CEO ARTICLE

เรือล่าช้าฟ้องใคร

Published on February 15, 2022


Follow Us :

    

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา Covid-19 ทำให้ท่าเรือในบางประเทศปิด ๆ เปิด ๆ คนงานหยุด ตู้สินค้าขาดแคลน เรือสินค้าถูกยกเลิก ล่าช้า กระทบต่อการขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วโลก
กรณีเช่นนี้ ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกควรฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ใด ?

ก่อนจะฟ้องเรียกร้องความเสียหาย ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรทำความเข้าใจกับการขนส่งและกระบวนการโลจิสติกส์ที่ปัจจุบันแบ่งระดับงานออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1st Party Logistics คือ ธุรกิจ ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกที่ดูแลการขนส่ง การรวบรวม การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกระจายสินค้าด้วยตนเองซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการขนาดใหญ่
2nd Party Logistics คือ ผู้ให้บริการขนส่งอย่างเดียว เป็นเจ้าของพาหนะ เช่น เรือบรรทุก เครื่องบิน รถบรรทุก และเป็นผู้ขับเคลื่อนพาหนะขนส่งให้เป็นไปตามตารางที่กำหนด
3rd Party Logistics คือ ผู้ให้บริการตัวแทน (Outsource) ที่ไม่มีพาหนะเป็นของตนเอง เช่น เรือบรรทุก เครื่องบิน แต่ใช้ความชำนาญเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้บริการขนส่ง รวบรวม จัดเก็บ เคลื่อนย้าย และกระจายสินค้า หรือให้บริการเพียงบางส่วน
4th Party Logistics คือ ผู้ให้บริการแบบบูรณาการ เลือก และควบคุมการทำงานของกลุ่มที่ 2 และ 3 ให้ทำตามเป้าหมายของผู้ว่าจ้าง เช่น ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกโดยมีบริการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และพัฒนาเครือข่ายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้ได้ประสิทธิภาพขึ้น
5th Party Logistics คือ ธุรกิจที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการแก่ e-Business Market ที่เติบโตในปัจจุบันโดยเป็นผู้จัดหากลุ่มที่ 3 และ 4 และจัดการห่วงโซ่อุปทานผ่านระบบ e-Commerce ให้ผู้ว่าจ้าง สิ่งสำคัญสุดคือ การเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรด้วยระบบเทคโนโลยีขั้นสูง

จากการแบ่งงาน 5 ระดับของการขนส่งและกระบวนการโลจิสติกส์ข้างต้น ผู้บังคับเรือและผู้รับผิดชอบการขนส่งทางทะเล (Sea Freight) คือ 2nd Party Logistics
ดังนั้น กรณีเรือขนส่งล่าช้ากว่าตารางที่กำหนดจึงควรฟ้องเจ้าของเรือ “กลุ่มที่ 2”
นั่นคือข้อเท็จจริง แต่กฎหมายมองข้อเท็จจริงแล้วยังมองความคุ้มครองที่ผู้ว่าจ้างควรได้รับอีกด้วย พรบ. การรับขนส่งของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรค 1 กำหนดว่า
“ผู้ขนส่ง” คือ “บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ”
กฎหมายมองไปที่ค่าบำเหน็จและสัญญารับขนส่ง กฎหมายมองว่า ผู้ใดรับค่าระวางขนส่ง (Freight) และเป็นผู้ทำสัญญาโดยใบตราส่ง ผู้นั้นคือผู้ขนส่ง กฎหมายไม่ได้มองว่า ใครเป็นเจ้าของเรือ ใครเป็นผู้ขับเรือให้ล่าช้า หรือใครคือ 2nd Party ในกระบวนการโลจิสติกส์
ในยามปกติ ผู้ใดรับค่าระวางขนส่ง ออกใบตราส่ง และทำให้เรือล่าช้ากว่าตารางเกินจะรับได้ ผู้นั้นก็ควรรับผิดชอบ ถูกฟ้องร้องไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นกลุ่ม 2nd, 3rd, 4th, หรือ 5th Party
แต่ในยามผิดปกติ เช่น การเกิดโรคระบาด Covid-19 ไปทั่วโลกจนเรือล่าช้า พรบ. ฉบับนี้มาตรา 52 (6) กลับให้ความคุ้มครอง “ผู้ขนส่ง” ทุกกลุ่มแม้จะได้รับ “ค่าขนส่ง”
ความหมายคือ ในสถานการณ์ผิดปกติ ผู้ขนส่งไม่ว่าจะเป็น 2nd, 3rd, 4th, หรือ 5th Party Logistics ก็ได้รับความคุ้มครองในทางกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น กรณีเรือล่าช้า
นอกจากกรณีโรคระบาดแล้ว มาตรา 52 ยังให้ความคุ้มครองผู้ขนส่งไว้รวม 13 กรณี เช่น ความล่าช้าจากเหตุจราจล การนัดหยุดงาน และอื่น ๆ ที่ปรากฎในท้ายบทความนี้อีกด้วย
กฎหมายคุ้มครองทั้งผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ขนส่งในกระบวนการโลจิสติกส์พร้อมกัน
การเรียกร้องผู้ขนส่งกรณีเรือล่าช้าในช่วง Covid-19 โดยไม่พิจารณาข้อกฎหมาย นอกจากจะไม่เกิดผลใด ๆ แล้วยังเป็นการทำลายความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ให้บริการ Logistics ทุกกลุ่มอีกด้วย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปล. ข้อความใน “พรบ. การรับขนส่งของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52”
ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจาก
(1) เหตุสุดวิสัย
(2) ภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือได้
(3) การสงครามหรือการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธ
(4) สงครามกลางเมือง การจลาจล การก่อการร้าย หรือการก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง
(5) การยึด การจับ การหน่วงเหนี่ยวหรือการแทรกแซงด้วยประการใด ๆ ซึ่งกระทำต่อเรือ โดยผู้มีอำนาจปกครองรัฐหรือดินแดนหรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง
(6) การใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่อ
(7) การนัดหยุดงาน การปิดงานงดจ้าง การผละงาน หรือการจงใจทำงานล่าช้าที่ท่าเรือ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคแก่การบรรทุกหรือขนถ่ายของหรือเป็นอุปสรรคแก่การที่เรือจะเข้าหรือออกจากท่าเรือนั้น
(8) การกระทำของโจรสลัด
(9) ความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง เช่น การบรรจุหีบห่อ หรือรวมมัดไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่เหมาะสมกับสภาพแห่งของ การทำเครื่องหมายที่ของหรือหีบห่อไม่ชัดเจนหรือไม่เพียงพอ
(10) สภาพแห่งของนั้นเอง
(11) ความชำรุดบกพร่องของเรือที่แฝงอยู่ภายในซึ่งไม่อาจพบเห็นหรือทราบได้ด้วยการตรวจสอบอย่างระมัดระวังและโดยใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องใช้สำหรับผู้ประกอบอาชีพตรวจเรือ
(12) ความผิดพลาดในการเดินเรืออันเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือตามคำสั่งของผู้นำร่อง
(13) เหตุอื่นใดที่มิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของผู้ขนส่ง และมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : February 15, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

จับตาท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ “ดาวรุ่งดวงใหม่” ในโครงสร้างการค้าต่างประเทศของจีน

ท่ามกลางสภาวะการณ์ที่ไม่ปกติจากโควิด-19 แต่ปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่) ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดี นับเป็นความก้าวหน้าใหม่ของการพัฒนาท่าเรือสู่เป้าหมายการเป็น Gateway การค้าระหว่างประเทศ และ Hub ท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศ

สถิติที่น่าสนใจ พบว่า ปี 2564 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” เป็นหนึ่งในท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในประเทศจีน กล่าวคือ

ทั้งปี 2564 ปริมาณขนถ่ายสินค้า 358 ล้านตัน อันดับที่ 9 ของท่าเรือหลักเลียบชายฝั่งทะเล เพิ่มขึ้น 21.2% คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ล้านตันจากปีก่อน เป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาท่าเรือหลักเลียบชายฝั่งทะเล
ทั้งปี 2564 ปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์01 ล้าน TEUs อันดับที่ 8 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเล เพิ่มขึ้น 19% เป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาท่าเรือหลักเลียบชายฝั่งทะเล
มกราคม – พฤศจิกายน 2564 เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในกระบวนการนำเข้าสินค้าเหลือเพียง 43 ชั่วโมง ลดลง 45% จากปี 2562 ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 72 ชั่วโมง และเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในกระบวนการส่งออกสินค้า 19 ชั่วโมง ลดลง 30% จากปี 2562 ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 27 ชั่วโมง
มกราคม – พฤศจิกายน 2564 ค่าใช้จ่ายรวมที่ใช้ในกระบวนการนำเข้าสินค้าเหลือเพียง 1,750 หยวน/TEUs ลดลง 47% จากปี 2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 3,326 หยวน/TEUs และค่าใช้จ่ายรวมที่ใช้ในกระบวน
การส่งออกสินค้าเหลือ 1,537 หยวน/TEUs ลดลง 33% จากปี 2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 2,309 หยวน/TEUs
ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) เป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่ช่วยให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โมเดลการขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ในบริเวณท่าเรือช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกให้กับผู้ค้าอย่างมาก

ปีที่ผ่านมา ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือใหม่ 12 เส้นทาง ปัจจุบัน มีเส้นทางเดินเรือรวม 64 เส้นทาง ครอบคลุมท่าเรือสำคัญทั้งในและต่างประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 37 เส้นทาง รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทยด้วย และเป็นเส้นทางเดินเรือกับประเทศสมาชิก RCEP (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) 28 เส้นทาง

ปี 2564 เที่ยวขบวนรถไฟที่วิ่งให้บริการในโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” มากกว่า 6,000 เที่ยวขบวนแล้ว ขยายตัวมากกว่า 30% นับเป็นขบวนรถไฟระหว่างประเทศที่มีอัตราขยายตัวสูงสุดของจีนตลอดช่วงหลายปีมานี้ สถิติสูงสุดของการลำเลียงสินค้าต่อวันอยู่ที่ 603 โบกี้ และนับตั้งแต่เปิดให้บริการขนส่ง “เรือ+ราง” มีเที่ยวขบวนสะสม 14,000 เที่ยวแล้ว

บริษัท China Railway สาขาหนานหนิง เปิดเผยว่า ปีที่แล้ว โมเดลการขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” มีปริมาณการลำเลียงตู้สินค้ารวม 5.7 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 57.5% เส้นทางการขนส่ง 13 เส้นทางครอบคลุม 47 เมืองใน 13 มณฑลในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยมี Hub สำคัญ คือ นครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ มณฑลชิงไห่ และมณฑลซินเจียง และสามารถเชื่อมโยงไปถึงเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย

นอกจากนี้ สินค้าของจากภาคตะวันตกของจีนสามารถใส่งออกผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ไปยัง 311 ท่าเรือใน 106 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก สถิติสูงสุดของรถไฟที่วิ่งให้บริการต่อวัน 22 เที่ยวขบวน ข้อมูลช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 ระบุว่า การนำเข้า-ส่งออกของ 14 มณฑลในจีนผ่านด่านในเขตฯ กว่างซีจ้วง มีมูลค่ารวม 4.599 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 41.3%
ปีที่ผ่านมา บริษัท Beibu-gulf Port Group (北部湾港集团) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนและการบริหารจัดการท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้และต่างประเทศ ในสายงานธุรกิจตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการนำเข้าอาหารในห่วงโซ่ความเย็น ทั้งผลไม้และเนื้อสัตว์ (ท่าเรือชินโจวและท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้าผลไม้และเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ) โดยเฉพาะการนำเข้าผลไม้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงกว่า 37% รวมถึงการบุกเบิกตลาดสินค้ากลุ่มใหม่ให้มาใช้โมเดลการขนส่งดังกล่าว เช่น อะไหล่ยานยนต์ และเยื่อกระดาษ ปัจจุบัน มีสินค้าที่ใช้การขนส่งด้วยรถไฟเพื่อการลำเลียงสินค้านำเข้า-ส่งออกที่ท่าเรือแล้วมากกว่า 600 ประเภท

ล่าสุด โครงการพัฒนาระบบรางไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงสินค้าในสถานีรถไฟชินโจวตะวันออกภายในท่าเรือชินโจวได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ช่วยให้การลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟแบบเต็มขบวน 50 โบกี้ ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น (จากเดิมต้องใช้เวลามากกว่า 4.5 ชั่วโมง) และสามารถทำเวลาได้เร็วสูงสุด 1.5 ชั่วโมง

ในรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนที่มีต่อแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ระหว่างปี 2554-2578 ซึ่งเผยแพร่โดยกรมคมนาคมขนส่งเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อนานมานี้ ได้วางแผนที่จะพัฒนาเส้นแนวชายฝั่งท่าเรือระยะทาง 158 กิโลเมตร ท่าเทียบเรือ 610 ท่า และตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2568 ปริมาณขนถ่ายสินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้จะแตะระดับ 500 ล้านตัน เป็นปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 10 ล้าน TEUs และในปี 2578 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านตัน เป็นปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 25 ล้าน TEUs โดยมีสินค้าหลัก อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์ สินแร่โลหะ ถ่านหิน และน้ำมันดิบ

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดตำแหน่ง (positioning) ของท่าเรือแต่ละแห่งที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้ในลักษณะแบ่งงานกันทำ กล่าวคือ “ท่าเรือชินโจว” เป็น Hub การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และ Hub เชื่อมต่อการขนส่งทางทะเล+แม่น้ำ ส่วน “ท่าเรือฝางเฉิงก่าง” เป็นฐานเก็บสำรองและเปลี่ยนถ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน และวัตถุดิบ และ “ท่าเรือเป๋ยไห่” เน้นอุตสาหกรรมบริการและการขนส่งผู้โดยสารเรือสำราญ

บีไอซี เห็นว่า การใช้โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี โดยเฉพาะ “ท่าเรือชินโจว” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากใช้เวลาการขนส่งสั้นเพียง 4-7 วันเท่านั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นจุดกระจายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภาคตะวันตกอย่างนครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครคุนหมิง และนครซีอาน มีบริการทุกวัน

อีกทั้งยังสามารถใช้โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” เชื่อมต่อกับโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้า (ไทย) ไปขยายตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้โดยตรงอีกด้วย การขนส่งโมเดลนี้สามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท ทั้งตู้สินค้าธรรมดา ตู้ที่มีเครื่องทำความเย็น (reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้สินค้าแบบ open top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกองด้วย

ผู้ใช้บริการสามารถมองภาพการขนส่งได้ทั้งวงจร ช่วยให้สามารถคำนวณเวลาที่ใช้และต้นทุนการขนส่งได้ง่าย ขั้นตอนการดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่ลดลง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้น และสินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้ค่อนข้างรวดเร็วและตรงเวลา ช่วยให้เจ้าของสินค้าได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.