CEO ARTICLE

ไม่มีใบกำกับหีบห่อ

Published on April 5, 2022


Follow Us :

    

ขณะตรวจปล่อยสินค้า ตรวจบรรจุสินค้า หรือผ่านพิธีการศุลกากร ในบางสถานการณ์อาจถูกร้องขอใบกำกับหีบห่อ แต่ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกไม่มี ทำให้เกิดความไม่สะดวก และขัดแย้ง
ใบกำกับหีบห่อเป็นเอกสารสำคัญ แต่ในสถานการณ์ใดบ้างที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ?

‘ใบกำกับหีบห่อ’ หรือ ‘ใบกำกับการบรรจุสินค้า’ บางครั้งก็เรียกทับศัพท์ว่า Packing List และ ‘ใบกำกับสินค้า’ หรือ Invoice เป็นเอกสารพื้นฐานที่ผู้ผลิตและผู้ขายต้องเตรียมให้แก่ผู้ซื้อเพื่อยืนยันการซื้อขาย การชำระเงิน การจัดส่ง และเพื่อการอื่น
‘ใบกำกับหีบห่อ’ ยังใช้แสดงว่าสินค้ารายการใดถูกบรรจุอยู่ในหีบห่อใด และให้ความสะดวกต่อในการตรวจนับ ศุลกากรจึงมักร้องขอ ‘ใบกับกับหีบห่อ’ หรือ Packing List ในการตรวจนับสินค้า
ด้วยเหตุนี้ ‘ใบกำกับสินค้า’ (Invoice) และ ‘ใบกำกับหีบห่อ’ จึงเป็นเอกสารพื้นฐานคู่กันต่อการนำเข้าและส่งออก
ในกรณีการนำเข้ายังมีใบตราส่งสินค้า เช่น B/L (Bill of Lading) หรือ AWB (AirWay Bill) หรืออื่น ๆ เพื่อแสดงวิธีการขนส่งและข้อมูลที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า
หากสินค้าอยู่ในข่ายควบคุมการนำเข้าหรือส่งออกก็ให้แสดงใบอนุญาต และหากสินค้านำเข้าได้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรก็ให้แสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง
แต่ในทางปฏิบัติ บางครั้งผู้ขายต่างประเทศก็จัดเพียง ‘ใบกำกับสินค้า’ (Invoice) แต่ไม่จัด ‘ใบกำกับหีบห่อ’ (Packing List) มาให้ผู้นำเข้า
บางกรณี ผู้ส่งออกของไทยที่ได้ประโยชน์ครบถ้วนจาก ‘ใบกำกับสินค้า (Invoice) แล้วก็ไม่จัดทำ ‘ใบกำกับหีบห่อ’ ก็มีจนอาจเป็นความไม่สะดวกและความขัดแย้งดังกล่าว
สถานการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วและอาจเกิดขึ้นอีก แต่กฎหมายก็ให้ข้อยุติ ให้อ้างอิง และใช้อธิบายได้ต่อทุกฝ่ายให้ยอมรับได้

พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 52 กำหนดให้ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกต้องยื่นใบขนสินค้า และต้องมีข้อมูลที่กฎหมายกำหนดตามรายการต่อไปนี้
(1) ชนิดแห่งของ
(2) ปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพแห่งของ
(3) ราคาศุลกากร และ
(4) ประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทาง
ข้อมูลหลัก ๆ ตามกฎหมายมี 4 รายการ ส่วนมาตรา 211 ใน พรบ. เดียวกันกำหนดโทษ หากผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกไม่จัดให้มี ‘เครื่องหมายและเลขหมาย’ (Shipping Mark and Number) ไว้ข้างหีบห่อโดยกำหนดโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ให้เป็นเพดานสูงสุด
แต่หลาย ๆ ประเทศก็ไม่มีกฎหมายเช่นนี้ ทำให้ปัจจุบัน กรมศุลกากรลดเกณฑ์การปรับเหลือเพียง 1,000 บาท และยังมีข้อยกเว้นอื่น ๆ ให้ผ่อนผันไม่ต้องมี ‘เครื่องหมายและเลขหมาย’ ก็ได้
มาตรา 52 และ 211 กำหนดให้มีข้อมูล ไม่ได้มุ่งไปที่ตัวเอกสาร ดังนั้น หากผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกมีเพียง ‘ใบกำกับสินค้า’ (Invoice) ที่แสดงข้อมูลครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมายโดยไม่มี ‘ใบกำกับหีบห่อ’ (Packing List) ก็ถือได้ว่าไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
ตัวอย่างที่ 1 สินค้ามีรายการเดียว มีปริมาณมาก บรรจุในหีบห่อมาตรฐาน มีขนาดเท่ากัน จำนวนสินค้าเท่ากัน น้ำหนักสุทธิ และน้ำหนักรวมในแต่ละหีบห่อเท่ากัน
ตัวอย่างที่ 2 สินค้ามีหลายรายการ แต่ทั้งหมดบรรจุเพียง 1 หีบห่อเท่านั้น
ตัวอย่างที่ 3 สินค้าเปลือย ไม่มีหีบห่อ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นต้น
กรณี 3 ตัวอย่างดังกล่าว หรือในกรณีอื่นที่ข้อมูลตามกฎหมายทั้งหมดมีครบถ้วนอยู่ใน ‘ใบกำกับสินค้า’ (Invoice) แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายให้มี ‘ใบกำกับหีบห่อ’ แต่อย่างใด
เอกสารที่มีน้อยลง 1 ชิ้น หากไม่ขัดต่อกฎหมายก็อาจลดความเดือดร้อนที่ไม่ตั้งใจลงได้ 1 เรื่อง กฎหมายจึงเป็นข้อยุติ เป็นข้ออ้างอิง และเป็นทางเลือกในการอธิบายที่ดีในเรื่องนี้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : April 5, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

นครเฉิงตูมีแผนเปลี่ยนมาใช้งานรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ไฟฟ้า 100%

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกัน โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่นานาประเทศต่างเห็นพ้องต้องกัน ในขณะเดียวกัน หัวเมืองหลักในประเทศจีน อาทิ นครฉงชิ่งและนครเฉิงตู ต่างให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนมาใช้งานรถยนต์ รถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 กลุ่มงานป้องกันและควบคุมมลภาวะทางอากาศ น้ำ และดิน นครเฉิงตู ได้ออก “แผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ ปี 2565” ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่าง ๆ ใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การลดการปล่อยคาร์บอน (2) การควบคุมและการลดการปล่อยมลพิษ (3) การควบคุมการใช้ยานพาหนะและการลดการใช้น้ำมัน (4) การลดฝุ่น (5) การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ (6) การใช้เทคโนโลยีการปรับสภาพอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การสนับสนุนการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและการใช้พลังงานสะอาด มีสาระสำคัญดังนี้

ภายในเดือนเมษายน 2565 นครเฉิงตูมีแผนเพิ่มการจดทะเบียนรถยนต์พลังงานใหม่ 80,000 -100,000 คันและมีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ไฟฟ้าทั่วทั้งเมือง
ภายในเดือนมิถุนายน 2565 นครเฉิงตูจะกำหนดโครงสร้างพลังงานใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้ใช้พลังงานประเภทที่ไม่ใช่ฟอสซิลเป็นอัตราส่วนร้อยละ 46 และใช้พลังงานสะอาดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 นอกจากนี้ จะมีการจัดทำแผนงานสำหรับการก่อสร้างเขตสาธิตสังคมคาร์บอนต่ำ
ภายในสิ้นปี 2565 กำหนดให้สร้างสถานีชาร์จ-เปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 350 แห่ง และเครื่องชาร์จไม่น้อยกว่า 20,000 เครื่อง กำหนดให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 48 และห้ามการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าหรือตลาดค้าส่งบริเวณใจกลางเมือง (ภายในถนนวงแหวนที่ 4 ของนครเฉิงตู)
นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังมีการจำกัดการใช้งานรถยนต์เก่า ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 จะควบคุมและจำกัดการใช้งานรถยนต์และรถบรรทุกที่ก่อมลพิษสูง และภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2565 กำหนดให้กำจัดรถยนต์เก่าที่มีมาตรฐานด้านมลพิษระดับต่ำกว่าที่กำหนดไม่น้อยกว่า 80,000 คัน
ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทย

แม้ว่าปัจจุบันราคารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะมีราคาถูกลงเนื่องจากนโยบายและมาตรการอุดหนุนจากรัฐบาล อย่างไรก็ดี ในด้านของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น จุดชาร์จ และอู่ซ่อมรถ อาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้งาน ในอนาคต หากไทยจะปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% อาจจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จในหมู่บ้าน และปั๊มน้ำมันทุกแห่งในไทย ดังเช่นที่นครเฉิงตูได้กำหนดแผนการก่อสร้างสถานีชาร์จและเครื่องชาร์จไฟฟ้าเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกปี รวมถึงเพิ่มจำนวนอู่ซ่อมรถสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถมีระยะห่างที่สะดวกต่อการชาร์จและการซ่อมรถกรณีไฟฟ้าหมดหรือรถเสียระหว่างทาง

โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกจะเป็นปัจจัยหลักให้ประชาชนหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะทางอากาศ และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในฐานะที่นครเฉิงตูเป็นผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ในภูมิภาคจีนตะวันตก ไทยสามารถส่งเสริมความร่วมมือกับมณฑลเสฉวนด้านการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีความเชี่ยวชาญรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนาไปเป็นดีทรอยต์ของเอเชียในด้านรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสีเขียวของเอเชียต่อไป

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.