SNP NEWS

ฉบับที่ 538

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

Local Charge

อะไรคือข้อแตกต่าง ???

การค้าระหว่างประเทศ VS การค้าภายในประเทศ

การค้าประกอบด้วยสินค้า ผู้ซื้อ ผู้ขาย และการเจรจาตกลงกันในเรื่องเงื่อนไขการชำระเงิน เงื่อนไขการส่งมอบสินค้า และเงื่อนไขอื่น ๆ อีกมาก

การค้าภายในประเทศอาจมีข้อขัดแย้งกันบ้างแต่ไม่มาก เนื่องจากภาษาและวัฒนธรรมมักเป็นไปในแนวทางเดียวกัน หากจะมีข้อขัดแย้งบ้าง แต่สุดท้ายการตกลงประณีประนอมกันก็ไม่ใช่เรื่องยาก

มันต่างจากการค้าระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ภาษาเป็นอุปสรรคหนึ่งล่ะ วัฒนธรรมการซื้อการขายก็แตกต่างอีก หนำซ้ำยังมีเรื่องการผ่านศุลกากรตอนออกและเข้าแต่ละประเทศอีก

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศแตกต่างจากการค้าภายในประเทศอย่างสิ้นเชิง

ข้อแตกต่างเหล่านี้จึงทำให้องค์การการค้าโลก WTO (World Trade Orginzation) และองค์การศุลกากรโลก WCO (World Customs Organization) ต้องเข้ามาจัดระเบียบด้วยการทำเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อป้องกันปัญหา

แม้จะมีการทำข้อตกลงที่ผูกพันระหว่างประเทศแล้วก็ตาม แต่ระหว่างคนซื้อกับคนขายสินค้าระหว่างประเทศก็มักมีฝ่ายหนึ่งที่รู้มากกว่า กับอีกฝ่ายหนึ่งที่รู้น้อยกว่าหรืออาจไม่รู้เลยจนตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจนได้

ตัวอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ คือการซื้อสินค้าเพื่อนำเข้าด้วยเงื่อนไขราคา F.O.B. นี่เอง
การนำเข้าในราคา F.O.B. (Free On Board) หมายความว่าคนขายมีหน้าที่จัดหาสินค้า เคลื่อนย้ายสินค้ามายังท่าเรือส่งออก จัดทำพิธีการศุลกากรเพื่อการส่งออก นำสินค้าขึ้นเรือบรรทุกสินค้าที่ท่าเรือต้นทาง และชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (Local Charge) ที่เกี่ยวกับการส่งออกภายในประเทศผู้ส่งออก ราคา F.O.B. ได้รวมสิ่งเหล่านี้ไว้หมดแล้ว

เมื่อเรือสินค้าเดินทางมาถึงประเทศไทย ผู้นำเข้าก็จะเป็นผู้ชำระค่าระวางเรือบรรทุกสินค้าและค่าใช้จ่ายในประเทศผู้นำเข้าเอง

ข้อตกลงลักษณะนี้ก็ดูแฟร์ ๆ และเข้าใจง่ายดี ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน

ผู้ใดเป็นผู้ชำระค่าชำระค่าระวางเรือ (Freight) ผู้นั้นก็ย่อมมีสิทธิ์เลือกสายการเดินเรือที่ตนเชื่อมั่นซึ่งในกรณีการซื้อแบบ F.O.B. ก็คือผู้นำเข้าของไทย

การเลือกสายการเดินเรือย่อมส่งผลให้เลือกท่าเทียบเรือเทียบท่าที่สะดวกต่อการนำเข้าได้อีกด้วย นี่คือสิ่งปกติธรรมดา

แต่สิ่งที่ไม่ปกติธรรมดาก็เกิดขึ้นจนได้

ผู้ขายสินค้าต่างประเทศบางราย บางประเทศ ผู้มีลูกเล่นแพรวพราวซึ่งอาจเกิดจากความรู้ที่มากกว่า หรือการมีตัวแทน Logistics ที่มีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่า

เรื่องที่ไม่ปกติธรรมดาจึงมีให้เห็น

ปัจจุบัน ผู้นำเข้าของไทยบางท่านอาจพบผู้ขายต่างประเทศขายสินค้าในราคา F.O.B. แต่พยายามเสนอสายการเดินเรือเองให้ผู้ซื้อของไทยเลือกทั้ง ๆ ที่ผู้ซื้อของไทยเป็นผู้ชำระค่าระวางเรือ (Freight)

ผลตามมาที่อาจไม่สังเกตุคือ

เมื่อเรือเทียบท่าในประเทศไทย ค่าระวางเรือ (Freight) ที่ผู้ซื้อของไทยต้องชำระพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ภายในประเทศไทยกลับบวกค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ (Local Charge) ที่เกี่ยวกับการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกเข้าไปด้วยโดยผู้ซื้อของไทยไม่รู้ตัว

พฤติกรรมเช่นกันมักเกิดจากผู้ขายต่างประเทศบางราย บางประเทศเท่านั้นจึงเป็นเล่ห์เหลี่ยมที่ผู้ซื้อสินค้าของไทยควรระวัง

ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งเมื่อผู้ซื้อสินค้าของไทยปฏิเสธที่จะใช้สายการเดินเรือที่ผู้ขายเสนอให้ ผู้ซื้อก็อาจได้รับข้อเสนอค่าระวางเรือจากผู้ขายที่ถูกกว่าปกติพอสมควร

การเสนอขายสินค้าพร้อมค่าระวางเรือนี้ก็คือการเปลี่ยนราคาสินค้าจาก F.O.B. (Free On Board) มาเป็น CFR (Cost and Freight) นั่นเอง

ราคาค่าระวาง (Freight) ที่ต่ำกว่าปกติพอสมควรก็จะกลับเข้ากรณีเดิมคือ ค่าธรรมเนียม (Local Charge) ที่เกิดขึ้นในประเทศผู้ขายจะถูกผลักภาระมายังผู้ซื้อตอนที่จะไปรับเอกสารปล่อยสินค้า หรือ D/O (Delivery Order) อีกเช่นกัน

ขอย้ำว่า พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นจากผู้ขายบางราย และบางประเทศเท่านั้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อสินค้านำเข้าของไทยควรทราบเพื่อการควบคุมต้นทุน Logistics ที่ดีต่อไป
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

พาณิชย์ จับมือกองทุนหมู่บ้านฯ จัดตั้งโลจิสติกส์ชุมชน เพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับมอบหมายให้เร่งดำเนินการสร้างรายได้เสริมให้แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) และคนในท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเน้นให้ใช้ทรัพยากรหรือเครื่องมือทำมาหากินที่มีอยู่แล้วเพื่อเป็นการเสริมรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของภาคครัวเรือนในประเทศ เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเกิดการหมุนเวียน

ทั้งนี้ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ และคนในท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีรถกระบะสภาพดีและประสงค์ที่จะหารายได้เสริม เนื่องจากรถกระบะเป็นทรัพย์สินและเครื่องมือทำมาหากินที่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ และคนในท้องถิ่นมีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาหรือซื้อเพิ่มเติมแล้วสามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวเพิ่มขึ้น โดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติจะเป็นผู้รวบรวมสมาชิกเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า เบื้องต้นจะเน้นการให้บริการขนส่งสินค้าระยะใกล้หรือเฉพาะในพื้นที่ (Community Transportation) ก่อน หรือในพื้นที่ที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายอื่นเข้าไม่ถึง หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานและนำผลที่ได้มาพัฒนาการให้บริการเพื่อครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น สินค้าที่รับขนส่งจะเน้นที่สินค้าโอทอป สินค้าชุมชน สินค้าเกษตร และสินค้าเอสเอ็มอี ก่อนเป็นลำดับแรก โดยมอบหมายให้กรมการค้าภายในเชื่อมโยงความต้องการขนส่งสินค้าในพื้นที่ เช่น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ฟาร์มเอ้าท์เล็ท สินค้าโอทอป กลุ่มเกษตรกร บริษัทประชารัฐสามัคคี จำกัด และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคธุรกิจในการใช้แพลตฟอร์มกลางในรูปแบบแอพพลิเคชั่นเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการ (สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ และคนในท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของรถกระบะ) กับผู้ที่ต้องการใช้บริการขนส่ง โดยทำหน้าที่จับคู่เพื่อให้บริการมีความสมบูรณ์และสะดวกรวดเร็ว เมื่อมีผู้ต้องการใช้บริการระบบจะแจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่ผู้รับบริการต้องการขนส่งสินค้า เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิง และสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วทันเวลา รวมถึงการจัดทำระบบและวิธีชำระเงินให้สะดวก ปลอดภัย และยุติธรรม ทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยแพลตฟอร์มกลางนี้จะมีระบบที่ใช้งานได้ง่าย ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน สะดวก รวดเร็ว ผู้ที่ไม่ถนัดในการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ก็สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า โครงการโลจิสติกส์ชุมชนน่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เนื่องจาก 1) ผู้ให้บริการมีความชำนาญในเส้นทางพื้นที่จังหวัดที่ให้บริการ 2) มีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 3) มีระบบการติดตามและตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ 4) ผู้ใช้บริการได้รับสินค้าครบถ้วนและถูกต้องภายในเวลาที่เหมาะสม และ 5) ราคาการให้บริการมีความสมเหตุสมผล ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ เป็นต้นไป และจะเริ่มนำร่องในจังหวัดใหญ่ที่มีธุรกิจเป็นจำนวนมากก่อน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา เป็นต้น

ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจัดตั้งแล้วทั้งสิ้น 79,595 กองทุน จำแนกเป็น (1) กองทุนหมู่บ้าน จำนวน 75,000 กองทุน (2) กองทุนชุมชนเมือง จำนวน 3,857 กองทุน (3) กองทุนชุมชนทหาร จำนวน 738 กองทุน ทั้งนี้ เป็นกองทุนหมู่บ้านฯ ที่จัดตั้งระหว่างปี 2544-2557 จำนวน 79,255 กองทุน และเป็นกองทุนชุมชนเมืองจัดตั้งใหม่ ระหว่างปี 2558-2560 จำนวน 340 กองทุน

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/iq03/2905403