CEO ARTICLE

ตาลีบัน

Published on August 24, 2021


Follow Us :

    

อัฟกานิสถานมีทองแดง โคบอลต์ ถ่านหิน แร่เหล็ก น้ำมัน ก๊าซ ลิเธียม แรร์เอิร์ธกลุ่มธาตุหายาก และทรัพยากรสำคัญที่ใช้ในแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีอนาคต
หลายคนมองว่า สงครามที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถานมีสหรัฐอยู่เบื้องหลัง แต่ภายหลัง ‘ตาลีบัน’ ยึดประเทศได้ ทำไมจีนจึงแสดงตัวเข้ารับรองรัฐบาลใหม่ ??

ประเทศใดมีทรัพยากรที่สำคัญ ประเทศนั้นมักมีมหาอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ !!!
ยิ่งเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองภายใน มหาอำนาจก็มักยอมสูญเสียเงินและคนของตนเข้าไปสนับสนุนฝ่ายหนึ่ง แต่อีกนัยหนึ่งก็มักมีทรัพยากรเป็นวาระซ้อนเร้น
อัฟกานิสถานถูกตีแยกในวันนี้ หลายคนมองไปที่เวียดนามในอดีต มีความขัดแย้ง มีความแตกแยก มีการแบ่งแยกประเทศออกเป็น ‘เวียดนามเหนือ’ และ ‘เวียดนามใต้’
เวลานั้นโซเวียตและสหรัฐต่างเป็นมหาอำนาจสนับสนุนคนละฝ่าย โซเวียตหนุนเวียดนามเหนือ สหรัฐหนุนเวียดนามใต้ สหรัฐสู้เวียดนามเหนือไม่ได้ถอนทัพในปี พ.ศ. 2516
เวียดนามใต้ถูกตีแตก ภาพคนเวียดนามหวาดกลัว หนีภัยสงครามออกนอกประเทศอย่างหัวซุกหัวซุนส่งกระจายไปทั่วโลก สิ้นสุดสงครามเวียดนาม จากนั้นก็เกิดการรวมประเทศ เกิดความเจริญที่อาจแซงหน้าไทยในบางเรื่อง
อัฟกานิสถานในอดีตก็ตกเป็นเหยื่อของมหาอำนาจทั้งโซเวียตและสหรัฐไม่ต่างกัน
ปี 2522 โซเวียตยึดอัฟกานิสถานได้ แต่ประชาชนแอบตั้งกลุ่ม ‘มูจาฮีดีน’ ขึ้นมาต่อต้านเป็นความแตกแยกภายในโดยสหรัฐให้การสนับสนุน ให้เงิน ให้อาวุธ
ปี 2532 ใช้เวลา 10 ปี ก็ขับไล่โซเวียตได้สำเร็จ ‘มูจาฮีดีน’ เป็นการรวมตัวของคนหลายความคิด เมื่อชนะ ส่วนหนึ่งต้องการเดินนโยบายตามสหรัฐและตะวันตก แต่อีกส่วนใช้ชื่อ ‘ตาลีบัน’ (นักเรียนศาสนา) ต้องการเป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัดจนขัดแย้งกันเอง กลายเป็นสงครามภายใน
ปี 2539 กลุ่ม ‘ตาลีบัน’ ยึดประเทศสำเร็จ ใช้กฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวด ห้ามดูหนังฟังเพลง ห้ามสิ่งบันเทิง ผู้หญิงต้องปกปิดร่างกาย ห้ามทำงานนอกบ้าน ผู้ปกครองที่ควบคุมลูกสาวตัวเองไม่ได้จะถูกลงโทษที่หลายกรณีถึงกับถูกสังหาร
ปี 2544 สหรัฐร่วมกับพันธมิตรโดยอ้างเหตุว่า ‘ตาลีบัน’ ช่วยเหลือ ‘บิน ลาเดิน’ ที่ทำลายตึก “World Trade Center” ในเหตุการณ์ 9/11 จึงใช้กำลังทหารเข้าโจมตี ‘ตาลีบัน’ จนสำเร็จ
สหรัฐช่วยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีการเลือกตั้ง และได้ประธานาธิบดีที่สหรัฐเห็นชอบ
‘ตาลีบัน’ แพ้ แต่ยังส่องสุมกำลังตามเมืองต่าง ๆ ก่อสงครามภายในเพื่อชิงอำนาจ สหรัฐจึงส่งกำลังและเงินช่วยเหลือ กระทั่งปี 2564 ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเห็นว่าไม่คุ้มจึงสั่งถอนทหาร
เมื่อไม่มีทหารสหรัฐคุ้มครอง ‘ตาลีบัน’ ก็โจมตีทีละเมืองอย่างรวดเร็ว กระทั่งเช้าวันจันทร์ที่ 16 ส.ค. 2564 ‘ตาลีบัน’ ก็ยึดครอง ‘คาบูล’ เมืองหลวงได้สำเร็จ
สงครามภายในที่ยืดเยื้อ 20 ปี สิ้นสุด คนหนีตายออกนอกประเทศไม่ต่างไปจากเวียดนามแตก คนแออัดในเครื่องบิน แอบซุกใต้ล้อเครื่องบินจนร่วงลงมาเป็นภาพกระจายไปทั่วโลก แต่วันนี้ จีนเป็นมหาอำนาจของโลกคู่สหรัฐแทนที่โซเวียต
ทันทีที่ ‘ตาลีบัน’ ยึดครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จ จีนก็แสดงท่าทีรับรองรัฐบาลใหม่

หลายปีที่ผ่านมา สงครามในตะวันออกกลางมักมีสหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ภาพที่สื่อตะวันตกส่งออกมาคือการให้ความช่วยเหลือที่ทำให้สหรัฐดูเป็น ‘ฮีโร่’ ส่วน ‘ตาลีบัน’ ดูเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’
ในช่วง 20 ปีที่สหรัฐคุ้มครอง การทุจริตเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร เป็นเหตุให้แพ้ในครั้งนี้ ส่วนประธานาธิบดี นายอัชราฟ กานี ก็มีข่าวขนเงิน 160 ล้านดอลลาร์หนีก่อนกรุงคาบูลแตก (ไทยรัฐ 21.08.64 หน้า 5)
สหรัฐมีภาพเป็น ‘นักแสวงหา’ ส่วนจีนก็มีภาพเป็น ‘นักลงทุน’ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การที่สหรัฐยอมถอยก็เพราะมี ‘ทรัพยากร’ แหล่งใหม่ให้แสวงหา นั่นคือ ‘ทะเลจีนใต้’ ที่จีนเข้าครอง
ส่วนจีนรับรอง ‘ตาลีบัน’ ก็เพื่อทรัพยากรหายากที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอนาคต
ข่าวเหล่านี้ทำให้เห็นว่า การที่มหาอำนาจเข้าเกี่ยวข้องกับประเทศใด ส่วนใหญ่ก็จะมีเรื่องทรัพยากรแอบแฝง
รัฐบาลแต่ละประเทศจะดีหรือไม่ดี จะเก่งหรือไม่เก่ง จะมาจากการเลือกตั้งหรือจากการยึดอำนาจ หากปล่อยเป็นเรื่องภายในให้จัดการกันเอง ผลจะเป็นแบบหนึ่ง แต่หากยอมให้มหาอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยว ผลก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ‘โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี’
ผลของความแตกแยกจึงมักเต็มได้ด้วยข่าวเท็จ การด้อยค่า การบูลลี่ สงครามภายใน และทรัพยากรรออยู่ปลายทาง ทั้งหมดอยู่ที่ประชาชนของประเทศนั้นจะเลือกไปทางไหน
‘ตาลีบัน’ ต้องการเป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัด แม้มีข่าวจะให้สิทธิและเสรีภาพแก่สตรีมากขึ้น จะปกครองเพื่อความสงบสุข แต่หลังยึดประเทศ สื่อตะวันตกก็รายงานข่าวชาวอัฟกานิสถานที่เคยช่วยเหลือทหารสหรัฐเริ่มถูกสังหาร และการแย่งอำนาจกันเองเกิดขึ้นอีก
อำนาจ ผลประโยชน์ และการเมืองเป็นสิ่งที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งยอมตายเพื่อแย่งชิง จีนเข้ามาถือหางฝ่ายหนึ่ง จึงไม่รู้ว่าสหรัฐจะกลับมาเป็น ‘ฮีโร่’ ถือหางอีกฝ่ายหรือไม่ ?
คนทั่วโลกที่ยึดมั่นความสงบสุขจึงได้แต่ภาวนาให้อัฟกานิสถานภายใต้ ‘ตาลีบัน’ จะปลอดจากมหาอำนาจ การแย่งชิง และมีความสงบสุขตามวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อของตน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : August 24, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

2021 ปีทอง บริษัทเรือเดินสมุทร

ปัญหาความวุ่นวายเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่า ทำให้ท่าเรือจำนวนมากต้องปิดๆ เปิดๆ และส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ รวมไปถึงเหตุการณ์ซ้ำเติม ที่เรือได้ขวางคลองซุเอส ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะต่อผู้เสียผลประโยชน์ แต่ก็ยังมีผู้ได้รับผลประโยชน์อีกด้วย โดยผู้ได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากวิกฤติ ก็คือ บริษัทเรือเดินสมุทร ที่สามารถเรียกเก็บค่าขนส่งได้สูงกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ถึง 4 เท่าตัว ผู้วิจัยด้านเรือเดินสมุทรจากกรุงลอนดอน บริษัท Drewry ได้คำนวณว่า บริษัทเดินเรือส่วนใหญ่ มีกำไรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ “ปี 2021 จะเป็นปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ธุรกิจเรือเดินสมุทร ที่ผลกำไรน่าจะสูงกว่า100 พันล้านเหรียญสหรัฐ” บริษัทผู้ให้คำปรึกษา แสดงไว้ในรายงานที่นำเสนอช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่า กำไรอย่างต่ำ น่าจะอยู่ที่ 80 พันล้านยูโร หรือเป็นผลกำไรที่สูงที่สุด เป็นประวัติการณ์ โดยก่อนหน้า Drewry ได้คาดการณ์ กำไร Ebit ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (Ebit – Earning Before Interest, TAX, Depreciation, Amortization) ไว้เพียง 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า อยู่ที่ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว โดยในปี 2018 กำไร Ebit อยู่มากกว่าศูนย์ และในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่ติดลบ โดยตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงิน 2008 เป็นต้นมา บริษัทเรือเดินสมุทร ประสบปัญหาปริมาณล้นความต้องการ (Overcapacity) และต้องดำเนินการประกอบธุรกิจแบบขาดทุน หลายต่อหลายปี ซึ่งวิกฤติโคโรน่า กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจเรือเดินสมุทร โดยในปี 2018 บริษัทให้คำปรึกษา McKinsey ทำรายงานว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของผู้ถือหุ้น (Shareholder-Value) ลดลงถึง 100 พันล้านยูโร

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทเรือเดินสมุทรก็เกิดการล้มละลาย การรวมบริษัท และการเข้าซื้อบริษัทเรือเดินสมุทรเกิดขึ้น อย่างขนานใหญ่ ส่งผลให้บริษัทเรือเดินสมุทรในโลก ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งโดยบริษัทที่เหลือ ก็รวมตัวกันใน 3 กลุ่มพันธมิตร
ซึ่งทั้ง 3 พันธมิตร ที่เป็นผู้กำหนดราคาค่าเรือเดินสมุทรในปัจจุบัน นอกจากอำนาจของกลุ่มพันธมิตรแล้ว วิกฤติโคโรน่า ยังเป็นแรงผลักดันให้ค่าบริการสูงขึ้นไปอีก โดยค่าเรือเดินสมุทรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2020 เป็นต้นมา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทเรือเดินสมุทร Hapag-Lloyd จากเมือง Hamburg ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในไตรมาสแรก ปี 2021 กำไร Ebit ขยายตัวขึ้น 8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนก็ได้รับผลประโยชน์ด้วย ในเวลานี้ หุ้นของบริษัทอยู่ที่ 201 ยูโร หรือสูงขึ้น 4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ หุ้นบริษัทคู่แข่ง จากประเทศเดนมาร์ค Maersk ก็พัฒนาตัวไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 1098 ยูโร แต่ในเวลานี้ อยู่ที่ 2505 ยูโรต่อหนึ่งหุ้น แม้แต่กองทุนที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ก็ได้รับผลประโยชน์จากกำไรของบริษัทเรือเดินสมุทร เช่นกัน
กองทุนยักษ์ใหญ่ จากฝรั่งเศส CMA CGM เกิดการซื้อขาย ขยายตัวจากร้อยละ 98.3 ในเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 111.2 อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาค่าเรือเดินสมุทร จะหยุดขยายตัว Drewry ได้คาดการณ์ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือเดินสมุทร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นฤดูกาลหลัก จะขยายตัวขึ้นไปอีก และน่าจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 10 โดยเฉลี่ยทั้งปี 2021 สำหรับปีหน้า การขนส่งทางเรือ ไม่น่าจะแปรปรวนเหมือนกับปีนี้ แต่การขยายตัวขึ้นร้อยละ 5 โดยเฉลี่ย ก็ยังจัดลำดับว่ายังสูงอยู่เช่นกัน

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/750559/750559.pdf&title=750559&cate=414&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.