CEO ARTICLE

รักษาจุดแข็ง

Published on December 15, 2020


Follow Us :

    

สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมก่อให้เกิดจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศ
การที่คนไทยกลุ่มหนึ่งลืมจุดแข็ง พยายามเลียนแบบจุดแข็งผู้อื่น ไม่รักษาจุดแข็งของไทยจึงเป็นการใช้จุดอ่อนของประเทศอย่างไม่รู้ตัว อย่างนี้จะส่งผลอย่างไร ???

จุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จุดแข็งของไทยจึงต่างจากผู้อื่น เช่น
1. ทำเลที่ตั้งของประเทศ
ประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย มีสภาพไม่ต่างจากศูนย์กลาง ASEAN ทำให้มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สะดวก เหมาะต่อการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและโลจิสติกส์ และยังเป็นแหล่งพลังงาน
2. เกษตรกรรม
สภาพภูมิประเทศทำให้ผลิตผลทางการเกษตรของไทยได้ผลดี อาหาร ผลไม้เป็นที่ยอมรับจนถือเป็นครัวโลก มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาก
3. การท่องเที่ยว
ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก แม่น้ำ ลำคลอง และทัศนีภาพย์ของไทยมีสภาพสวยงาม เป็นที่ติดใจของนักท่องเที่ยว และมีศักภาพมากจนเกิดแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เป็นรองประเทศอื่น
4. ค่าครองชีพ
ในอดีต ค่าครองชีพของไทยถูกมาก เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนจนเศรษฐกิจเติบโตขึ้น แต่ในหลายปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพค่อย ๆ ทะยานขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ยังถูกกว่าหลายประเทศ
5. สุขอนามัย
ระบบอนามัยของไทยไม่เป็นรองใครโดยเฉพาะการต่อสู่กับ Covid-19 ในต่างจังหวัดก็มีโรงพยาบาลดี ๆ ประชาชนเข้าถึง และมีระบบสวัสดิการของรัฐ
6. วัฒนธรรม
ความกตัญญูและการให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ มีประเพณีมากมายให้กล่าวถึง มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมพลัง รวมใจ จนได้รางวัล เป็นที่ยอมรับและกล่าวขวัญทั่วโลกนานหลายสิบปี

จุดแข็งถือเป็นทรัพยากรของชาติที่จำเป็นต้องมีการเมืองนำประชาชนทุกภาคส่วน การนำก็เพื่อพาประชาชนรักษาจุดแข็ง สร้างประโยชน์จากจุดแข็ง และแก้ไขจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน
ส่วนจุดอ่อนของประเทศไทยคือ การศึกษาที่ตามมาด้วยการขาดความรู้ ความเข้าใจ และความยากจนจนฝังเป็นรากเหง้ามานาน สาเหตุหลักก็น่าจะมาจากประเทศไทยมีระบบทาสมาก่อน
ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนไทยในรัชกาลที่ 3 เป็นทาส
รัชกาลที่ 5 เป็นผู้ทรงเลิกทาส มีบุญคุณต่อคนไทย และการศึกษาก็น่าจะเริ่มมีรากฐานที่ดีนับแต่นั้น แต่เพียงไม่กี่สิบปีพอถึงรัชกาลที่ 7 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ประเทศไทยเข้าสู่วังวนของการแย่งชิงอำนาจของฝ่ายการเมืองและทหารนับแต่นั้นมา
มาถึงวันนี้ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและทหารยังไม่สิ้นสุด แม้การศึกษาจะค่อย ๆ ดีขึ้นจากอดีต แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการเติบโตและเทคโนโลยีของโลก
การเมืองต้องการคะแนนเสียง และการแย่งชิงคะแนนเสียงบนความไม่รู้ของประชาชนเป็นเรื่องง่ายและได้คะแนนนิยมมากกว่าการที่ประชาชนรู้ดี และรู้มาก การศึกษา ความรู้ ความเข้าใจ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำจึงยังคงเป็นวังวน เป็นรากเหง้า และเป็นจุดอ่อนเรื่อยมา
การปลุกปั่นและการสร้างภาพบนความไม่รู้ บนจุดอ่อนเพื่อให้ได้อำนาจจึงมีไม่สิ้นสุด
หลายเรื่องไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ พิสูจน์ไม่ได้ ขาดหลักการ ขาดเหตุผล แต่ผู้ถูกปลุกปั่นก็ยังหลงเชื่อง่าย ๆ โหมกระหน่ำในโลกโซเซียลง่าย ๆ จนขยายจุดอ่อนของประเทศให้กว้างยิ่งขึ้น
แกนนำที่อยู่เบื้องหลัง ทุกยุค ทุกสมัยจะมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่า เหนือชั้นกว่า มีฐานะทางสังคมดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ผู้ถูกปลุกปั่นให้หลงเชื่อจึงคล้อยตามง่าย มั่นใจในความรู้ ความเชื่อจนเข้าเป็นฐานคะแนนและร่วมใช้จุดอ่อนทำลายจุดแข็งของประเทศอย่างไม่รู้ตัว
แม้ประเทศจะเกิดความแตกแยก จุดแข็งถูกทำลาย แต่ก็ได้คะแนนนิยม ได้อำนาจบริหาร และได้ผลประโยชน์ อย่างนี้จะมีแกนนำที่อยู่เบื้องหลังสักกี่คนที่จะไม่เลือกใช้จุดอ่อน
การใช้จุดอ่อนจึงเป็นการทำลายจุดแข็งของประเทศให้ค่อย ๆ หมดไป
วันนี้ ค่าแรงขั้นต่ำหายไป การศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือ การให้ความเคารพผู้ใหญ่และการเทิดทูลสถาบันกษัตริย์เสื่อมลง การเลียนแบบประเทศอื่นแต่ขัดต่อสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันดีงามมีมากยิ่งขึ้น เสน่ห์และจุดแข็งของประเทศกำลังถูกทำลายมากขึ้นอย่างชัดเจน
หากประชาชนยังจมอยู่กับความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และหลงไปกับการเมืองแบบนี้ วันหนึ่ง จุดแข็งของประเทศไทยจะหมดไป วันนั้นประเทศไทยอาจจะเหลือแต่จุดอ่อนที่ส่งผลให้คนไทยยิ่งจมอยู่กับรากเหง้าของปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ไม่รู้จบ
แกนนำที่อยู่เบื้องหลังมองแต่คะแนนนิยม จะทำอย่างไรก็เพื่อคะแนนนิยม
ขอเพียงคนไทยมองจุดแข็งให้ออก บอกต่อ ๆ กันให้มาก ช่วยกันส่งและรักษาจุดแข็งให้มั่น มุ่งใช้จุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน เพียงเท่านี้จุดอ่อนจะค่อย ๆ หายไป อนาคตประเทศไทยก็จะดีขึ้นเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 15, 2020

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

โอกาสธุรกิจประมงและแปรรูปสัตว์น้ำของไทย ใช้ “นิคมห่วงโซ่ความเย็นฝางเฉิงก่าง” รุกตลาดจีน ขยายตลาดเอเชียกลาง

เมืองฝางเฉิงก่างเริ่มโครงการก่อสร้าง “เขตอุตสาหกรรมห่วงโซ่ความเย็นระหว่างประเทศอ่าวเป่ยปู้กว่างซีสำหรับสินค้าสดและมีชีวิต” (เฟสแรก) เพื่อรองรับการค้าสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตแบบครบวงจรระหว่างจีนกับอาเซียน ตั้งแต่การแปรรูป การกระจายสินค้า การเก็บรักษา และการซื้อขาย โดยตั้งเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มบริการด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่มีขนาดใหญ่ มีความทันสมัย และมุ่งสู่อาเซียน

ตามรายงาน โครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนรวม 3,800 ล้านหยวน มีเนื้อที่ 17 ไร่ แบ่งการลงทุนเป็น 3 เฟส สำหรับเฟสแรก มีเนื้อที่ 25 ไร่ (33% ของเนื้อที่รวม) มีมูลค่าเงินลงทุน 1,093 ล้านหยวน (28.76% ของมูลค่าการลงทุน) คาดการณ์ว่า เขตนิคมเฟสแรกจะมีกำลังการแปรรูปอาหารสดปีละ 2 แสนตัน และเมื่อเปิดดำเนินการครบทั้ง 3 เฟสจะมีกำลังการแปรรูปมากกว่าปีละ 6 แสนตัน ปริมาณการค้าจะมีมูลค่าทะลุ 20,000 ล้านหยวน สามารถรองรับโรงงานได้ 3,000 ราย และสร้างงานในพื้นที่ได้มากกว่า 15,000 ตำแหน่งงาน

จุดเด่นของเมืองฝางเฉิงก่างและโครงการดังกล่าว คือ

ตั้งอยู่ในอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) จึงมีความพร้อมด้านอุตสาหกรรมประมงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงทะเล โดยสามารถบูรณาการความร่วมมือกับอีก 2 เมืองในอ่าวเป่ยปู้ด้วย ได้แก่ เมืองชินโจวและเมืองเป๋ยไห่
มีพรมแดนติดจังหวัดกาวบั่งของเวียดนาม กำกับดูแลด่านทางบกตงซิง (Dongxing Border Gate/东兴口岸) ซึ่งเป็นด่านสากลที่มีความสำคัญในการนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (สัตว์น้ำมีชีวิต สัตว์น้ำแช่เย็น และสัตว์น้ำแช่แข็ง) และเป็นด่านการนำเข้า-ส่งออกผลไม้สด โดยด่านทางบกตงซิงอยู่ระหว่างการรอตรวจรับจากส่วนกลางเพื่อนำเข้าผลไม้ไทยผ่านทางบก ขณะที่ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่างได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้จากไทยแล้วตั้งแต่เดือน เมษายน 2558 และมีการนำเข้าล็อตแรกในเดือนมิถุนายน 2558
ปัจจุบัน มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟด้วยระบบห่วงโซ่ความเย็นที่เป็นเที่ยวประจำหลายเส้นทาง เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเสิ่นหยาง (มณฑลเหลียวหนิง) นครจี่หนาน (มณฑลซานตง) นครฉงชิ่ง รวมถึงนครเฉิงตู เมืองกว่างอัน และเมืองต๋าโจว (มณฑลเสฉวน) และมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งทางรถไฟกับจังหวัดต่างๆ ในเวียดนามด้วย
“จีน” เป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีการบริโภคอาหารทะเลมากที่สุด ผู้บริโภคมีแนวโน้มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดย “อ่าวเป่ยเป่ยปู้” นับเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก และเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นเมืองหน้าด่านของการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า เทรนด์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ ทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้าในระบบห่วงโซ่ความเย็น กำลังเข้ามาแทนที่การขนส่งด้วยรถบรรทุก ด้วยข้อได้เปรียบด้านความปลอดภัยสูง ต้นทุนการขนส่งต่ำ เวลาการขนส่งค่อนข้างตรงเวลา กำลังการขนส่งต่อเที่ยวทำได้ในปริมาณมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้การขนส่งสินค้าด้วยระบบรางกำลังได้รับความนิยมจากผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ

โดย “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซี” ได้แก่ ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ เป็นต้นแบบของระบบขนส่งสินค้าทางรางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโมเดล “เรือ+ราง” คือ เรือบรรทุกตู้สินค้าเข้าเทียบท่าแล้ว สามารถยกตู้สินค้าเพื่อขึ้นรถไฟเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังหัวเมืองอื่นได้โดยตรง ทำให้ผู้ค้าได้รับความสะดวก และประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างมาก นับเป็นหัวใจสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (International Land and Sea Trade Corridor-ILSTC) ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการค้าในภูมิภาคตะวันตกกับต่างประเทศ โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นข้อต่อสำคัญของระเบียงดังกล่าว

โอกาสสำหรับนักลงทุนไทย

นักลงทุนสามารถใช้ “เขตอุตสาหกรรมห่วงโซ่ความเย็นระหว่างประเทศอ่าวเป่ยปู้กว่างซีสำหรับสินค้าสดและมีชีวิต” เป็นฐานการผลิต แปรรูป และกระจายสินค้าประมง (ที่ไทยมีความได้เปรียบ) หรือจะใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” เพื่อลำเลียงสินค้าประมงไปจำหน่ายในหัวเมืองสำคัญในจีน หรือขยายตลาดต่อไปยังประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดทะเลในภูมิภาคเอเชียกลาง (Landlocked) ไปจนถึงทวีปยุโรปได้ด้วยขบวนรถไฟขนส่งสินค้า China Railway Express จากกว่างซีได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการขนส่งทางอื่น

เนื่องจากอ่าวเป่ยปู้มีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์อยู่เป็นทุนเดิม การเข้ามาจัดตั้งธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำในเขตนิคมดังกล่าวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ขณะที่ผู้ค้าที่เน้นการซื้อมาขายไปก็สามารถใช้เขตนิคมแห่งนี้เป็นจุดกระจายสินค้า (ประมงและผลไม้ไทย) ได้เช่นกัน

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.