SNP NEWS

ฉบับที่ 563

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

เงื่อนไขการส่งมอบ

“FOB กับ CIF ใน Incoterms เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้”
“แต่ทำอย่างไรที่จะแยกแยะเงื่อนไขอื่นให้จดจำได้ง่ายขึ้น ???”

Incoterms (International Commercial Term of Delivery) หรือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า เป็นสิ่งที่สภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce) จัดทำขึ้นเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันและลดความขัดแย้งระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมากำหนดจุดส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) กันให้ชัดเจน ซึ่งจะเป็นผลให้ราคาสินค้ากำหนดขึ้นได้ถูกต้อง
จุดส่งมอบสินค้าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ปัญหาคือผลประโยชน์นี้ควรเป็นของผู้ใด ?
บางกรณีผู้ขายก็อยากส่งมอบความสะดวกสบายและผลประโยชน์นี้ให้ผู้ซื้อ บางครั้งสินค้าก็มีความยุ่งยากในการเคลื่อนย้ายและติดตั้ง ผู้ขายก็อยากจะดำเนินการส่งมอบและติดตั้งให้ บางกรณีผู้ซื้อมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เชื่อใจได้ดีกว่าก็อยากนำมาดำเนินการเอง
บางกรณี ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต่างก็มีผลประโยชน์แอบแฝงในจุดส่งมอบ ต่างก็อยากรักษาผลประโยชน์เหล่านั้นไว้กับตนเอง เป็นต้น
ผลประโยชน์ต่าง ๆ นานาเหล่านี้อาจเข้าใจกันได้ง่าย อาจมีข้อยุติขณะเจรจาซื้อขายกันง่าย ในทำนองเดียวกันก็อาจสร้างความขัดแย้งกันได้ง่ายไม่ต่างกัน
การกำหนดจุดส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) ให้เป็นสากลจึงให้ความสะดวกในการเลือกใช้ และเป็นการลดความขัดแย้งไปในตัว แต่เพราะเงื่อนไขมีมาก ความเข้าใจอาจไม่ตรงกันง่าย กลายเป็นการเข้าใจผิด ส่งผลให้ความขัดแย้งกลับมาภายหลังการตกลงซื้อขาย
วิธีการทำความเข้าใจง่าย ๆ คือ เงื่อนไขการส่งมอบสินค้าใน Incoterms จะแบ่งจุดส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) ออกเป็น 4 กลุ่ม
เงื่อนไขการส่งมอบของแต่ละกลุ่มอยู่ที่จุดใด จุดนั้นคือ ‘จุดสิ้นสุด’ ค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบของผู้ขาย และกลายเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบของผู้ซื้อแทนที่
การแบ่งกลุ่มทั้ง 4 ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 เป็นจุดส่งมอบสินค้าที่ยังอยู่ ‘ภายในแผ่นดิน’ ของผู้ขาย ผู้ซื้อต้องมอบหมายผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของตนรับสินค้าใน ‘แผ่นดินผู้ขาย’ เอง
เงื่อนไขในกลุ่มขึ้นต้นด้วยตัว E ซึ่งมีเพียง EXW (Ex Works) เท่านั้น
กลุ่มที่ 2 เป็นจุดส่งมอบสินค้าที่อยู่ ‘ขอบแผ่นดิน’ หรือ ‘ขอบประเทศ’ ของผู้ขาย
เงื่อนไขกลุ่มนี้ขึ้นต้นด้วยอักษรตัว F ซึ่งมี 3 ตัวคือ FCA (Free Carrier), FAS (Free Alongside Ship), และ FOB (Free On Board)
กลุ่มที่ 3 เป็นจุดส่งมอบสินค้าที่อยู่ ‘ขอบแผ่นดิน’ หรือ ‘ขอบประเทศ’ ของผู้ซื้อ
เงื่อนไขกลุ่มนี้ขึ้นต้นด้วยอักษรตัว C ซึ่งมี 4 ตัวคือ CFR (Cost and Freight), CIF (Cost Insurance and Freight) CPT (Carriage Paid to) และ CIP (Carriage Insurance Paid to)
กลุ่มที่ 4 เป็นจุดส่งมอบสินค้าที่อยู่ ‘ภายในแผ่นดิน’ ของผู้ซื้อหรืออาจเป็น ‘แผ่นดิน’ ของประเทศอื่นที่การเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็นต้องผ่านประเทศนั้นโดยผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด
เงื่อนไขกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วยอักษรตัว D ซึ่งมี 3 ตัว คือ DAT (Delivered at Terminal), DAP (Delivered at Place), และ DDP (Delivered Duty Paid)
คำว่า ‘ขอบแผ่นดิน’ หรือ ‘ขอบประเทศ’ ผู้ขาย มิได้หมายถึงขอบแผ่นดินที่ต้องติดทะเลเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงสนามบินนานาชาติ ท่าเรือที่กำหนดให้เป็นท่าขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ หรือที่ทำการของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ได้รับอนุมัติอีกด้วย
ส่วนคำว่า ‘Free’ ในกลุ่ม F กลุ่มที่ 2 นี้ หมายถึง จุดที่ปลอดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อโดยผู้ขายเป็นผู้ชำระให้ทั้งหมด
สิ่งที่น่าสังเกตุคือ เงื่อนไขแต่ละกลุ่มจะเริ่มจากหน้าโรงงานผู้ขายก่อน (EXW) จากนั้นก็ค่อย ๆ ไล่ระดับเพิ่มขึ้น อาจมีการผ่านประเทศที่ 3 กระทั่งไปสิ้นสุดที่มือผู้ซื้อ (DDP) หรือที่อดีตเรียกว่า Door to Door
สิ่งที่ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าของไทยควรทราบต่อมาคือ ราคาสินค้าในเงื่อนไขกลุ่มอักษร F ซึ่งมี FCA FAS และ FOB เป็นเงื่อนไขการส่งมอบที่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อจะเริ่มจากขอบแผ่นดินของประเทศผู้ขาย
ดังนั้น ค่าระวางเรือ (Freight) ในกลุ่มเงื่อนไข F ผู้ซื้อเป็นผู้ชำระและเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกเรือบรรทุกสินค้าที่เห็นว่าเหมาะสม หรือเลือกผู้ให้บริการ Logistics ที่ผู้ซื้อเชื่อถือ
แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้นำเข้าสินค้าในกลุ่มราคาเงื่อนไข F นี้ จำนวนหนึ่งกลับปล่อยให้ผู้ขายเป็นผู้จัดเรือ เลือกเรือ เลือกผู้ให้บริการ Logistics โดยผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายปลายทาง (Local Charge) ที่ถูกสั่งเก็บสูงเกินเหตุ หรือรับความวุ่นวายที่ผู้ซื้อควบคุมไม่ได้ทั้ง ๆ ที่สามารถควบคุมได้ตามข้อตกลงโดยการกำหนดผู้ให้บริการ Logistics ตั้งแต่ก่อนการสั่งซื้อสินค้า
เงื่อนไขทั้ง 4 กลุ่ม ใน Incoterms แบ่งโดย ‘แผ่นดิน’ และ ‘ขอบแผ่นดิน’ หรือประเทศของผู้ขาย ประเทศผู้ซื้อ และประเทศที่อาจเป็นทางผ่านเป็นเกณฑ์จึงเป็นความง่ายต่อการจดจำ

แม้จะง่ายขึ้นต่อความเข้าใจและการจดจำแต่ความขัดแย้งก็ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา การรับฟังความคิดเห็นและการปรับปรุงเงื่อนไขโดยสภาหอการค้านานาชาติจึงมีขึ้นทุก ๆ 10 ปี
เงื่อนไขปัจจุบันเป็นชุดปรับปรุงในปี 2010 ซึ่งจะใช้ถึงปี 2020 และคงมีการปรับปรุงใหม่เพื่อใช้ในอนาคตปี 2021 ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมแบบง่าย ๆ พอสังเขปในเงื่อนไขทั้ง 4 กลุ่มที่ขึ้นต้นด้วยอักษรตัว E, F, C, D ประกอบด้วย
EXW (Ex Works) จุุดส่งมอบสินค้า ณ หน้าโรงงานผู้ขาย เงื่อนไขนี้เหมาะกับสินค้าที่ไม่ซับซ้อนในการเคลื่อนย้าย หรือสินค้าที่ต้องรับจากต้นทางหลายแห่งและผู้ซื้อมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในการรวบรวมทำงานให้ เป็นต้น
FCA (Free Carrier) จุดส่งมอบอยู่ ณ ที่ทำการของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศผู้ขายที่ผู้ซื้อกำหนด ผู้ขายต้องชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก่อนหน้าจุดนี้และสิ้นสุดความรับผิดชอบที่จุดนี้ ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบจากจุดนี้เป็นต้นไป
FAS (Free Alongside Ship) จุดส่งมอบสินค้าอยู่ข้างเรือ หน้าท่า หรือในเรือลำเลียงก่อนที่จะนำขึ้นเรือขนส่งสินค้า เงื่อนไขนี้มักใช้กับการขนส่งทางน้ำที่อยู่ในแผ่นดินผู้ขายก่อนจะนำขึ้นเรือขนส่งสินค้าทางทะเล
FOB (Free On Board) จุดส่งมอบสินค้าอยู่ในเรือหรือดาดฟ้าเรือขนส่งสินค้าทางทะเล
CFR (Cost and Freight) จุดส่งมอบอยู่ ณ ท่าเรือในประเทศผู้ซื้อ โดยผู้ขายชำระค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเล (Freight) ให้แก่ผู้ซื้อด้วย
CIF (Cost Insurance and Freight) จุดส่งมอบอยู่ ณ ท่าเรือในประเทศผู้ซื้อเหมือน CFR สิ่งที่เพิ่มเติมคือ ผู้ขายเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ
CPT (Carriage Paid to) จุดส่งมอบสินค้าเหมือน CIF สิ่งเพิ่มเติมคือ สถานที่ส่งมอบให้เข้าไปใน ‘แผ่นดิน’ ผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสถานที่ของผู้ให้บริการขนส่งที่อาจใช้เพื่อการเก็บรักษาหรืออาจใช้เพื่อแผนการส่งออกไปขายต่อยังประเทศอื่นในอนาคต เป็นต้น
CIP (Carriage Insurance Paid to) จุดส่งมอบเหมือน CPT สิ่งที่เพิ่มเติมคือ ผู้ขายต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยสินค้าให้แก่ผู้ซื้อด้วย
DAT (Delivered at Terminal) จุดส่งมอบสินค้าเหมือน CIF แต่เพิ่มขึ้นคือ สถานที่ส่งมอบสินค้าอยู่ใน ‘แผ่นดิน’ ที่เป็นท่าเทียบเรือ สถานีรถไฟ คลังสินค้าในสนามบินประเทศหนึ่งซึ่งอาจไม่ใช่ประเทศผู้ซื้อเพื่อทำการขนถ่ายไปยังประเทศผู้ซื้อ DAT จึงเหมาะแก่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบผสมกัน (Multi-Modal Transport)
DAP (Delivered at Place) จุดส่งมอบสินค้าเหมือนกับ DAT เพียงแต่เปลี่ยนจากสถานที่ส่งมอบสินค้าแทนที่จะเป็นท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสนามบินมาเป็นสถานที่อื่นใน ‘แผ่นดิน’ ที่อาจไม่ใช่ประเทศผู้ซื้อก็ได้ตามที่ผู้ซื้อกำหนดเพื่อเตรียมขนถ่ายไปยังประเทศผู้ซื้อ
DDP (Delivered Duty Paid) จุดส่งมอบสินค้าเหมือนกับ DAT คือรุกคืบเข้าใน ‘แผ่นดิน’ ผู้ซื้อโดยเป็นสถานที่ทำการ หรือโรงงานของผู้ซื้อตามที่ผู้ซื้อกำหนดซึ่งอาจผ่านประเทศที่ 3 หรือไม่ผ่านก็ได้เช่นกัน
เงื่อนไขการส่งมอบสินค้า Incoterms กลุ่ม D นี้มักใช้กับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-Modal Transport) หรืออาจรุกคืบผ่านประเทศที่ 3 ก่อน เพื่อรุกคืบเข้าไปในแผ่นดินของผู้ซื้อก็ได้เช่นกัน
การอธิบายแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ พอสังเขปนี้ บางครั้งก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน การอ่านรายละเอียดทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า ผู้สนใจสามารถหาอ่านทั้งหมดได้ในเว็บของกรมศุลกากรที่ http://www.customs.go.th/content.php? หรือเว็บอื่น ๆ ที่มีในปัจจุบัน
เงื่อนไขการส่งมอบสินค้า (Term of Delivery) ใน Incoterms เป็นตัวกำหนดจุดส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) เป็นตัวชี้ภาระความรับผิดชอบ และราคาซื้อขายสินค้าผู้ที่นำเข้าและผู้ส่งออกของไทยควรมีความเข้าใจพื้นฐานอย่างเป็นสากล
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร