ 1-3 และการทดสอบจะทำให้เห็นรายรับจะมาจากไหน รายจ่ายจะมีอะไร ต้นทุนมีแค่ไหน มีความแม่นยำ และนำไปสู่การจัดทำงบประมาณที่ต้องใช้ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป
ต้นแบบ “แผนธุรกิจ” สั้น ๆ มีเพียง 4 ด้าน เป็นการค้นหาเส้นทางให้ใกล้ความจริงที่สุด ไม่ใช้จินตนาการ และผู้เริ่มต้องไม่มองที่ผลกำไรเป็นอันดับแรก
Start Up ใครว่ายากก็ยาก ใครว่าง่ายก็ง่าย คนที่เริ่มได้ส่วนใหญ่จะมีทัศนคติ มีวิสัยทัศน์ มีเพื่อน มีที่ปรึกษา และมีเครือข่ายที่ดีซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 1 และ 2 ที่นำไปสู่ต้นแบบ “แผนธุรกิจ” ใน Start Up และเป็นแนวทางที่ซีรี่ส์เกาหลี และเฟซบุ๊คของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กสื่อให้เห็น
ส่วนการหาเงินทุนและส่วนอื่น ๆ จะกล่าวใน Start Up ตอนต่อไป

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

ปล. 1 “เก่งง่าย รวยง่าย ด้วยบันได 3 ขั้น” เป็นหนังสือสร้างพื้นฐานเพื่อการเริ่ม Start Up ที่ดี ขณะนี้มีจำหน่ายตามศูนย์หนังสือชั้นนำทั่วไปในราคาเล่มละ 250 บาท แต่ขอรับได้ “ฟรี”
ปล. 2 ผู้ติดตามบทความนี้ขอรับ “ฟรี” ได้ที่ 02-333-1199 ต่อ 0 หรือ 087-519-4643 คุณปู ในเวลาทำการ (มีค่าจัดส่ง และค่าดำเนินการ 100 บาท)
ปล. 3 รายได้จากหนังสือเข้ากองทุน CSR เพื่อมอบให้เด็กนักเรียนยากไร้ โรงเรียนวัดแก้วเจริญ (เฟื้อบำรุง) หมู่ 10 ต. เหมืองใหม่ อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม 75110 โทร 034-735024 ครูณัจวรรณ จันทรตัง ในวันที่ 30 ต.ค. 2564

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : March 23, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

3 สายเรือยักษ์ใหญ่ผนึกกำลัง เปิดขนส่งผลไม้กัมพูชา-ท่าเรือชินโจว ประเทศไทยมีเอี่ยว

สายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ 3 ราย (Wanhai Lines, YangMing Lines และ Sealand MAERSK Asia) จับมือเปิดให้บริการเส้นทางเดินเรือสายตรง (Express service) สำหรับขนส่งผลไม้อาเซียนมาที่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในเส้นทางใหม่ ได้แก่ เส้นทาง “ท่าเรือชินโจว – ท่าเรือหนิงโป – ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ – ท่าเรือสีหนุ – ท่าเรือกรุงเทพฯ – ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว”

สื่อท้องถิ่น รายงานว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นมิติใหม่ของการขนส่งผลไม้จากประเทศกัมพูชา (ท่าเรือสีหนุ) มาที่อ่าวเป่ยปู้เป็นครั้งแรก (ท่าเรือสีหนุ – ท่าเรือชินโจว ใช้เวลาราว 7 วัน) โดยสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ 3 รายนี้ใช้เรือบรรทุกสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ (Container ship) ที่มีระวางบรรทุกตู้สินค้า 1,800 TEUs จำนวน 3 ลำ มาให้บริการ มีรอบให้บริการทุกวันศุกร์ของสัปดาห์

หลายปีมานี้ ผลไม้จากอาเซียนเป็น “สินค้านำเข้าดาวเด่น” ของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) โดยเฉพาะผลไม้ไทย (ลำไย ทุเรียน มังคุด และมะม่วง) และผลไม้เวียดนาม โดยท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้เริ่มพัฒนาเส้นทางเดินเรือสายตรง (Express service) สำหรับขนส่งผลไม้เป็นเส้นแรกเมื่อปี 2560 กับประเทศไทย ต่อด้วยประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา (ท่าเรือสีหนุ)

ตามรายงาน ปี 2563 ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทะลุ 5 ล้าน TEUs เป็นครั้งแรก ขยายตัว 31% (YoY) ทำให้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ทะยานสู่ 10 อันดับท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในประเทศจีน และติด 40 อันดับท่าเรือที่สำคัญของโลก นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา การค้าผลไม้ผ่านท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 151% และในปี 2563 ปริมาณขนถ่ายผลไม้จากท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ไปยังอาเซียนมีอัตราการขยายตัว 17% (YoY)

ในทางกลับกัน ผลไม้เขตกึ่งร้อนจากพื้นที่ตอนในของจีนก็สามารถใช้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เพื่อส่งออกไปอาเซียนได้เช่นกัน เช่น ส้มแมนดารินจากนครฉงชิ่ง เลมอนจากมณฑลเสฉวน และแอปเปิลจากมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นการส่งเสริมการค้าแบบสองทางเพื่อสร้างสมดุลให้กับโครงสร้างการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย

บีไอซี เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดใช้เส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่นี้มากกว่ากัมพูชา ด้วยเหตุผลหลัก คือ (1) Route การเดินเรือต้องแวะเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี (2) ชนิดผลไม้ที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าจากกัมพูชามีเพียงกล้วยหอม ขณะที่ประเทศไทยได้รับอนุญาตมากถึง 22 ชนิด

นอกจากเส้นทางเดินเรือเส้นใหม่นี้ ปัจจุบัน การเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับประเทศไทย (ท่าเรือแหลมฉบัง) มีผู้ให้บริการเดิมอยู่ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC บริษัท PIL และบริษัท EMC ที่ใช้เวลาขนส่งสั้นสุดเพียง 4 วันเท่านั้น โดยเฉพาะบริษัท SITC เป็นสายเรือที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” มีเส้นทางเดินเรือ Direct service เพื่อนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยอยู่ 2 เส้นทาง และบริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มเส้นทางเดินเรือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีกในอนาคต

ท่าเรือชินโจว เป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไปเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ที่สำคัญ เป็นช่องทางในการระบายผลไม้ไทยในช่วงฤดูกาลผลไม้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรแออัดและตู้สินค้าตกค้างบริเวณด่านทางบกโหย่วอี้กวานในช่วงเดือนเมษายน ช่วงเทศกาลตรุษจีน และช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้แบบไร้รอยต่อที่ท่าเรือชินโจว เพื่อสำเลียงสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าทางเรือกว่าครึ่ง โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้หลากหลายประเภท ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วไป ตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง รวมถึงตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.