CEO ARTICLE

โลจิสติกส์ 2566

Published on December 27, 2022


Follow Us :

    

รัฐบาลมีแผนพัฒนาโลจิสติกส์ไทยในปี 2566 – 2570 ให้มีต้นทุนลดลง และให้เป็นประตูสู่การค้าอาเซียน ‘ต้นทุนโลจิสติกส์’ คืออะไร และประเทศไทยจะได้อะไรจากแผนนี้ ???

ต้นทุนโลจิสติกส์คือ จำนวนเงินที่จ่ายเพื่อการรวบรวมสินค้า จัดเก็บ เคลื่อนย้าย กระจาย จัดการคุณภาพ จัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดหา (Supplier) และลูกค้า (Customer) และอื่น ๆ อย่างเป็นกระบวนการ (อ้างถึงบทความที่ 751 http://www.snp.co.th/e-journal)
‘สินค้า’ กว่าจะเดินทางมาถึง ‘จุดบริโภค’ ได้จึงต้องผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ตั้งแต่ต้นน้ำแหล่งวัตถุดิบ เข้าสู่กลางน้ำของการผลิต กระทั่งเดินทางสู่ปลายน้ำของการบริโภค
การผลิตสินค้าเป็นหนึ่งใน ‘ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ’ หรือ GDP (Gross Domestic Product) ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศในภาพรวมจึงพิจารณาเป็นอัตราร้อยละของ GDP
ตัวอย่างเช่น ปี 2551 ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ระดับ 18.6% ของ GDP ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 8% และมาเลเซียอยู่ที่ 13%
จากสัดส่วนต่อ GDP ข้างต้น สมมุติสินค้ามีมูลค่าเฉพาะตัวสินค้าชิ้นละ 100 บาท
เมื่อรวมต้นทุนโลจิสติกส์จนถึง ‘จุดบริโภค’ มูลค่าสินค้า 100 บาทของไทยจะเป็น 118.60 บาท ขณะที่สินค้ามูลค่า 100 บาทของสิงคโปร์จะเป็น 108 บาท และของมาเลเซีย 113 บาท
ตัวเลขในปี 2551 สื่อว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าไทยจึงแข่งขันได้ลำบาก ส่วนคนไทยก็ต้องจ่ายค่าโลจิสติกส์สำหรับสินค้า 1 ชิ้นสูงกว่าเพื่อการบริโภค
ผ่านมาถึงปี 2563 ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยลดลงอยู่ในระดับ 14% ต่อ GDP
ปี 2564 ลดลงอีกเหลือ 13.8% และปี 2565 ที่กำลังจะหมดไปนี้ก็คาดว่าน่าจะลดลงเหลือ ระดับ 12.9 – 13.3% ต่อ GDP (ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล 13 ธ.ค. 2565 15.15 น.)
อัตราเฉลี่ยต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยในปี 2565 จึงน่าจะอยู่ระดับ 13% ต่อ GDP แต่ตัวเลขเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% ขณะที่ยุโรปและอเมริกาเหนือเฉลี่ย 8.5%
ตัวเลขนี้สื่อว่า ‘ต้นทุนโลจิสติกส์ไทย’ ยังสูงกว่าประเทศอื่นมากทั้งที่รัฐบาลไทยพัฒนาถนน รถไฟ ท่าเรือ สนามบิน ระบบขนส่ง กฎหมาย และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง เพื่อเข้าสู่แผนพัฒนาโลจิสติกส์ไทยในปี 2566 – 2570 และเพื่อเป็นประตูอาเซียน
ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยลดลง แต่ยังสูงกว่าประเทศอื่น อย่างนี้ประเทศไทยจะได้อะไร ?

หากมองภาพใหญ่ในทางทฤษฏี สินค้าที่เดินทางถึง ‘จุดบริโภค’ ย่อมมีมูลค่าลดลง คนไทยย่อมบริโภคสินค้าได้ถูกลง และการเป็นประตูสู่อาเซียนก็ง่ายขึ้น
แต่เมื่อมองในทางปฏิบัติ ผลประโยชน์ของการเป็นประตูอาเซียนจะตกอยู่กับใคร ?
หากคนในวงการโลจิสติกส์ไทยยังไม่สามารถรวบรวมสินค้า จัดเก็บ เคลื่อนย้าย กระจายสู่ประเทศต่าง ๆ จัดการคุณภาพ จัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดหาและลูกค้า และอื่น ๆ ตามกระบวนการโลจิสติกส์ในระดับนานาชาติได้
การเป็นประตูสู่อาเซียนก็เพียงให้สินค้าต่างชาติผ่านประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่ 3 เท่านั้น คนไทยได้ค่าผ่านทาง ค่าผ่านถนน ค่ารับจ้างขับรถขนส่ง ค่าโกดัง และค่าบริการอื่นที่ไม่มาก
ส่วนค่าบริหาร ค่าจัดการ ค่าวางแผน ค่าการตลาดที่ต้องเดินทางตั้งแต่ต้นน้ำแหล่งวัตถุดิบ เข้าสู่กลางน้ำของการผลิต สู่ปลายน้ำของการบริโภคในประเทศปลายทาง และผลกำไรที่มีมูลค่าสูงกว่ามากจะตกอยู่ในมือของโลจิสติกส์ต่างชาติทั้งสิ้น
ในทางปฏิบัติโลจิสติกส์ไทยยังได้งาน แต่เป็นงานในลักษณะสัญญาช่วง (Sub Contract) เท่านั้น โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นมากเป็นของไทย แต่กำไรส่วนใหญ่จะเป็นของต่างชาติ
วันนี้จะมีโลจิสติกส์ไทยสักกี่รายที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายทั่วโลก (Global Network) ได้ จะมีสักกี่รายที่สามารถรับงานได้โดยตรง สามารถบริหาร จัดการ ทำการตลาด และวางแผนได้เอง
รัฐบาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วก็ต้องหันมาพัฒนาคนด้วย
คนโลจิสติกส์ต้องมีความรู้และมีทักษะมากขึ้น และคนต่างหากที่จะทำให้ประเทศไทยในปี 2566 – 2570 ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประตูสู่อาเซียนตามเป้าหมายที่ต้องการ.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 27, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ผู้ประกอบการขนส่งไต้หวันชี้แนวโน้มการปรับขึ้นค่าขนส่งสินค้าทางทะเล

ไต้หวันถือเป็นหนึ่งใน Player รายสำคัญในตลาดขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก โดยมีผู้ประกอบการในระดับนานาชาติหลายบริษัท เช่น Evergreen, Wan Hai รวมไปจนถึง Yang Ming การเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการไต้หวันจึงสามารถบอกเป็นนัยถึงแนวโน้มที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี โดยหลังจากที่ค่าบริการขนส่งทางเรือได้ลดลงจากช่วงพีคเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ตามมาตรการสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ล่าสุดผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ของไต้หวันส่วนใหญ่เห็นว่า ในช่วงของเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ของคนเชื้อสายจีนทั่วโลก จะทำให้ความต้องการขนส่งสินค้ากลับมาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังสหรัฐฯ ในระยะนี้กลับมาอยู่ในภาวะคึกคักและปริมาณการขนส่งของเรือเดินสมุทรกลับมาอยู่ในภาวะเต็มพื้นที่ระวางสินค้าอีกครั้ง

ผู้ให้บริการขนส่งทางทะเล ได้แก่ Evergreen, Yang Ming, COSCO, Hapag Lloyd, HMM, Ocean Network Express และ ZIM ได้แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในการปรับราคาค่าระวางเรือตามสถานการณ์ตลาด (General Rate Increase) เพื่อตอบรับต่อความต้องการในตลาดที่จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นเงินประมาณ 1,000 – 2,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตในเส้นทางขนส่งจากเอเชียไปยังสหรัฐฯ โดยปัจจุบัน ราคาค่าขนส่งจากเอเชียตะวันออกไกลไปยังชายฝั่งตะวันตกและชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ได้กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะมีการปรับราคขึ้น คือ 1,423 เหรียญสหรัฐฯ / ตู้ (40 ฟุต) และ 3,169 เหรียญสหรัฐฯ / ตู้ (40 ฟุต) ตามลำดับ ทั้งนี้ หากมีการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมฯ อีก 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ก็จะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 142 และร้อยละ 31 ตามลำดับ

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตรุษจีน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเร่งจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งบริษัทขนส่งทางเรือ Wan Hai และ Yang Ming เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณการขนส่งสินค้าไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 90 ของพื้นที่ระวางทั้งหมด ในขณะที่เส้นทางสายชายฝั่งตะวันออกก็เพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 85 โดยในส่วนของ Evergreen ใช้พื้นที่ระวางในเส้นทางสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 90-100 ประกอบกับการลดความเข้มงวดด้านมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของจีน ส่งผลให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์เห็นว่า ราคาค่าขนส่งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า น่าจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน การเรียกเก็บค่าปรับราคาฯ จึงเป็นไปตามกลไกตลาดที่ความต้องการขนส่งสินค้ามีเพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริหารของ Wan Hai บริษัทเดินเรือทะเลรายใหญ่ของไต้หวันชี้ว่า ไม่ว่าหลังจากนี้ความต้องการในตลาดจะมีความเปลี่ยนแปลงเช่นไร การปรับราคาค่าขนส่งทางทะเลจะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต้นทุนเป็นหลัก และหากความต้องการสินค้าหดตัวจริง ก็จะมีการปรับลดเที่ยวเรือเพื่อลดต้นทุน เช่น ในเส้นทางเอเชียตะวันออกไกล-ยุโรป และในการขนส่งบางเที่ยวไม่จำเป็นต้องรีบเร่งก็จะไม่แล่นผ่านคลองสุเอซ แต่จะวิ่งอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปแทน อันจะช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อยเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้เส้นทาง นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อค่าขนส่งสินค้าทางทะเล คือ ระเบียบใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) เกี่ยวกับการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะมีการประกาศออกมาในปีหน้านี้ ที่มา: Commercial Times / Central News Agency / Economic Daily News (December 22, 2022)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
เนื่องจากผู้ประกอบการไต้หวันถือเป็นบริษัทเดินเรือรายสำคัญในตลาดโลก ทำให้มาตรการและการคาดการณ์ต่างๆ ของผู้ประกอบการเหล่านี้ อาจสามารถสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในตลาดโลกที่มีผลโดยตรงต่อราคาค่าขนส่งสินค้า อันถือเป็นปัจจัยสำคัญด้านต้นทุนในการส่งออกของธุรกิจต่างๆ ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนจัดส่งสินค้าอย่างเหมาะสมต่อไป

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/894511/894511.pdf&title=894511&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.