CEO ARTICLE

7 ปี รัฐประหาร

Published on May 25, 2021


Follow Us :

    

22 พ.ค. 64 ที่ผ่านมาเป็นวันครบ 7 ปี รัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย
คำถามที่ตามมาคือ “ประเทศไทยยังจะมีการรัฐประหารอีกหรือไม่ ???”

ตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารมามากเป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างทหารด้วยกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ 2-3 ครั้งหลัง การรัฐประหารกลับเป็นการชิงอำนาจระหว่างทหารและนักการเมืองอย่างชัดเจน
ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใคร ๆ มองว่าดีที่สุด และคาดหวังว่าการรัฐประหารคงไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่ในปี 2549 และ 2557 ก็เกิดการรัฐประหารอีกจนได้
ใน 2 ครั้งหลังนี้เกิดจาก “ความแตกแยก” จนทหารเข้ามาชิงอำนาจจากนักการเมือง
ภายหลังการรัฐประหาร นักการเมืองเองและประชาชนแตกเป็น 2 ขั้ว และความแตกแยกภายในประเทศนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
ขั้วหนึ่งสนับสนุนนักการเมือง การเลือกต้ง เกลียดการรัฐประหาร จึงหันมาทำผิดซ้ำ ๆ เพื่อยั่วยุทหารให้ปราบปราม ให้ทั่วโลกต่อต้าน ขั้วนี้มีคนสนับสนุนเป็นล้าน ๆ คน
อีกขั้วหนึ่งไม่ชอบความวุ่นวาย เกลียดการไม่เคารพกฎหมายและนักการเมืองที่ทุจริต ผิดหวังการเมือง จึงหันมาทางทหาร ขั้วนี้ก็มีคนสนับสนุนเป็นล้าน ๆ คนไม่ต่างกัน
ทั้ง 2 ขั้ว ต่างฝ่ายต่างโจมตีและด้อยค่าซึ่งกันและกัน และนับวันยิ่งหนักมากขึ้นเป็นทวีคูณ
สื่อมวลชนต้องขายข่าวให้ประชาชนที่แตกเป็น 2 ขั้ว ก็ต้องแบ่งเป็น 2 ขั้วเพื่อเสนอข่าวให้ตรงกับขั้วที่ประชาชนชื่นชอบตามไปด้วย สื่อจึงถูกมองเป็นกลางได้ยาก
สื่อเชียร์ขั้วไหนก็จะเขียนด้านดีของขั้วนั้นมาก และโจมตีด้านเสียของอีกขั้วหนึ่งมากทำให้ประชาชนแต่ละขั้วเสพข่าวซ้ำซาก ตอกย้ำความเชื่อ และความแตกแยก
ทุกเรื่องบนโลกนี้ต่างมีด้านดีและด้านเสียทั้งนั้น ไม่มีเรื่องใดที่จะมีด้านดีหรือด้านเสียเพียงด้านเดียว มันต้องใช้สติพิจารณาให้เห็นเหตุและผลเท่านั้นจึงจะเข้าใจและมองเห็น
คนรุ่นใหม่ที่เสพข่าวคนละขั้ว มองเหตุและผลไม่ออก จึงสืบสานการเมือง 2 ขั้วเรื่อยมา
แนวคิดหนึ่งมองว่า การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง ไม่ว่าจะขัดแย้งอย่างไรก็ควรปล่อยให้กระบวนการและศาลจัดการกันเอง ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ไม่ว่านักการเมืองที่ทุจริตจะหอบเงินหนีไปเสวยสุขในต่างประเทศอย่างไรก็ต้องปล่อยไปตามกระบวนการ
แนวคิดนี้ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งชอบคนเก่งที่ทำให้รวย และไม่รังเกียจการทุจริตจนเกิดวาทกรรมที่ว่า “แม้การคอรัปชั่นไม่ควรเกิดขึ้น แต่คนกลุ่มนี้ก็เลือกคนที่เก่งที่คอรัปชั่นเพราะเชื่อว่าจะทำให้ประเทศเจริญและดีกว่าเดิม”
อีกแนวคิดหนึ่งไม่ยอมรับการทุจริต แต่เมื่อกระบวนการช้าเกินไป ปล่อยคนผิดให้ลอยนวล ปล่อยให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี การรัฐประหารแม้ไม่ชอบธรรม แต่ก็ยอมรับได้

หากถามว่า “การรัฐประหาร 7 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้และเสียอะไร ???”
คำถามแบบนี้ สื่ออยู่ขั้วไหนก็จะให้คำตอบแบบนั้น ส่วนประชาชนอยู่การเมืองขั้วไหนก็จะเสาะหาคำตอบจากขั้วนั้นไม่ต่างกัน การเลือกตั้งและการรัฐประหารต่างก็มีด้านดีและเสีย คำตอบจึงอยู่ที่ผู้ตอบอยู่ขั้วไหนก็จะได้คำตอบที่ให้ประโยชน์แก่ขั้วนั้น
ประชาชนกลุ่มใหญ่ยังอยากรวย อยากได้เงินจากการเลือกตั้ง การซื้อสิทธิ์ขายเสียงยิ่งมากขึ้น เมื่อได้รับการเลือกตั้ง นักการเมืองที่ซื้อเสียงก็ต้องทุจริตเพื่อถอนทุนก็ยิ่งมากขึ้น
การรัฐประหารเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสืบทอดอำนาจ ต้องมีการเลือกตั้ง ต้องได้นักการเมืองหนุนหลังให้เกิดการยอมรับ แต่กลับส่งเสริมนักการเมืองที่ซื้อเสียง การทุจริต และการเมือง 2 ขั้ว
ในโลกโซเซียล ต่างฝ่ายต่างด้อยค่าซึ่งกันและกัน ในเมื่อแต่ละขั้วมีประชาชนสนับสนุนเป็นล้าน ๆ แบบนี้ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง หรือการรัฐประหารอีกครั้ง
ในเมื่อประชาชนเดินตามการเมือง 2 ขั้ว การจะหยุดรัฐประหารจึงต้องเริ่มที่การเมือง
นักการเมืองต้องไม่เป็นผู้นำความขัดแย้ง ต้องทำหน้าที่การเมืองเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ต้องร่วมกันป้องกันภัยพิบัติ หากจะติ จะค้านก็ต้องค้านอย่างมีหลักการ มีเหตุผลเพื่อประโยชน์ของประชาชนให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับตามความหมายของประชาธิปไตยที่นักการเมืองในอารยประเทศเขาทำ
การแพร่ระบาด Covid-19 จึงเป็นโอกาสที่ดีที่นักการเมืองจะฉวยนำประชาชนร่วมต่อสู้
หากทำอย่างนี้ได้ ประชาชนจะหันมาทางนักการเมืองมากกว่าทหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจก็ทำได้ง่าย และการรัฐประหารก็ไม่อาจทำได้ง่ายอีกต่อไป
แบบนี้ 7 ปี รัฐประหารก็น่าจะพอแล้ว ทหารและการรัฐประหารไม่สามารถนำประชาชนให้อยู่ดีมีสุขได้อย่างแท้จริง ทั้งหมดจึงอยู่ที่นักการเมืองจะทำหน้าที่ผู้นำได้หรือไม่เท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 25, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ทางเลือกใหม่ของผู้ส่งออกไทย บุกตลาดรัสเซีย ผ่านเส้นทางรถไฟข้ามทวีป Direct line ที่กว่างซี

เมื่อไม่นานมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เปิดให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยุโรปแบบ Direct line เป็นครั้งแรก ในเส้นทาง “เมืองหลิ่วโจว – กรุงมอสโก” เพื่อกรุยทางและเชื่อมตลาดยุโรปด้วยรถไฟแบบไร้รอยต่อ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการเปิดสู่ภายนอกและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกว่างซี รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้ประโยชน์จากช่องทางดังกล่าวเพื่อขยายการค้ากับประเทศในยุโรป

ตามรายงาน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 รถไฟ China-Europe Express เที่ยวขบวนที่ 75082 ที่ลำเลียงรถตัก 57 คัน และรถปาดเกลี่ยดิน 4 คันอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 52 ตู้ของบริษัท Liugong Group (广西柳工集团) ได้ปล่อยตัวออกจากศูนย์โลจิสติกส์หลิ่วโจวใต้ โดยออกจากประเทศจีนที่ด่านหม่านโจวหลี่ (แมนจูเรีย) เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และไปสิ้นสุดที่สถานี Vorsino ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย รวมระยะทาง 11,000 กิโลเมตร

ข้อดีของบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเขตฯ กว่างซีจ้วงไปยุโรป มีดังนี้

สะดวกและปลอดภัย ด้วยเส้นทาง Direct line ไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่นครเฉิงตูหรือนครซีอานอีกต่อไป ช่วยให้ประสิทธิภาพงานขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม
ประหยัดเวลา หากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางเรือไปขึ้นที่ท่าเรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St.Petersburg) และใช้รถหัวลากไปที่กรุงมองโกแล้ว การขนส่งทางรถไฟสามารถประหยัดเวลาได้มากกว่า 2 สัปดาห์
ลดต้นทุน ขั้นตอน/กระบวนการที่สะดวกรวดเร็ว ช่วยประหยัดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออกได้มากยิ่งขึ้น กอปรกับระยะเวลาขนส่งที่สั้น เมื่อสินค้าถึงเร็ว อัตราการหมุนของเงินก็กลับมาเร็วเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวข้างต้นนับเป็นการติดปีกให้กับสินค้าอุตสาหกรรมของเมืองหลิ่วโจว ช่วยเสริมฟังก์ชันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทชั้นนำในเมืองหลิ่วโจวในการส่งออกสินค้าไปเจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ายานยนต์และเครื่องจักรก่อสร้าง อีกทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากต่างมณฑลและต่างประเทศให้เข้ามาในเมืองหลิ่วโจวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ดังกล่าว

สำหรับผู้ส่งออกไทยที่กำลังมองหาทางเลือกในการขนส่งสินค้าไปยุโรป บีไอซี เห็นว่า บนพื้นฐานงานขนส่งโมเดล “เรือ+ราง” ที่มีอยู่เดิมระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพของไทย – ท่าเรือชินโจวของกว่างซี ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่สามารถนำสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วแล้ว ผู้ส่งออกไทยยังสามารถต่อยอดเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย ทั้งนี้ ระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
อ้างอิง เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 18 และ 19 พฤษภาคม 2564
เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 19 พฤษภาคม 2564
ภาพประกอบ https://tv.cctv.com

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.