CEO ARTICLE

ลำดับโลจิสติกส์

Published on December 20, 2022


Follow Us :

    

การขนส่งคือลูก เข้าใจง่าย แต่โลจิสติกส์ที่เป็นแม่ แบ่งเป็นกลุ่ม มีหลายลำดับขั้น มีความซับซ้อนจนดูเข้าใจยากกว่า (อ้างถึงบทความที่ 750 http://www.snp.co.th/e-journal)
โลจิสติกส์มีความเป็นมาอย่างไร แบ่งเป็นกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มแตกต่างกันอย่างไร ?

โลจิสติกส์ (Logistics) ดั้งเดิมเป็นคำทางทหารหน่วยส่งกำลังบำรุง สร้างถนน รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ สถานที่เก็บยานพาหนะ และลำเรียงอาวุธให้ทหารแนวหน้ารบอย่างมีประสิทธิภาพ
Logistics มาจากคำว่า Logistique ของฝรั่งเศษ แต่อังกฤษนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นสหรัฐและประเทศต่าง ๆ ก็นำมาใช้ มีการพัฒนา และต่อยอดขึ้นเป็น 3 ด้านคือ ด้านการทหาร ด้านวิศวะ และด้านธุรกิจ (https://jwd-group.com)
ในด้านธุรกิจ โลจิสติกส์หมายถึง หน่วยงานกองหนุน ทำหน้าที่ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจให้รบในสงครามเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีต้นทุนต่ำลง และให้มีผลกำไรที่ดี
หน้าที่รวม ๆ ของโลจิสติกส์ในปัจจุบันคือ การรวบรวม จัดเก็บ เคลื่อนย้าย กระจายสินค้า การจัดการคุณภาพ จัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดหา (Supplier) และลูกค้า (Customer) ให้ได้รับความพึงพอใจ บริการข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี และอื่น ๆ อีกมาก
เจ้าของสินค้าอาจมีหน่วยงานโลจิสติกส์เอง (In House Logistics) ก็ได้ หรือว่าจ้างหน่วยงานภายนอก (Out Source Logistics) ก็ได้ ทำให้โลจิสติกก์ปัจจุบันพัฒนาเป็น 5 ลำดับ ดังนี้
(1) กลุ่มที่ 1 หรือ 1st Party Logistics
หมายถึง ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของสินค้า มีโลจิสติกส์ มีการจัดการคุณภาพ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นของตนเองเพื่อบริการตนเอง
ข้อดีของการใช้กลุ่มที่ 1 คือ ประสิทธิภาพและต้นทุนที่ควบคุมได้เอง
ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับเอง หากเป็นกิจการใหญ่ มีสินค้ามากถือว่าคุ้มซึ่งอาจใช้คลังสินค้า รถขนส่ง หรือเครื่องมืออื่นจากผู้ให้บริการอื่น (Out Source) ร่วมได้ในบางกรณี
(2) กลุ่มที่ 2 หรือ 2nd Party Logistics
หมายถึง ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า แต่มีเครื่องมือหลักเป็นของตนเอง เช่น มีเรือบรรทุก มีเครื่องบิน มีรถขนส่ง หรือเป็นเจ้าของคลังสินค้า เป็นต้น ส่วนกิจกรรมโลติสติกส์อื่นที่เหลือก็ใช้บริการของผู้อื่น (Out Source) มาให้บริการร่วม
ข้อดีคือ การมีเครื่องมือหลักเป็นของตนเองทำให้ควบคุมได้ดี สร้างประสิทธิภาพได้ง่าย
ข้อเสียคือ ความรู้ ความสามารถ และทักษะในกิจกรรรมโลจิสติกส์อื่นอาจไม่เพียงพอ
(3) กลุ่มที่ 3 หรือ 3rd Party Logistics
หมายถึง ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ไม่มีเครื่องมือใด ๆ เป็นของตน ไม่มีคลังสินค้า ไม่มีเครื่องบิน ไม่มีเรือ ไม่มีรถบรรทุก แต่มีความรู้ มีทักษะ และสามารถเชื่อมโยงกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ทั้งในระดับท้องถิ่น (Local Network) และในระดับโลก (Global Network) ให้เป็นเครือข่ายร่วมกัน
ข้อดีคือ ทักษะ ความรู้ความสามารถ การบริการครบ ควบคุมประสิทธิภาพและต้นทุนได้ดี
ข้อเสียคือ การไม่มีเครื่องมือเป็นของตนเองอาจทำให้อำนาจการต่อรองลดลง
(4) กลุ่มที่ 4 หรือ 4th Party Logistics
หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ควบคุมโลจิสติกส์กลุ่มที่ 2 และ 3 ที่มีหลายรายที่เจ้าของสินค้าว่าจ้างให้ทำหน้าที่ตามสัญญา ให้เชื่อมโยงกัน ให้ได้ประสิทธิภาพ และให้ได้ต้นทุนตามที่ต้องการ
ข้อดีคือ ความมั่นใจจากหน่วยงานที่มีความรู้สูง มีการบูรณาการสูง ลดภาระเจ้าของสินค้า
ข้อเสียคือ การว่าจ้างกลุ่มที่ 4 ต้องใช้เงินมากขึ้นที่อาจทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้น
(5) กลุ่มที่ 5 หรือ 5th Party Logistics
หมายถึง หน่วยงานที่พัฒนาขึ้นจากกลุ่มที่ 4 และเป็นผู้จัดหาโลจิสติกส์กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 เพื่อบริการให้แก่ธุรกิจ eCommerce หรือ eBusiness Market ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีกลยุทธ์การบริการมาก ครบวงจร คล้าย ๆ เติมเต็มธุรกิจให้สมบูรณ์ (Fulfillment)
ข้อดีคือ เจ้าของสินค้าทำหน้าที่เพียงซื้อและขายทางออนไลน์เท่านั้น ไม่ต้องวุ่นวายกับการจัดการสินค้าคงคลังใด ๆ ค่าบริการโลจิสติกส์พิจารณาต่อชิ้นสินค้าทำให้ควบคุมต้นทุนได้ง่าย
ข้อเสียคือ เจ้าของสินค้าต้องลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อประสานงานกันอย่างเป็นระบบ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องเดินทาง ต้องกิน ต้องใช้ และต้องบริโภคทุกวัน
ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีหรือร้ายอย่างไร มนุษย์ก็ต้องบริโภคทุกวัน แต่สินค้าไม่มีมือ ไม่มีเท้าที่จะเดินจากต้นทางแหล่งผลิต เข้าสู่กระบวนการผลิต ไปสู่ปลายทางการบริโภคได้ด้วยตัวเอง
โลจิสติกส์จึงมีความจำเป็นต่อธุรกิจและชีวิตประจำวันอย่างมาก
ตั้งแต่สงครามครั้งที่ 1 เป็นต้นมา โลจิสติกส์มีการพัฒนาไม่หยุดหย่อน ปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่ม 5 ลำดับขั้น มีข้อดี มีข้อเสียให้เจ้าของสินค้าเลือกใช้ ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องจ้างคนมาก มีเวลาเหลือไปวางแผนธุรกิจอื่น ออกกำลังกาย และมีชีวิตที่ดีขึ้น
รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในอนาคตก็อาจมีโลจิสติกส์ลำดับที่ 6 ขึ้นไป เจ้าของสินค้าและผู้ประกอบการจึงควรเลือกการบริการจากกลุ่มโลจิสติกส์ที่เหมาะสมกับตน.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 20, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

กว่างซีเปิดวิ่ง ‘ไฮสปีดเทรน’ เส้นใหม่ใกล้เวียดนามอีกก้าว กรุยทางโครงข่ายรถไฟ trans-asia เชื่อมเวียดนาม – กัมพูชา – ไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 รถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” ช่วงเส้นทางนครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว เป็นโครงการที่รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นผู้ลงทุนเอง และเป็น 1 ใน 2 โครงการรถไฟความเร็วสูงไปถึงเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนามของกว่างซี (อีกเส้นทาง คือ ส่วนต่อขยายเมืองท่าฝางเฉิงก่าง – อำเภอระดับเมืองตงซิง อยู่ตรงข้ามจังหวัด Mongcai)

รู้จัก…เส้นทาง “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” มีระยะทาง 200.82 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วงเส้นทาง คือ

เส้นทางช่วงแรก “นครหนานหนิง – เมืองฉงจั่ว มี 5 สถานี มีระยะทาง 119.294 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้ว ช่วยร่นเวลาการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง 36 นาที เหลือ 52 นาที (แม้ว่ารถไฟความเร็วสูงได้รับการออกแบบให้วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เขตตัวเมืองนครหนานหนิงจำกัดความเร็วเพื่อลดมลพิษทางเสียง)

เส้นทางช่วงที่ 2 “เมืองฉงจั่ว – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” มี 4 สถานี มีระยะทางราว 81 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้าง เส้นทางที่เป็นสะพานและอุโมงค์มีสัดส่วน 86.16% ของเส้นทาง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 จะช่วยร่นเวลาการเดินทางจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงกว่า

ที่สำคัญ รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะแวะจอดใน “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GTC (Ground Transportation Centre) ซึ่งอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของ “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกมิติ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน เครื่องบิน และรถขนส่งสาธารณะ ช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ แบบไร้รอยต่อได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยให้การเดินทางระหว่างตัวเมืองหนานหนิง – สนามบิน เหลือเพียง 15 นาที (จากเดิมที่ใช้รถบัส 45 นาที)

เป้าหมายระยะไกล รถไฟความเร็วสูงสายดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางรถไฟสายทรานซ์-เอเชีย (Trans-Asia Railway Network) เชื่อมกับประเทศเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย-นครโฮจิมินต์ – กัมพูชา – ประเทศไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์ในอนาคต

ความเคลื่อนไหวที่กล่าวมา สะท้อนถึงความกระตือรือร้นของกว่างซีในการสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลางที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN ซึ่งกลไกดังกล่าวนับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตฯ กว่างซีจ้วง และอาเซียนก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับจีนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หากเวียดนามสามารถพัฒนารถไฟเส้นทางหลัก “กรุงฮานอย-นครโฮจิมินห์” และพัฒนาเส้นทางรถไฟจากกรุงฮานอยไปยังพื้นที่ตอนเหนือของเวียดนามได้ ก็จะช่วยให้การส่งผู้โดยสารและสินค้านำเข้า/ส่งออกระหว่างสองพื้นที่เกิดความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งผู้ค้าไทยก็อาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวได้ด้วย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดฟังก์ชันเพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ด้วย ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยระยะทางราว 41,000 กิโลเมตร (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564) และกำลังก่อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง หัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง

รัฐบาลจีนได้พัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่กว่าราว 9.6 ล้านตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ กลายเป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างดี

จึงกล่าวได้ว่า เทรนด์การขนส่งและกระจายสินค้าทางรถไฟในประเทศจีนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ค้าไทย โดยเฉพาะในมิติของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสามารถเจาะตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ประหยัดทั้งระยะเวลาและต้นทุน โดย “นครหนานหนิง” ถือเป็น Hub สำคัญของการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยรถไฟความเร็วภายในมณฑลกับต่างมณฑล รวมถึงกับอาเซียนด้วย (ปัจจุบัน มีรถไฟขนส่งสินค้ากับกรุงฮานอย เวียดนาม)

“ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” เป็น Key project ของศูนย์โลจิสติกส์ระดับประเทศประเภทท่าเรือบก (dry port) ในนครหนานหนิง และเป็นฐานโลจิสติกส์ที่สำคัญของบริษัท China Railway โดยท่ารถไฟแห่งนี้มีฟังก์ชันการบริการด้านพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างจีน-เวียดนาม (กรุงฮานอย)

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.