SNP NEWS

ฉบับที่ 537

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ตู้เสียเวลา


ตู้ Container เสียเวลา
ทำให้เกิดค่าเสียเวลาตู้ซึ่งเป็นต้นทุน Logistics ที่เพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรดี ???

ค่าเสียเวลาตู้ Container คำนี้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกบางท่านอาจคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี ขณะที่บางคนอาจงง ๆ หรือไม่รู้จักเอาเสียเลย
บางท่านอาจงงมากยิ่งขึ้น เมื่อต้องถูกเรียกเก็บค่าเสียเวลาตู้ Container โดยแสดงแยก 2 รายการคือ Demurage Charge และ Detention Charge
ทั้ง 2 รายการนี้ หมายถึง ค่าเสียเวลาตู้ Container เหมือนกัน แต่ทำไมต้องแยก ???
ค่าเสียเวลาตู้คือ ค่าธรรมเนียมที่เจ้าของตู้ Container ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมักเป็นตัวแทนเรือบรรทุกสินค้าผู้รับขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกเรียกเก็บจากผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก
ค่าเสียเวลาตู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก ไม่นำสินค้าออกจากตู้ Container หรือไม่นำตู้คอนเทนเนอร์มาคืนภายในเวลากำหนดจนเป็นเหตุให้เจ้าของตู้ Container เสียโอกาส เสียรายได้ที่จะใช้ประโยชน์จากตู้ Container นั้น

กรณีนำเข้า
เมื่อสินค้าที่บรรจุในตู้ Container ได้ส่งมอบให้คลังสินค้า ณ ท่าเรือนำเข้าแล้ว ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรและนำสินค้าออกจากตู้ Container หรือลากออกไปเพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้ ณ ที่ทำการของผู้นำเข้าภายในเวลากำหนด
กรณีที่ตู้ Container ไม่สามารถนำออกไปได้ ค่าเช่าพื้นที่ในคลังสินค้า ในท่าเรือ และค่าเสียโอกาสอื่นย่อมเกิดขึ้น ผู้นำเข้าจึงเรียกเก็บค่า Demurage Charge
Demurage Charge จึงหมายถึง ค่าเสียเวลาที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด
ขณะเดียวกัน หากผู้นำเข้าลากตู้ Container ออกไปเพื่อขนถ่ายสินค้า ณ ที่ทำการของผู้นำเข้าแต่ไม่นำตู้ Container เปล่ากลับมาคืนเจ้าของภายในเวลากำหนด ผลก็ทำให้เจ้าของตู้เสียโอกาสการนำตู้นั้นไปใช้ประโยชน์อีก
กรณีนี้ ผู้นำเข้าเป็นผู้หน่วงเหนี่ยวตู้ไว้ จึงต้องชำระค่า Detention Charge
Dentention Charge จึงหมายถึง ค่าเสียเวลาที่เกิดจากการกักตู้ไว้ หรือหน่วงเหนี่ยวตู้ไว้นั่นเอง
ดังนั้นในการนำเข้า ค่าเสียเวลาตู้จึงอาจเกิดได้ถึง 2 กรณีข้างต้น

กรณีการส่งออก
เมื่อผู้ส่งออกลากตู้ Container ออกไปเพื่อบรรจุสินค้าเข้าตู้ ณ ที่ทำการของผู้ส่งออกเอง ผู้ส่งออกก็ต้องนำตู้ Container มาคืนให้แก่เจ้าของตู้ หรือผู้ประกอบการขนส่ง
กรณีผู้ส่งออกไม่สามารถบรรจุสินค้า และนำตู้ Container มาคืนได้ภายในเวลากำหนด ผู้ส่งออกก็จะอยู่ในสถานะผู้หน่วงเหนี่ยวตู้ซึ่งต้องชำระค่า Detention Charge อีกเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ผู้ส่งออกนำสินค้าขึ้นรถบรรทุกมาบรรทุก ณ สถานีบรรจุตู้ Container ของเรือหรือของผู้ประกอบการขนส่ง กรณีนี้ผู้ส่งออกก็ย่อมปลอดภัยจากค่าเสียเวลาตู้ทุกรูปแบบ

การเก็บค่าเสียเวลาตู้ Container ไม่ว่าจะเป็น Demurage หรือ Detention Charge เป็นเรื่องที่เจ้าของตู้ Container กำหนดขึ้นในฐานะเอกชนที่ได้รับความเสียหาย
ในเมื่อเป็นเอกชน การเจรจาต่อรองก็สามารถทำได้
ดังนั้น หากผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกสามารถคาดการล่วงหน้าว่าอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตู้เสียเวลา เช่น อาจต้องกักหรือหน่วงเหนี่ยวไว้ ก็ควรเจรจาขอเพิ่มวันเสียเวลาไว้ล่วงหน้า
การเจรจาล่วงหน้าย่อมทำให้เจ้าของตู้ Container สามารถวางแผนการจัดตู้อื่น ๆ เพื่อทดแทนตู้ที่ต้องเสียเวลาได้ดีกว่า และอาจเป็นการทำให้ต้นทุน Logistics ไม่เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

นายกฯ หารือรมว.ต่างประเทศปานามา หนุนความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ ศึกษาพัฒนาท่าเรือใน EEC เชื่อมโยงท่าเรือปานามา
 
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลหารือระหว่าง นางอิซาเบล เด เซนต์ มาโล เด อัลบาราโด (H.E. Mrs. Isabel de Saint Malo de Alvarado) รองประธานาธิบดีและ รมว.ต่างประเทศ ปานามา ที่เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่รองประธานาธิบดีและ รมว.ต่างประเทศ ปานามา เดินทางเยือนไทย ซึ่งนับเป็นการเยือนระดับสูงที่สุดตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

พร้อมระบุว่า ไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะโครงการ EEC ไทยทราบว่า คลองปานามาถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงการส่งสินค้าเข้าสู่ลาตินอเมริกา และมีการต่อยอดพัฒนา Colon Free Zone ทำให้ปานามาเป็นศูนย์พาณิชยกรรมการเดินเรือและกระจายสินค้า จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมมือกันเพื่อเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าจากอาเซียนเข้าสู่ลาตินอเมริกา และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงท่าเรือในเขต EEC กับท่าเรือปานามา ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อาทิ ด้านการบริหารจัดการ และแนวทางและวิธีการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

นอกจากนี้ ในปี 2562 ไทยจะได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนที่มุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อทั้งภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมไปกับการกระชับความร่วมมือกับภาคีภายนอก เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าน่าจะใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียนกับประเทศในลาตินอเมริกา รวมทั้งปานามา โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัล เพื่อเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่เป็นประโยชน์สำหรับภาคเอกชนสองฝ่าย

ขณะที่รองประธานาธิบดี ปานามาฯ กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เยือนไทย พร้อมระบุว่า ไทยและปานามาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมากว่า 36 ปี โดยปานามาพร้อมกระชับความร่วมมือกับไทยอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนสองฝ่าย อันเป็นพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

การเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและได้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยถือเป็นประเทศที่สวยงาม และมีแหล่งท่องเที่ยวงดงามเป็นจำนวนมาก และประสบความสำเร็จในด้านการท่องเที่ยว จึงหวังที่จะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยในด้านนี้ รวมถึงความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปานามาพร้อมเป็นประตูสู่ภูมิภาคละตินอเมริกาแก่ไทย