SNP NEWS

ฉบับที่ 540

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

FORM E by CCPIT

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะผู้ซื้อสินค้าจากจีนต่างทราบดีว่า จีนและอาเชียนมีข้อตกลงทางการค้าเสรีหรือ FTA ร่วมกัน

ผลของข้อตกลง FTA ทำให้ผู้ซื้อสินค้าและนำเข้าจากจีนเข้ามาต้องร้องขอใบรับรองเมืองกำเนิด (Certificate of origin) ประเภท Form E ที่ออกโดยรัฐบาลจีนเพื่อนำมายื่นต่อกรมศุลกากรในการขอยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีการประกาศไว้เป็นการล่วงหน้า

หน่วยงานของจีนที่ได้รับมอบหมายให้ออกใบรับรองเมืองกำเนิด Form E นั้น คือศุลกากรของจีน แต่ที่ผ่านมาก็มีผู้นำเข้าของไทยบางรายได้รับ Form E ที่ว่านี้แต่ออกโดย CCPIT (China Council for the Promotion of International Trade) ที่จะประทับตรา ICC (International Chamber of Commerce) บนมุมขวาของ Form E มาแทนที่

ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นคือ Form E ที่มิได้ออกโดยศุลกากรจีน แต่ออกโดย CCPIT ที่เป็นหน่วยงานของจีนเหมือนกันนั้น สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการยกเว้นอากรขาเข้าที่ศุลกากรไทยได้หรือไม่ ???

บริษัท เอส. เอ็น. พี. ชิปปิ้ง กรุ๊ป จำกัด ในฐานะตัวแทนออกของระดับ AEO ได้มีหนังสือขอหารือข้อสงสัยดังกล่าวในเรื่องสิทธิ์และสีของ Form E ที่ออกโดย CCPIT เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยกรมศุลกากรได้มีหนังสือที่ กค. 0518/16810 ลว. 6 พฤศจิกายน 2561 เพื่อตอบข้อสงสัย ดังนี้

Quote

“กรมศุลกากรขอเรียนว่า ในปัจจุบันหน่วยงานที่มีอำนาจในการออก Form E ของจีนประกอบด้วยศุลกากรและ CCPIT ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 8 (ก)-(ข) ในระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (เอกสารแนบ ก ของประกาศกรมศุลกากรที่ 159/2560 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560) ที่ได้มีการกำหนดถึงรูปแบบและสีของ Form E กล่าวคือ แต่ละหน้าของ Form E จะต้องมี 14 ช่องตามเอกสารแนบ ค ของประกาศกรมฯ และสีของต้นฉบับ Form E จะต้องมีสีน้ำตาลอ่อน ดังนั้น การที่ต้นฉบับของใบแนบของ Form E ที่ออกโดย CCPIT มีรูปแบบและสีแตกต่างจากกฎระเบียบดังกล่าว จึงไม่อาจนำมาใช้สำหรับการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสำหรับความตกลงการค้าเสรีอาเชียน-จีนได้”

Unquote

ผลจากหนังสือตอบการหารือของกรมศุลกากรสรุปได้ดังนี้

    1.  ใบรับรองเมืองกำเนิด Form E ที่ออกโดย CCPIT สามารถนำมาใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรตามข้ดตกลง FTA ได้
    1.  รูปแบบของ Form E ต้องมี 14 ช่อง และสีของ Form E ที่ออกโดย CCPIT : ต้นฉบับต้องเป็นสีน้ำตาลอ่อน (light brown) เท่านั้น หากเป็นสีอื่นไม่สามารถนำมาใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรได้
    1.  Form E ที่ออกโดยหน่วยงาน CCPIT และมีใบแนบ (Attachment) เป็นสีเขียวอ่อน (light green) มาด้วย ใบแนบนี้โดยหลักการแล้วไม่ใช่ต้นฉบับ (Original) หากมีรายการเกินจากต้นฉบับใบเดียว จะต้องใช้ต้นฉบับใบอื่น ๆ พิมพ์รายการให้ครบถ้วน จะใช้ใบแนบ ที่มีสีเขียวอ่อนพิมพ์รายการเพิ่มไม่ได้  
    1. ระเบียบปฎิบัติของ Form E ที่ออกโดยหน่วยงาน CCPIT  ให้บังคับใช้ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 159/2560 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560

ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งการนำเข้า การส่งออก และ Logistics พึงทราบ หรืออย่างน้อยก็สามารถปรึกษาร่วมกับตัวแทนออกของเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

หมายเหตุ:  Form E ซึ่งออกโดย CCPIT 1 ชุดจะประกอบด้วย ต้นฉบับ (original) สีน้ำตาลอ่อน (light brown) ใบแนบ (attachment) สีเขียวอ่อน (light green) และสำเนา (duplicate) สีเขียวอ่อน (light green)

LOGISTICS

กทท. เปิดโครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO)

 
คุณไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศ พัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rai Transfer Operator : SRTO) รองรับการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบรางที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนเป็นทางรางและทางน้ำ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะ ลดต้นทุนการขนส่ง และทำให้สัดส่วนการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ โดยมี ร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง คุณสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ร่วมเป็นเกียรติและให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ทลฉ. โครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) เป็นการพัฒนาระบบการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟหลังจากโครงการรถไฟทางคู่เปิดบริการ ให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะมาใช้บริการมากขึ้นระดับ 2.0 ล้านทีอียูต่อปี รองรับตู้สินค้าจากลาดกระบังถึง มีโครงสร้างพื้นฐานหลักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ได้แก่ รางรถไฟพวงราง 6 ราง ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และชุด C พื้นที่ประมาณ 600 ไร่ มีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้า 28,000 ทีอียู แต่ละรางมีความยาวในช่วง 1,224 – 1,434 เมตร สามารถจอดขบวนรถไฟได้รางละ 4 ขบวน รวมเป็น 8 ขบวน รองรับและเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของรฟท. จากสถานีรถไฟแหลมฉบังเข้าสู่พื้นที่โครงการระยะทางประมาณ 4.3 กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดพิเศษสามารถทำงานคล่อมรางรถไฟทั้ง 6 รางในเวลาเดียวกันและขนถ่ายตู้สินค้าได้พร้อมกัน โดย กทท. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมดรวมถึงบริหารประกอบการ ใช้งบประมาณลงทุน 1,926 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายไปยังโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ด้วย เพื่อแก้ปัญหาความแออัดการขนส่งสินค้าทางถนน ลดมลภาวะ ลดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเน้นย้ำนโยบายการขนส่งที่ไร้รอยต่อของรัฐบาล