CEO ARTICLE

บุหรี่มอร์ริส


Follow Us :

    

“ศาลปรับ 1,225 ล้านบาท บ. ฟิลลิปมอร์ริส เลี่ยงภาษีบุหรี่ ยกฟ้อง-ลูกจ้าง”

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. 62 ให้หัวข้อข่าวย่อยข้างต้น เป็นข่าวน่าจะติดตามและน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้นำเข้าของไทยด้วยเหตุผลดังนี้
1. ค่าปรับมีจำนวนสูงมากถึง 1,225 ล้านบาท
2. ทั้งที่เป็นเรื่องนำเข้า แต่ผู้ที่ตัดสินสั่งปรับมิใช่กรมศุลกากรแต่เป็น “ศาลอาญา”
3. ความผิดเป็นเรื่องการสำแดงราคาต่ำที่ผู้นำเข้าของไทยจำนวนมากเคยประสบ
4. คดีนี้เคยเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศมาก่อน องค์การการค้าโลก หรือ WTO ตัดสินให้ประเทศไทยแพ้คดีโดยไทยไม่สามารถใช้เรื่องราคามาตัดสินผู้นำเข้ารายนี้ได้ แต่มาถึงวันนี้ ศาลอาญาของไทยกลับตัดสินให้ผู้นำเข้าแพ้คดีและสั่งปรับด้วยจำนวนเงินสูงดังกล่าว
5. ค่าปรับที่สูงมากทำให้ผู้นำเข้าต้องอุทธรณ์และยิ่งทำให้น่าติดตามเพราะไม่มีใครรู้ว่าจะถูกโยงเป็นการต่อสู้ระหว่างประเทศภาค 2 หรือไม่และอย่างไร ?
6. หากค่าภาษีอากรชำระขาดจริงก็อาจตามมาด้วยภาษีอื่นและค่าปรับที่เกี่ยวกับยาสูบ

เรื่องราวของคดีนี้เคยโด่งดังมาก่อน ในเวลานั้นผู้ติดตามจะเรียกเรื่องนี้ว่า “บุหรี่อมอร์ริส” เนื่องจากผู้นำเข้าชื่อบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด นำบุหรี่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ราวปี พ.ศ. 2546 – 50 จำนวนรวม 272 ครั้ง
ผู้นำเข้าสำแดงบุหรี่ยี่ห้อมาโบโร่ในราคาต่ำไล่ลงมาตั้งแต่ซองละ 9.50 – 7.76 บาท และบุหรี่ยี่ห้อแอลเอ็มซองละ 7.00 – 5.88 บาท
ในเวลานั้น กรมศุลกากรไม่เชื่อราคา มีการตรวจสอบและจับกุมย้อนหลัง และพยายามใช้กฎหมายศุลกากรสั่งปรับแต่ผู้นำเข้าไม่ยินยอมจนกลายเป็นคดีขึ้นสู่ศาลอาญาเพื่อตัดสิน
สิ่งที่ผู้นำเข้าควรรู้คือ กฎหมายศุลกากรเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจกรมศุลกากรในการประนีประนอมยอมความกับผู้ทำผิดโดยการเปรียบเทียบปรับได้
ในอดีตที่ผ่านมา กรมศุลกากรมักสั่งปรับอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ คือ 2 เท่าของภาษีอากรที่ขาดเป็นส่วนใหญ่หรืออาจต่ำกว่าพร้อมเบี้ยปรับอากรอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่ชำระขาดนับแต่วันนำเข้าในกรณีที่มีการชำระช้าตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
บางท่านก็เรียกเบี้ยปรับอากรนี้ว่า “ดอกเบี้ยจากการชำระช้า” เพื่อสร้างความเข้าใจ
กรณี “บุหรี่มอร์ริส” ที่มีการนำเข้าถึง 272 ครั้ง มูลค่าที่สำแดงรวมประมาณ 6,135 ล้านบาท แต่จากข้อมูลของศาลอาญาทำให้เห็นว่ากรมศุลกากรประเมินราคานำเข้าสูงขึ้นเท่าตัว และประเมินอากรขาดประมาณ 306.4 ล้านบาท
เมื่อศาลท่านสั่งปรับสูงสุดตามเกณฑ์ของกฎหมายคือ 4 เท่าของอากรที่ขาด ค่าปรับจึงสูงถึง 1,225 ล้านบาท ตามการพาดหัวของข่าว
ค่าปรับที่สูงเช่นนี้ทำให้ผู้นำเข้าไม่ยินยอมและต้องมีการอุทธรณ์แน่
การนำสืบพยานในศาลอาญาชั้นต้นครั้งนี้ ศุลกากรร่วมมือกับ DSI ลงพื้นที่ตรวจสอบเปรียบเทียบราคาต้นทุนที่ผลิตในประเทศฟิลิปปินส์ต้นทาง และราคาขายจากร้านค้าปลอดอากรในไทยทำให้ศาลท่านเชื่อข้อมูลดังกล่าว
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บริษัทแม่ของผู้นำเข้าในฟิลิปปินส์เคยเรียกร้องไปยังองค์การการค้าโลก หรือ WTO มิให้กรมศุลกากรของไทยใช้วิธีการเปรียบเทียบราคากับกรณี “บุหรี่มอร์ริส” และคณะผู้พิจารณาของ WTO ก็เห็นด้วยตามข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 62 มาแล้ว
กรมศุลกากรไม่ยินยอมจนนำเรื่องขึ้นสู่ศาลจนมีผลตามที่เห็น สิ่งที่ผู้นำเข้าควรรับรู้และศึกษามีประเด็น ดังนี้
1. การต่อสู้เรื่องภาษีอากรระหว่างผู้นำเข้ากับกรมศุลกากร หากเป็นความที่เกี่ยวข้องกันระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าอาจร้องเรียนไปยัง WTO ได้
2. การตัดสินของ WTO ซึ่งน่าจะเป็นข้อยุติ แต่ไม่ว่าผู้นำเข้าหรือกรมศุลกากรก็อาจนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลได้อีก ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็คงเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
3. ในกรณีที่ผู้นำเข้าเลือกประนีประนอมยอมความภายใต้กฎหมายศุลกากรนั้น ค่าปรับส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 2 เท่าของอากรที่ขาดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่มาของเรื่องที่แตกต่างกัน
หากผู้นำเข้ายอมรับในความผิด ยินยอมชำระค่าปรับ เรื่องก็จบในชั้นศุลกากร
แต่หากผู้นำเข้าไม่ยินยอมและนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งหากศาลเชื่อว่าผู้นำเข้ามีความผิดจริง ศาลท่านก็อาจสั่งปรับถึง 4 เท่า ตามแบบ “บุหรี่มอร์ริส” ก็ได้
4. การลงพื้นที่ของกรมศุลกากรร่วมกับ DSI ก็ดี การพิจารณาราคาขายปลีกก็ดีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของราคา GATT (General Agreement on Tariff and Trade) ภายใต้ WTO อีกเช่นกัน วิธีการคำนวณราคา GATT เพื่อการนำเข้า เป็นดังนี้
ลำดับที่ 1 ใช้ราคาซื้อขายของที่แท้จริง
หมายถึง ราคาซื้อขายที่มีหลักฐานการชำระเงินที่แท้จริงที่รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และรวมถึงค่านายหน้า ค่าสิทธิอื่น ๆ ก่อน
กรณี “บุหรี่มอร์ริส” กรมศุลกากรคงไม่เชื่อหลักฐานที่ผู้นำเข้าเสนอ และอาจไปพบหลักฐานการโอนเงินระหว่างบริษัทและบริษัทลูกในไทยผ่านช่องทางอื่นจึงเลื่อนมาใช้ราคา GATT ในลำดับที่ 2 และลำดับถัดไปเรื่อย ๆ
ลำดับที่ 2 ใช้ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน
ลำดับที่ 3 ใช้ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน
ลำดับที่ 4 ใช้ราคาหักทอน
ลำดับที่ 5 ใช้ราคาคำนวณ
ลำดับที่ 6 ใช้ราคาย้อนกลับ
จากการติดตามข่าวทำให้เข้าใจว่ากรมศุลกากรเปรียบเทียบราคาต้นทุน ใช้การคำนวณราคาจากร้านค้าปลอดอากรในไทย ใช้วิธีการประเมินราคาตาม GATT ภายใต้ WTO เอง ต่าง ๆ นานาเหล่านี้จึงอาจเป็นเงื่อนไขที่กรมศุลกากรไม่ยอมรับคำตัดสินของ WTO ที่ออกมาในวันที่ 12 ก.ค. 62 ข้างต้นก็ได้
กรมศุลกากรจึงเป็นโจทย์ฟ้องต่อศาลอาญาจนมีคำตัดสินดังกล่าว
เรื่องนี้จึงเป็นความรู้ที่ดีต่อผู้นำเข้าและเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างที่กล่าวข้างต้น
ประเด็นที่น่าติดตามคือ ศาลอุทธรณ์จะตัดสินอย่างไร และ WTO จะเข้ามามีบทบาทต่อข้อขัดแย้งระหว่างประเทศนี้อย่างไรในอนาคตเพื่อให้ผู้นำเข้าเป็นแบบอย่างต่อไป

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

เป็นตาอยู่อีกแล้ว! ไต้หวันเริ่มเก็บเกี่ยวอานิสงส์จากเหตุประท้วงที่ฮ่องกง

หลังจากที่เกิดเหตุประท้วงที่ฮ่องกงมาอย่างยาวนาน เหล่าผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์ โน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดัคเตอร์ ต่างเป็นกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานในส่วนของการสต็อกสินค้า ที่ได้โยกย้ายฐานไปยังไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งในส่วนของไต้หวันนั้น ผู้ประกอบการคลังสินค้าใน Taoyuan Aerotropolis ซึ่งเป็นเขตปลอดภาษีของท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน รวมไปจนถึงผู้ประกอบการคลังสินค้ารายใหญ่ เช่น Farglory FTZ, Dimerco Express, T3Ex Global และ Soonest Express ต่างก็ให้ความเห็นว่า ในระยะนี้ มีลูกค้าที่ย้ายฐานการจัดเก็บสินค้าจากฮ่องกงมายังไต้หวันเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

โดย Farglory FTZ ชี้ว่า ได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์รายใหญ่หลายราย เช่น ASUS, Foxconn และ ASML ที่ประสงค์จะย้ายฐานการจัดเก็บสินค้ามาในเขต FTZ ของบริษัท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา พร้อมกันนี้ยังชี้ว่า มีผู้ประกอบการฮ่องกงจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะจัดเก็บสินค้าไว้ในฮ่องกง และต้องการจะย้ายฐานไปยังประเทศอื่น จึงถือเป็นโอกาสทางการค้าที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไต้หวันในธุรกิจโลจิสติกส์

โดยฮ่องกงถือเป็นแดนสวรรค์ปลอดภาษี และมีความเข้มงวดในการควบคุมการขนส่งทางอากาศ ที่อยู่ในระดับผ่อนคลาย ในปี 2018 สนามบินฮ่องกงมีปริมาณขนถ่ายสินค้ารวม 5.12 ล้านเมตริกตัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก ในขณะที่ปริมาณการขนถ่ายสินค้าทางอากาศของสนามบินเถาหยวนในปี 2018 คิดเป็นปริมาณรวม 2.32 ล้านเมตริกตัน มากเป็นลำดับที่ 8 ของโลก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะนิยมใช้การทำ Triangle Trading โดยลากสินค้าจากแถบจูไห่ไปเก็บไว้ที่ฮ่องกงเพื่อทำการ Process เล็กน้อยก่อนจะส่งออกไปยังประเทศอื่น แต่เหตุประท้วงที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย คิดที่จะส่งสินค้าจากแถบตอนใต้ของจีนมาไว้ที่ไต้หวันแทน จึงถือเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสสำคัญ ให้กับเหล่าผู้ประกอบการไต้หวันที่อยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์เลยทีเดียว

จากการเปิดเผยของผู้บริหารธุรกิจโลจิสติกส์รายหนึ่งชี้ว่า จริงๆ แล้วสงครามการค้าที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็ได้ส่งผลให้เกิดการโอนย้ายคำสั่งซื้ออยู่แล้ว หากแต่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนกับเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงที่ทำให้เจ้าของสินค้าส่วนใหญ่เกิดความกังวล เนื่องจากศูนย์โลจิสติกส์ของผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวนมาก ต่างก็ตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง ที่เป็นจุดปะทะอย่างดุเดือดของเหล่าผู้ประท้วง ทำให้ส่วนใหญ่เริ่มวางแผนจะย้ายสินค้าไปยังฐานการจัดเก็บในประเทศอื่นแทน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งทางอากาศก็ชี้ว่า ขณะนี้กำลังมีการล้างไพ่ครั้งใหญ่ในระบบการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาสินค้าส่วนใหญ่จะถูกส่งไปรวมไว้ที่ฮ่องกง เพื่อ Process ในขั้นตอนต่อไป แต่เหตุประท้วงทำให้เจ้าของสินค้าส่วนใหญ่ไม่กล้าส่งสินค้าไปไว้ที่ฮ่องกงอีก ประกอบกับสายการบินต่างๆ ก็ลดเที่ยวบินที่จะไปฮ่องกงด้วย จึงทำให้ต้องมีการหา Hub แห่งใหม่เพื่อมาแทนที่ จึงทำให้เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจที่คาดไม่ถึง สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/577326/577326.pdf&title=577326&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.