CEO ARTICLE

ใครก็ได้


Follow Us :

    

“ … … ใครก็ได้ สำหรับคนใจช้ำอย่างฉัน จะเป็นใคร ไม่สำคัญ … เพียงให้เขานั้นปลอบใจฉันได้ เขาจะมีรัก จะมีความหลังฝังใจกับใคร ฉันไม่ใส่ใจขอเพียงแต่ให้เขารักฉันจริง … ”
เพลงข้างต้นชื่อ “ใครก็ได้ที่รักฉันจริง” เนื้อร้องแต่งในปี 2512 โดยครูพรพิรุณนำชีวิตจริง ที่พบความรักและความผิดหวังมาแต่ง ในตอนนั้นเพลงนี้ขับร้องโดยคุณรวงทอง ทองลั่นธม
ที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/prisanasweetsong/2010/04/27/entry-1
ใครจะไปรู้ว่าเพลงนี้ในปัจจุบันได้สะท้อนสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ต่างกัน

หลังการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนหนึ่งคาดหวังให้บุคคลที่ตนเองเชียร์ได้เสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล อีกส่วนไม่ได้คาดหวังมาก ขอเพียง “ใครก็ได้” มาเป็นรัฐบาลที่ดี
“ใครก็ได้” มาเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานงานโดยมีเป้าหมายคือ “ความสุขของประชาชน” ท่ามกลางความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ
สหรัฐกับจีน เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น เกาะฮ่องกงกับจีนซึ่งเป็นประเทศแม่ตัวเอง เหตุการณ์ในตะวันออกกลาง ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่น ๆ อีกมาก
ปัญหาระดับโลกต่าง ๆ นานาเหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยแย่ลงซึ่งดูได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ลดลง ความพยายามอัดฉีดเงินของรัฐบาลไปสู่ประชนชนให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และความพยายามส่งเสริมการลงทุนในโครงการมหึมา
ปัญหาระดับโลกถือเป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่ยากต่อการควบคุม
ตรงกันข้ามปัญหาภายในประเทศเป็นปัจจัยที่น่าจะควบคุมได้ง่ายกว่า ตอนเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2562 นักการเมืองทุกพรรคต่างก็อาสาเข้ามา มีการอ้างประชาชน ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนเพื่อให้ได้คะแนนเสียง
ประชาชนได้ยินได้ฟังต่างก็หลงดีใจ มีความหวัง จากนั้นก็เลือกคน เลือกพรรคที่ตนนิยม
หลังเลือกตั้ง “ใครก็ได้” ที่รวบรวมเสียงข้างมากไปจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็เดินหน้าประเทศไป ฝ่ายที่เสียงข้างน้อยก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ
มันแค่นั้น แค่นั้นจริง ๆ
แต่ภาพที่เห็นในวันนี้คล้ายสงครามไม่มีวันจบสิ้น คล้ายการทะเลาะไม่มีวันเลิกลา เกือบทุกตารางนิ้วของข่าวมีแต่ข่าวความขัดแย้ง บ้างก็ข่าวเท็จ บ้างก็ข่าวความเกลียดชังนับไม่ถ้วน
เท่าที่เห็นจากสื่อ ฝ่ายหนึ่งสร้างวาทกรรมให้เกลียดชัง อีกฝ่ายก็สร้างวาทกรรมให้เกลียดชัง ฝ่ายหนึ่งกล่าวหาว่า “คุณทำ” อีกฝ่ายก็กล่าวหาว่า “คุณนั่นล่ะทำ”
แทนที่จะช่วยกันทำเพื่อประชาชน แต่ฝ่ายหนึ่งกลับอยากให้สถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจเลวร้ายลงเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือโจมตี อีกฝ่ายก็นำมาโจมตีว่า “คุณนั่นล่ะที่ทำให้เลวร้ายลง” เศรษฐกิจที่แย่ลงอยู่แล้วจากได้รับผลกระทบจากต่างประเทศก็ยิ่งแย่ลงไปอีก ประชาชนที่เคยใหญ่โตได้แต่มองข่าวคล้ายเป็นเพียงตัวประกัน
อะไรก็ตามหากได้ผลดีก็ว่า “นี่ผลงานของเรา” หากไม่ได้ผลดีก็ว่า “นี่คือสิ่งที่คุณทำ”
ฝ่ายหนึ่งถูกกล่าวหาว่าล้ำเส้นเกินกว่ากฎหมาย อีกฝ่ายก็ถูกกล่าวหาว่าล้ำเส้นกฎหมายไม่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งร้องต่อศาลให้ตัดสินความ อีกฝ่ายก็ร้องต่อศาลให้ตัดสินความ
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนแอบอ้าง เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วความขัดแย้งก็น่าจะยุติลง
เมื่อศาลตัดสินแล้ว ทุกอย่างก็ต้องจบ แต่สุดท้ายศาลและกระบวนการยุติธรรมก็ถูกลากมาทำลายความน่าเชื่อถือ
“คุณนั่นล่ะเป็นผู้ทำลาย” ฝ่ายหนึ่งกล่าวหา อีกฝ่ายก็กล่าวหาไม่ต่างกัน
หลายเรื่อง หลายราวดูไปก็คล้ายละครหลายฉากหลังข่าว ผู้ร้ายที่เห็นกันอยู่หลัด ๆ อาจกลายเป็นพระเอกก็ได้ แล้วพระเอกที่เห็นโดดเด่นอยู่หน้าจอก็อาจกลับไปเป็นผูุ้ร้ายแทนก็ได้
ในหนัง ในละครบางเรื่องกว่าจะดูออกใครพระเอก ใครผู้ร้ายกันแน่ ก็ปาเข้าท้ายเรื่อง ในการเมืองก็ไม่ต่างกัน กว่าประชาชนจะดูออก บางคนก็ปาเข้าไปท้ายชีวิตแล้ว
หากประชาชนเข้าใจความเป็นจริงข้อนี้ สิ่งที่น่าจะสรุปได้คือ “ใครก็ได้” ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างการกินดีอยู่ดีให้ประชาชนเข้ามาทำงานการเมือง
“ใครก็ได้” ที่ไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่ก่อความวุ่นวาย ใครก็ได้เข้ามาปลอบใจคล้ายเนื้อเพลงข้างต้น
แต่วันนี้สำหรับประเทศไทยกลับไม่ใช่ นักการเมืองไม่ช่วยกันเพื่อประชาชนแต่กลับเป็นผู้สร้างความขัดแย้งและความวุ่นวายเสียเอง
ทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนรู้ ให้เข้าใจ และไม่ตกเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองเหล่านั้นนำพาไปเป็นเครื่องมือเหมือนอย่างที่ต่างประเทศกำลังประสบอยู่
คนที่พอจะเข้าใจควรช่วยกันอธิบาย คนที่อธิบายไม่เก่งก็ควรช่วยกันแชร์ “ใครก็ได้” ให้ประชาชนเข้าใจเพื่อดึงประชาชนให้ถอยห่าง ดึงประชาชนให้จดจำนักการเมืองที่สร้างความขัดแย้งและความวุ่นวายไม่รู้จบ เพื่อมิให้เลือกนักการเมืองแบบนั้นให้กลับเข้ามาอีก
วันนี้ พ.ศ. นี้ จะเป็น “ใครก็ได้” จริง ๆ สำหรับประชาชนที่บอบช้ำจากพิษเศรษฐกิจตามเนื้อเพลงข้างต้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

อิหร่านวางแผนใช้โอมานเป็นประตูการค้าแทนยูเออี

ก่อนหน้านี้ประเทศอาหรับเอมิเรตส์เป็นศูนย์กลางการค้าในระดับภูมิภาคตะวันออกกลาง และเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าหลักของอิหร่านมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี โดยในแต่ละปีอิหร่านทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ผ่านทางยูเออีในอัตราส่วนที่สูงมาก อย่างไรก็ตามหลังจากมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับอิหร่าน ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และประเทศตะวันตกปฎิบัติตามคำสั่งของสหรัฐฯ โดยยูเออีได้ออกมาตรการและระเบียบ รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการโอนเงิน การทำการค้าและการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน ส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางการค้ากับบริษัทของอิหร่านที่ทำการค้าและที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศยูเออี ทำให้บริษัทอิหร่านเหล่านี้ (ประมาณ 3-5 หมื่นราย) ทะยอยย้ายกิจการและสำนักงานไปที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน และกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์แทน ซึ่งในปัจจุบันยอดสถิติการค้าของอิหร่านผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการมีปัญหาขัดแย้งด้านการเมืองในภูมิภาค รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซีย ที่ทำให้นักธุรกิจอิหร่านย้ายฐานการค้าออกจากยูเออีแล้วกว่าร้อยละ 80

โอมานถือเป็นประตูการค้าที่เชื่อมโยงกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (จีซีซี) ที่มีสมาชิก 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเป็นประตูการค้าที่สามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดตะวันออกกลางและตลาดแอฟริกาได้ โอมานแม้จะเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) แต่ก็มีจุดยืนทางการทูตที่อิสระ ต่างจากอีก 5 ชาติอาหรับในภูมิภาค และมีความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะท่าทีทางการเมืองและการทูตซึ่งถือว่ามีระดับความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีต่ออิหร่าน

เมื่อวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง การทูต และสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศโอมาน เปรียบเทียบกลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ กับท่าทีที่มีต่ออิหร่านพบว่า ประเทศโอมานมีจุดยืนทางการเมืองที่ขัดแย้งกับอิหร่านน้อยกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค เป็นประเทศพันธมิตรที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ สามารถเป็นฐานส่งออกสินค้าใหม่ และ Re- export สินค้าสำหรับอิหร่านแทนที่ยูเออี

ศักยภาพและข้อได้เปรียบของประเทศโอมาน
1) มีระยะทางใกล้กับอิหร่าน สะดวกต่อการขนส่งสินค้าและการทำธุรกิจ ประหยัดเวลาและ ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
2) มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงการเมือง และจุดยืนทางการเมืองที่เป็นอิสระ
3) ผู้นำระดับประเทศให้ความสำคัญที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน
4) มีความสัมพันธ์และอิทธิพลในธนาคารโลกและสะดวกในการเปิด LC
5) มีความต้องการและสนใจในการบริโภคสินค้าอิหร่านโดยเฉพาะสินค้าอาหารฮาลาล
6) รับประกันการลงทุนที่ให้ผลกำไรในประเทศปลายทางส่งออก

ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศมีแผนที่จะเชื่อมต่อระบบการทางขนส่งทางทะเลโดยตรงผ่านท่าเรือ Chabahar ของประเทศอิหร่านและท่าเรือประเทศโอมาน เนื่องจากท่าเรือ Chabahar เป็นท่าเรือที่ได้รับการยกเว้นจากการคว่ำบาตร มีศักยภาพทางการค้าและสามารถช่วยให้อิหร่านส่งออกสินค้าที่สามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น ซึ่งหากข้อตกลงร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในอนาคต ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังอิหร่านที่ไม่จำเป็นต้องผ่านยูเออีอีกต่อไป และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษตามมาตรการค่ำบาตรของสหรัฐฯ

ที่มา: https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/564294/564294.pdf&title=564294&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.