CEO ARTICLE

ลาทีปี 62


Follow Us :

    

ปี พ.ศ. 2562 กำลังจะผ่านไป มาถึงวันนี้ทุกคนก็พอจะเข้าใจ ความขัดแย้งของ 2 ยักษ์ใหญ่จีนและสหรัฐนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
แม้ช่วงปลายปี 2 ยักษ์ใหญ่มีทีท่าดีกัน แต่สงครามการเมืองก็คือการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ต่างจากสงครามทหารอย่างสิ้นเชิง
ในสงครามทหาร คู่ต่อสู้ตายได้เพียงครั้งเดียว แต่สงครามการเมือง เมื่อคู่ต่อสู้ตายแล้วก็อาจฟื้นขึ้นมาได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะตายสักกี่ครั้งก็จะสามารถฟื้นขึ้นมาได้ทุกครั้ง หากโอกาสและจังหวะอำนวย
คำกล่าวจึงมีว่า “ในทางการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”
การเมืองเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ ว่าสงครามระหว่างจีนและสหรัฐจะฟื้นขึ้นมาให้เดือดร้อนกันทั่วโลกอีกเมื่อไร
ความขัดแย้งที่ทั่วโลกได้รับจากจีนและสหรัฐที่ยืดยาวมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2562 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไปทุกแห่งหน และหากรวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศอีกหลายแห่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็อาจกล่าวว่า ทั่วทุกแห่งทั้งโลกถูกกระทบไม่ต่างกัน
ประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยจึงไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ

สงครามการเมืองระดับโลกส่งผลกระทบถึงประเทศไทย แล้วสงครามการเมืองภายในของไทยในปี 2562 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเองอย่างไร ???
ภาพที่ทุกคนพอสัมผัสได้คือ ปี 2562 เศรษฐกิจของไทยไม่ดีนัก บางคนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็อาจใช้คำหนัก ๆ ว่า “ถอยหลังลงคลอง” ด้วยซ้ำ
ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก การท่องเที่ยว วงการโลจิสติกส์ และคนค้าขายทุกระดับต่างหนีไม่พ้น ต่างก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกันเว้นแต่คนที่เข้าใจคำว่า “กลยุทธ์” ก็จะสามารถฝ่าไปได้
คนติดตามสถานการณ์โลก คนติดตามการเมืองภายในประเทศต่างก็มองออก และมองออกด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจถดถอย สังคมก็หนีไม่พ้นที่จะถูกกระทบ หนี้ครัวเรือนที่มากขึ้น รายได้ไม่พอรายจ่าย คนจนยิ่งจนขึ้น คนว่างงานมากขึ้น ตรงกันข้ามกับแรงงานต่างชาติยิ่งหลั่งไหลเข้ามาแย่งงานคนไทย
มันดูเป็นภาพที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
โจทย์ของรัฐบาลคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีเงินในมือเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน
รัฐบาลมีเงินภาษีอากรอยู่ในมือนับล้านล้านบาท ด้านหนึ่งก็ใช้จ่ายตามงบประมาณที่ได้รับและผ่านการตรวจสอบของฝ่ายค้าน
อีกด้านหนึ่งก็พยายามทำโครงการเพื่อให้เงินนั้นมาอยู่ในมือประชาชนอย่างถูกกฎหมายถูกคน ถูกเวลา ไม่นำไปจ่ายผิดที่ผิดทาง และไม่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากฝ่ายค้าน นักวิชาการ และประชาชน
หากทำได้ ความทุกข์ยาก กระแสเงินที่หมุนเวียน และเศรษฐกิจของประเทศก็น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น
โจทย์นี้ดูไม่ยาก แต่พอทำจริงกลับไม่ใช่เรื่องง่าย
ปี 2562 โครงการต่าง ๆ จึงค่อย ๆ กำเนิดขึ้น ได้รับการตอบรับที่ดีบ้าง ถูกตำหนิบ้าง แต่ทั้งหมดก็เป็นความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของทุก ๆ รัฐบาล
แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนจากคณะ คสช. มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งและผ่านการลงมติจากสภาฯ แล้วก็ตาม แต่ฝ่ายที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งคล้ายไม่ยอมรับ โจมตี ต่อต้านทุกวิถีทางเพื่อคว่ำรัฐบาลให้ได้
สภาพศึกนอกที่เกิดจากสถานการณ์โลก และศึกในจากการเมืองของไทยในปี 2562 ดู ๆ ไปจึงไม่ต่างไปจากการเผชิญศึก 2 ด้านของรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้นการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง บัดเดี๋ยวก็ดีบัดเดี๋ยวก็ร้ายใส่กันจนอาจทำให้รัฐบาลเผชิญศึก 3 ด้านขึ้นมา
งบประมาณของชาติมาจากภาษีอากรแต่ละปีมีนับล้านล้านบาทหากไม่มีการเมือง การพัฒนาประเทศและการนำเงินสู่ประชาชนก็เป็นไปอย่างไร้ทิศทางจนอาจเกิดการทุจริต ผิดทิศผิดทาง หรือประเทศหยุดชะงักได้
แต่พอมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประชาชนลงมติรับกว่า 16 ล้านเสียง แต่พอมีนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ การเมืองก็ไม่เข้าใจกัน การเมืองก็แก่งแย่งกัน
ปี 2562 ประชาชนเลือกนักการเมืองแบบนี้ นักการเมืองที่เลือกมาก็นำข้อมูลด้านเดียวที่ตนได้ประโยชน์มายัดใส่คืนประชาชนแบบนี้
การเมืองแบบนี้จึงนำไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความวุ่นวาย และนำไปสู่วังวนของความยากจนอย่างไม่รู้จบ
นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2562
หากประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารครบด้าน เข้าใจสถานการณ์โลกอย่างแท้จริง เลือกนักการเมืองอย่างคนมีสติ อย่างคนเข้าใจ ไม่ถูกล่อลวงด้วยข้อมูลด้านเดียวจากนักการเมือง โฉมหน้าสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของไทยในปี 2562 ที่ผ่านมาก็อาจไม่ใช่ภาพอย่างที่เห็น
ประชาชนจึงเป็นคำตอบสุดท้าย
ประชาชนเป็นอย่างไร การเมืองก็หนีไม่พ้นที่จะเป็นอย่างนั้น และประเทศก็เป็นอย่างนั้นอย่างที่ปรากฏในปี 2562 ตามสายตาแต่ละท่านที่เห็นนั่นเอง
ลาทีปี 2562

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

HMM บุกเบิกเปิดบริการลานตู้สินค้าแห่งแรกในลาว นำร่องขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV

Hyundai Merchant Mariner (HMM) สายการเดินเรือแห่งชาติของเกาหลี เดินหน้าขยายบริการในลาว ด้วยการลงทุนจัดตั้งลานตู้สินค้า ขนาดพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร ในเขตท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Hyundai Merchant Marine ถือเป็นสายการเดินเรือแห่งแรกที่เปิดให้บริการลานตู้สินค้าในประเทศลาว โดยลูกค้าของ HMM สามารถรับและคืนตู้สินค้าเปล่าที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ของสายการเดินเรือฯ ได้ที่ลานแห่งนี้ ซึ่งสามารถช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการขนส่งให้กับลูกค้าในประเทศลาวได้อย่างมาก

ทั้งนี้ สายการเดินเรือฯ ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท PK Inter freight ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสัญชาติไทย ซึ่งมีสำนักงานประจำอยู่ที่ประเทศลาว ในการพัฒนาและปฏิบัติการลานตู้สินค้าแห่งนี้ เขตท่านาแล้งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่หนึ่ง (หนองคาย–เวียงจันทน์) และเป็นทางผ่านไปยังกรุงเวียงจันทน์ จึงถือเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญ สำหรับให้บริการตู้สินค้าแก่ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าที่มีธุรกิจอยู่รอบๆ กรุงเวียงจันทร์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ดร. สุเมธ เขียวงามดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮุนได เมอร์ชานท์ มารีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการขยายธุรกิจในครั้งนี้ว่า “ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และทางรัฐบาลเองก็กำลังเปิดประตูให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปช่วยขยายความเติบโต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในลาวก็คือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเล ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือมีต้นทุนที่สูง”

“จากการศึกษาข้อมูลของเรา พบว่าปัจจัยด้านการขนส่งทางบกเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้ประกอบการในลาวมีต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าที่สูง และการเข้ามาบุกเบิกให้บริการลานตู้สินค้าของเราในครั้งนี้ จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการอำนวยความสะดวก พร้อมลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้าของเราในประเทศลาว และยังถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของเราในการมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพการบริการแบบยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนให้ลูกค้าของเราได้รับบริการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต”

ที่มา : https://www.logistics-manager.com/th/hmm-laos-depot/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.