CEO ARTICLE

APEC มุมที่น่าต้าน

Published on November 22, 2022


Follow Us :

    

APEC 2022 ที่จัดในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา มี FTAAP เป็นส่วนหนึ่งที่หลายประเทศผลักดัน … FTAAP คืออะไร และทำไมคนกลุ่มหนึ่งจึงต่อต้าน ??

APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2532 เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่เชื่อมต่อโดยมหาสมุทรแปซิฟิก และส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเซีย
FTAAP ย่อมาจากคำว่า Free Trade Area of Asia Pacific ซึ่งจะมาเป็นเขตเศรษฐกิจเสรีของ APEC มีประชากรใน 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันราว 2,900 ล้านคนที่จะผลิต จะขาย จะซื้อ และทำการลงทุนร่วมกันจึงเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หาก FTAAP สำเร็จจะสร้าง GDP ได้ถึงร้อยละ 62 ของ GDP โลก หรือเกินกว่าครึ่งโลก
FTAAP เป็นเรื่องของการค้าเสรี กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จึงมีมาก ตัวอย่างเช่น
กลุ่มที่ 1 ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่จะผลิต จะซื้อ จะขายสินค้าให้กับคน 2,900 ล้านคนโดยไม่มีภาษีศุลกากรเข้ามาเป็นต้นทุน และเป็นอุปสรรคทางการค้าจึงได้ประโยชน์เต็ม ๆ
กลุ่มที่ 2 ผู้จัดหา (Supplier) และลูกค้า (Customer) ที่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้องซื้อ ต้องขายด้วย เช่น วัตถุดิบเพื่อการผลิต วัสดุสิ้นเปลือง บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ และสินค้าอื่นอีกมาก
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ต้องเดินทาง ขนส่ง ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ที่ต้องรวบรวม จัดเก็บ เคลื่อนย้าย และกระจายสินค้าไปทั่วโลกก็จะมีงานทำมากขึ้น
กลุ่มที่ 4 บุคลากรที่ทำงานในกลุ่มที่ 1-3 ที่จะได้งาน มีรายได้ เกิดการจ้างงานมากขึ้น
กลุ่มที่ 5 อสังหาริมทรัพย์ คนขาย คนให้เช่าที่อยู่อาศัยที่คนทำงานต้องซื้อ ต้องเช่า
กลุ่มที่ 6 คือพ่อค้า แม่ค้าทั่วไปในตลาด สถานบันเทิง รถเมล์ แท็กซี่ที่ให้บริการทั่วไป
กลุ่มที่ 7 คนในครอบครัวกลุ่มที่ 1-6 ที่มีรายได้เพิ่มไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน คนชรา นักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่คนที่ออกมาต่อต้าน APEC ในครั้งนี้
คนทุกระดับจะได้ประโยชน์ถ้วนหน้า เงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจเวียนไปไม่รู้กี่รอบ
Covid-19 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลกซบเซามาก คนตกงานมหาศาล FTAAP และ APEC จึงเป็นความหวังของคนค่อนโลก
แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ ทุกสิ่งที่มีประโยชน์ (Benefit) ก็ต้องมีข้อเสีย (Cost) เป็นของคู่กัน

ข้อเสียที่ 1 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ มีเทคโนโลยีสูงจะได้เปรียบมาก
ตัวอย่างง่าย ๆ ไทยขายข้าวออกไปได้ตันละ 15,000 บาท แต่ต้องนำเงินถึง 50,000 บาทไปซื้อ Iphone ที่มีน้ำหนักไม่ถึงกิโลกรัม แต่ไทยก็ต้องซื้อเพราะต้องการเทคโนโลยี
ข้อเสียที่ 2 ประเทศเล็กต้องง้อประเทศใหญ่มากขึ้น ถูกกดดันให้ยอมรับบางเงื่อนไขที่อาจรวมไปถึงการเมือง การปรับปรุงกฎหมาย รูปแบบการปกครอง และโครงสร้างทางการเมืองก็ได้
ข้อเสียที่ 3 วัฒนธรรมของประเทศเล็กจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามการบริโภคสินค้าไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด พฤติกรรม การกินอยู่ ยิ่งในระยะยาววัฒนธรรมไทยก็อาจถูกกลืนหาย
ข้อเสียที่ 4 ผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่จะยิ่งได้ประโยชน์ ยิ่งซื้อได้มาก ยิ่งขายได้มาก ยิ่งทำกำไรได้มากเข้าทฤษฏีปลาใหญ่กินปลาเล็ก และกินรวบประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
ตั้งแต่ APEC ก่อตั้งในปี 2532 ไม่รู้ผ่านมากี่รัฐบาลคงมองข้อเสียออก การเตรียมการคงมีไม่น้อย แต่น่าเสียดาย ทุก ๆ รัฐบาลไม่เคยนำวิธีการป้องกันข้อเสียออกสู่สาธารณะจนคนส่วนใหญ่ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ และทำให้คนกลุ่มหนึ่งร่วมต่อต้าน APEC ด้วยการเมือง
หากนำข้อเสียมาต่อต้านแทนการบูลลี่ การล้อเลียน การต่อต้านจะมีคุณค่ามากกว่า อย่างน้อยก็ทำให้รัฐบาลสร้างมาตการป้องกันข้อเสีย ตัวอย่างเช่น
เทคโนโลยีต้องพัฒนาให้เร็วขึ้น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าเทคโนโลยีอื่นต้องได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเอง มิฉะนั้นไทยจะได้แต่ขายสินค้าเกษตรในราคาถูก แต่ซื้อเทคโนโลยีในราคาแพง วัฒนธรรมต้องเชิดชูให้มากกว่านี้ ไม่ปล่อยให้ผิดเพี้ยนตามเศรษฐกิจที่เติบโต และควรมีมาตรฐานเอาจริงกับพ่อค้ารายใหญ่ที่ดูแล้วกำลังกินรวบประเทศไทย
มาตรฐานป้องกันข้อเสียเป็นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันต้องเผยแพร่และเอาจริง แต่หากยังนิ่งเฉยก็ยิ่งทำให้การต่อต้านโยงไปกับการเมือง มีกองทุนต่างชาติร่วมหนุนจนเป็นความวุ่นวาย และทำให้ APEC ขาดเสน่ห์ FTAAP ขาดการรับรู้ในหมู่ประชาชน
มุมที่น่าต้านของ APEC ยังมี เป็นเรื่องที่น่าคิด และเป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการป้องกันข้อเสียควบคู่กับการรับประโยชน์ตามหลักการเศรษฐศาสตร์ที่ต่างฝ่ายต่างรู้ดี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
ปล. 21 เขตเศรษฐกิจของ APEC ประกอบด้วย
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู รัสเซีย และประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 7 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : November 22, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

Shandong Port Group โดยท่าเรือเยียนไถ เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่แบบ ro-ro จากเยียนไถสู่ตะวันออกกลาง

เมื่อเร็วๆ นี้ เรือบรรทุกสินค้า Hamburg Highway ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท KLINE ของญี่ปุ่น ได้ออกจากท่าเรือเยียนไถ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Shandong Port Group มุ่งหน้าไปยังตะวันออกกลาง โดยเรือลำนี้ได้บรรทุกยานพาหนะส่งออกจำนวน 1,137 คัน ทั้งนี้ การเดินเรือในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของเส้นทางการขนเพื่อการค้า แบบ ro-ro (roll-on roll-off) ระหว่างเยียนไถ-ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นเส้นใหม่ นอกจากเส้นทางเยียนไถไปยังเม็กซิโก ภูมิภาคตะวันตกของอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการขนส่งแบบ ro-ro ระหว่างประเทศของท่าเรือเยียนไถ

ท่าเรือเยียนไถมีบทบาทสำคัญในนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)” มีส่วนในการเติบโตขึ้นของธุรกิจยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ในปีนี้ รวมทั้ง สร้างช่องทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ท่าเรือเยียนไถได้พัฒนาเส้นทางขนส่งจากแม่น้ำสู่ทะเลหลายเส้นทาง เพื่อสร้างเส้นทางใหม่ในการขนส่งรอบทะเล Bohai ท่าเรือดังกล่าวยังมีศักยภาพในการเชื่อมต่อกับบริษัทเดินเรือรายใหญ่ทั่วโลก เพิ่มความพยายามในการพัฒนาตลาดอย่างครอบคลุม ย้ำศักยภาพของธุรกิจขนส่งต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ และได้เปิดตัวระบบขนส่งทางน้ำแบบผสมผสานรูปแบบใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟและทางเรือ โดยเรือบรรทุกสินค้า Hamburg Highway เพียงลำเดียว ได้ขนส่งยานพาหนะเพื่อการค้าผ่านท่าเรือที่เชื่อมโยงทางรถไฟ เกือบ 1,000 คัน นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับการบริการที่ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง และยังมีความพยายามในการปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่ง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของท่าเรือเยียนไถ ในขณะเดียวกัน ท่าเรือเยียนไถได้จัดตั้งกลไกการตรวจสอบยานพาหนะตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่ายานพาหนะจะสามารถขนถ่ายได้ทันทีเมื่อมาถึงท่าเรือ โดยใช้หลักการ “หนึ่งเรือ หนึ่งนโยบาย” เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการขนถ่ายและอัตราการใช้ท่าเทียบเรือ และลดระยะเวลาที่เรือจอดที่ท่าเรือ ซึ่งนโยบายเหล่านี้ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากลูกค้า

ท่าเรือเยียนไถเป็นท่าเรือศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญและเป็นท่าเรือฐานส่งออกสำหรับยานยนต์เพื่อการค้าตามแนวชายฝั่งของจีน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปีนี้ สินค้าส่งออกสะสมของท่าเรือได้ขยายตัวจนถึงมากกว่า 40 ประเภท อาทิ รถยนต์ รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกหนัก เครื่องจักรก่อสร้าง ฯลฯ และส่งออกมากกว่า 130 แบรนด์

เรือบรรทุกสินค้าแบบ ro-ro (roll-on roll-off) คือ เรือที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าประเภทที่มี “ล้อ” อาทิ รถยนต์ , รถบรรทุก เป็นต้น

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.