CEO ARTICLE

ชิปปิ้งตัวดี

Published on February 27, 2024


Follow Us :

    

ชิปปิ้งตัวดีจะสร้างความเสียหายต่อผู้นำเข้า SME ได้อย่างไร ?

Ship หมายถึง “เรือเดินทะเล”
Shipping จึงหมายถึง การเดินเรือ การขนส่งทางทะเล หรือการขนส่งระหว่างประเทศ
การใช้คำว่า “ชิปปิ้ง” เรียกผู้ให้บริการพิธีการศุลกากร (Customs Formality) แบบทับศัพท์ จึงมีแต่คนไทยเท่านั้นที่เข้าใจ แต่นักธุรกิจต่างชาติจะงง หรืออาจจับใจความได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
งานชิปปิ้งในปัจจุบันจึงแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ชิปปิ้งตัวร้าย ชิปปิ้งตัวดี และตัวแทนออกของ
“ชิปปิ้งตัวร้าย” ชื่อชัดเจน ท่าทางก็ชัดเจนว่าไม่น่าเชื่อถือ ผู้นำเข้ารายใหญ่ หรือ SME พูดคุยด้วยก็รู้ทันทีว่าไม่มีความรู้ แต่สามารถทำงานผิด ๆ ให้ผ่านได้แบบดื้อ ๆ ขัดหลักกฎหมาย การทำงานก็สืบทอดกันมา ความรู้จึงมีขาด ๆ เกิน ๆ กลุ่มนี้ยังมีให้เห็นขึ้นอยู่กับใครจะเรียกใช้
“ชิปปิ้งตัวดี” ชื่อดูดีกว่า มีความรู้เฉพาะงานที่ทำได้ แต่เพราะผู้นำเข้า SME มีความรู้ด้านการนำเข้า ศุลกากร และภาษีอื่นน้อย บางรายอาจไม่รู้เลย พอเจอชิปปิ้งตัวดีพูดจาดีก็ชอบ ให้ช่วยทำภาษีและค่าใช้จ่ายต่ำก็ทำได้ ให้ทำอะไรก็ทำได้จึงได้รับความพอใจ ปัจจุบันมีอยู่มาก
“ตัวแทนออกของ” (Customs Broker) เป็นชื่อทางการที่ใช้ภายหลังเงินบาทลอยตัวในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยถูกกล่าวหาจาก IMF ว่ามีการทุจริตมาก แต่คนมีความรู้กลับมีไม่มากจนเกิดความเสียหาย และเป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง”
หลังปี พ.ศ. 2540 กรมศุลกากรจึงรณรงค์ให้เรียก ”ตัวแทน” และ “ตัวออกของแทน”
สิ่งยืนยันได้ชัดเจนคือ พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 99 และประกาศกรมศุลกากรที่มีหลายฉบับ เช่น ประกาศที่ 95/2565 ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ข้อ 3 เรียกว่า “ตัวแทนออกของ”
ชิปปิ้งตัวร้าย ชิปปิ้งตัวดี และตัวแทนออกของเป็นกลุ่มผู้ให้บริการที่เหมือนกัน
ส่วนที่ต่างกันคือ ตัวแทนออกของต้องผ่านการอบรมตามมาตรฐานองค์การศุลกากรโลก หรือ WCO (World Customs Organization) ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมศุลกากร ต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านศุลกากร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระเบียบต่าง ๆ และปฏิบัติตนได้ถูกต้อง
แม้ “ตัวแทนออกของ” บางรายอาจเป็นทั้งชิปปิ้งตัวร้ายและตัวดีแอบแฝง แยกไม่ออก แต่ผู้นำเข้ารายใหญ่ก็นิยมเลือกใช้มากกว่าเพราะอย่างน้อยก็มีกรมศุลกากรให้การรับรอง

ปัจจุบันการขาย และการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) เกิดขึ้นมาก ผู้ขายหน้าใหม่ มีมาก ผู้นำเข้า SME ก็เกิดมาก และมีความต้องการให้ต้นทุนสินค้าต่ำสุดเพื่อการแข่งขัน
การใช้บริการจากชิปปิ้งตัวดีจึงเกิดขึ้น จะนำเข้าทางรถยนต์ ช่องทางธรรมชาติ จะทางไหนไม่รู้ แต่สิ่งที่ต้องการมีเพียงต้นทุนต่ำ ภาษีต่ำ และมีใบเสร็จรับเงินจากชิปปิ้งตัวดีเท่านั้นก็พอ
ชิปปิ้งตัวดีย่อมทำได้ มีส่วนช่วยให้กำไรมากขึ้นได้ และมีใบเสร็จให้รายงานทางบัญชีได้
แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป หน่วยงานศุลกากร หน่วย มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) หน่วย อย. (องค์การอาหารและยา) และตำรวจเศรษฐกิจจะคอยเฝ้าดู จะติดตามรถบรรทุกที่เข้าไปรับสินค้าจากคลัง จะตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินค่าสินค้า จะล่อซื้อ และจะเข้าตรวจค้นสถานที่
คำถามที่ผู้นำเข้า SME โดนกันมากคือ “สินค้าเหล่านี้มาจากที่ไหน ?”
หากซื้อภายในประเทศก็ต้องมีใบเสร็จซื้อ และมีโรงงานผู้ผลิตให้สืบสาวได้ แต่หากนำเข้าก็ต้องมีใบขนสินค้าขาเข้า ใบเสร็จค่าภาษี หลักฐานจากศุลกากร และหน่ายงานอื่นมาแสดง
ชิปปิ้งตัวดีมีให้พร้อมสรรพ์ หากเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง แท้จริง ทุกอย่างก็จบ
แต่ที่ไม่จบจนกลายเป็นความเสียหายคือ หลักฐานที่ว่านี้เป็นเอกสารและใบรับเงินจากชิปปิ้งตัวดีที่ทำขึ้นเองตามหลักบัญชีเพื่อให้ผู้นำเข้า SME ใช้เป็นข้อมูลทางบัญชี
ใบรับเงินในทางบัญชีย่อมลงรายการได้ แต่ในทางกฎหมาย ใบรับเงินจากชิปปิ้งตัวดีไม่ใช่ใบขนสินค้าขาเข้า ไม่ใช่ใบเสร็จค่าภาษี และไม่ใช่หลักฐานการนำเข้าที่ออกโดยศุลกากร
ตอนได้รับเอกสารจากชิปปิ้งตัวดี ผู้นำเข้า SME ก็มั่นใจ เห็นว่าถูกต้องเลยสนุกกับการค้า
แต่พอถูกตรวจสอบกลายเป็นการหนีภาษี หนีใบอนุญาตจาก มอก. อย. และหน่วยงานอื่น ผู้นำเข้ากลายเป็นจำเลยที่ 1 ในดคีอาญา ส่วนชิปปิ้งตัวดีอาจอยู่เป็นจำเลยที่ 2 หรืออาจไม่อยู่แล้ว
หากเป็นชิปปิ้งตัวร้าย ผู้นำเข้าคงดูออกตั้งแต่แรก หากเป็นตัวแทนออกของก็ยังมีศุลกากรคอยควบคุมดูแล แต่เพราะเป็นชิปปิ้งตัวดี อะไร ๆ จึงดูดีแต่แรกจนกลายเป็นความเสียหาย
การป้องกันก็ไม่ยาก ไม่ว่าจะใช้บริการศุลกากรจากกลุ่มใด ผู้นำเข้าเพียงขอใบขนสินค้าขาเข้า ใบเสร็จค่าภาษี และหลักฐานอื่นต้นฉบับที่ออกโดยศุลกากรหรือหน่วยราชการเท่านั้น
หลักฐานออกโดยผู้ให้บริการเพื่อการลงบัญชีอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่หากผู้นำเข้า SME ไม่มีหลักฐานการนำเข้าที่ถูกต้องอยู่ในมือ ผู้นำเข้าก็ควรเตรียมการป้องกันไว้บ้างจะดีกว่า.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : February 27, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ตลาดแว่นตาจีน โอกาสสำหรับธุรกิจไทย

แว่นตาได้แสดงบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ไม่ว่าในด้านการเรียน การทำงาน กิจกรรมกีฬา หรือบันเทิง ปัจจุบัน แว่นตาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยปรับแก้การมองเห็น ยังเป็นหนึ่งในเครื่องประดับแฟชั่น และสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่แสดงถึงวิถีชิวิตที่ทันสมัยของผู้บริโภค

ตลาดแว่นตาของจีนได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มความต้องการด้านการบริโภคแว่นตาของชาวจีนมีการเปลี่ยนแปลง โดยได้เน้น “ความหลากหลาย” และ “ความเป็นลักษณะส่วนบุคคล” (Personalization) มากขึ้น ประเภทแว่นตาของยุคปัจจุบัน นอกจากแว่นสายตาสั้น แว่นสายตายาว แว่นกันแดดแล้ว ยังมีคอนแทคเลนส์ ซึ่งมีความหลายหลาย และมีสไสตล์ที่แตกต่างกัน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

iimedia Research ได้เปิดเผยข้อมูล และสถิติการบริโภคแว่นตาในปี 2566 ของชาวเน็ตจีนดังนี้

1) สำหรับประเภทแว่นตาที่เคยซื้อ มีร้อยละ 59.81 เคยสั่งซื้อคอนแทคเลนส์ ร้อยละ 58.46 เคยสั่งซื้อแว่นสายตาสั้น ร้อยละ 54.26 เคยสั่งซื้อแว่นกันแดด และร้อยละ 11.37 เคยสั่งซื้อแว่นสายตายาว

2) สำหรับการเลือกซื้อเลนส์ของแว่นสายตาสั้น มีร้อยละ 59.72 เลือกซื้อเลนส์เรซิน ร้อยละ 37.27 เลือกซื้อเลนส์ PC ร้อยละ 30.79 เลื้อซื้อเลนส์กระจก ร้อยละ 25.93 เลือกซื้อเลนส์ไนลอน และร้อยละ 23.38 เลือกซื้อเลนส์ MR แว่นสายตาสั้นได้แสดงบทบาทสำคัญในการปรับแก้การมองเห็นของตา คุณภาพของแว่นเหล่านี้จะมีผลกับความสบาย และความแข็งแรงของตา โดยเลนส์ที่ใช้ นอกจากต้องมีบทบาทพื้นฐาน เช่น ต้านรังสียูวี แสงสีฟ้า เป็นต้น ยังต้องสอดคล้องกับความต้องการอื่นๆ ของลูกค้า เช่น ต้องเป็นแว่นที่น้ำหนักเบา ดูดี ทนทาน เป็นต้น

3) สำหรับความชอบของการเลือกกรอบแว่นตา มีร้อยละ 64.35 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบเรซิน ร้อยละ 47.45 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ร้อยละ 30.09 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบผสม ร้อยละ 29.86 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบที่เป็นพลาสติก ร้อยละ 22.22 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบกระจก

4) ในด้านการเลือกแว่นกันแดด ความถี่ของการซื้อแว่นกันแดด ร้อยละ 41.4 ซื้อปีละ 1 ครั้ง ร้อยละ 20.70 ภายใน 2-3 ปี ซื้อ 1 ครั้ง ร้อยละ 17.20 ซื้อครึ่งปี 1 ครั้ง ร้อยละ 6.73 จะซื้อตอนกรณีแว่นเก่าสิ้นสภาพ ร้อยละ 4.24 ซื้อทุกๆ 3 เดือน 1 ครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง

สำหรับสไตล์แว่นกันแดดที่ชาวเน็ตของจีนนิยม มีร้อยละ 50.37 นิยมรุ่นที่เปลี่ยนสีได้ ร้อยละ 48.63 นิยมรุ่นที่ดาราใส่ ร้อยละ 42.64 นิยมรุ่นที่มีสีธรรมชาติ ร้อยละ 36.41 นิยมรุ่นคลาสสิก และร้อยละ 30.17 นิยมรุ่นสไตล์เก่า แว่นกันแดดเป็น 1 ในเครื่องประดับแฟชั่น การออกแบบและรุ่นของแว่นเหล่านี้จะเปลี่ยนตามฤดูกาลและแนวโน้มความต้องการของตลาด ซึ่งทุกๆ ปี แบรนด์แฟชั่นและนักออกแบบต่างๆ จะเปิดตัวแว่นกันแดดรุ่นใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านแฟชั่นของผู้บริโภค

5) การเลือกใช้คอนแทคเลนส์ ระยะเวลาการใช้คอนแทคเลนส์ มีร้อยละ 60.18 เปลี่ยนเดือนละครั้ง ร้อยละ 53.85 เปลี่ยนสัปดาห์ละครั้ง ร้อยละ 33.03 เปลี่ยนตามรายไตรมาส ร้อยละ 26.24 เปลี่ยนวันละครั้ง และ ร้อยละ 16.06 เปลี่ยนทุกๆ ครึ่งปี ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับการใส่แว่น การใส่คอนแทคเลนส์ช่วยเสริมภาพลักษณ์ และไม่เกิดแรงกดกับจมูกและหู นอกจากนี้ ราคาถูก และไม่จำเป็นต้องใช้ซ้ำ เนื่องจากมีการเปลี่ยนใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อน้อย ดังนั้น คอนแทคแลนส์จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ซึ่งการเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ ต้องเลือกที่เหมาะกับค่าสายตา ดังนั้น เมื่อซื้อคอนแทคเลนส์ ผู้บริโภคจะพิจารณาถึงหลากหลายปัจจัย เช่น ค่าการแพร่ผ่านออกซิเจน (Oxygen transmissibility) ปริมาณของน้ำ ระยะเวลาการใช้งาน ราคา และแบรนด์สินค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แว่นตา เป็นหนึ่งในสินค้าแฟชั่นในปัจจุบัน และจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและทางนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้สามารถเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคให้มากขึ้น ในอนาคตอุตสาหกรรมแว่นตาจะพัฒนาไปทิศทางที่มีความเป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น และมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมแว่นตาจึงจำเป็นต้องเริ่มหันมาใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรีไซเคิลได้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ความเห็นจากสคต.เซี่ยเหมิน :
ข้อมูลสถิติจากศุลกากรจีน ประมวลโดย Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า ปี 2566 ที่ผ่าน จีนนำเข้าแว่นตาชนิดต่างๆ รวมทั้งส่วนประกอบจากทั่วโลก มีมูลค่าทั้งสิ้น 751.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่ารวมของสินค้าในพิกัดศุลกากร 90013000,90031100,90031910,90031920,90031990,90039000,90049090) ลดลงร้อยละ 0.01 โดยนำเข้าจากเขตไต้หวันของจีนมากสุดเป็นอันดับที่ 1 (คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 28.75 ของการนำเข้าทั้งหมด) รองลงมา ได้แก่ ไอร์แลนด์ จีนแผ่นดินใหญ่ (ในรูปแบบ Re-Import) อิตาลี และญี่ปุ่น ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าแว่นตาและส่วนประกอบจากไทยของจีน มีมูลค่านำเข้าเป็น 3.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 142.79 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.44 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยมณฑลกว่างตุ้งได้เป็นด่านนำเข้าสินค้าดังกล่าวมากที่สุดจากไทย คิดเป็นร้อยละ 95.87 ของการนำเข้า นอกจากนี้ จากการเข้าเยี่ยมคารวะสำนักงานพาณิชย์เมืองเซี่ยเหมิน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้าแว่นตา รวมถึงแว่นตาแฟชั่นเป็นกลุ่มสินค้าศักยภาพของเมืองเซี่ยเหมินที่สำนักงานต้องการผลักดันสู่ตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาเมืองเซี่ยเหมินได้จัดงานแสดงสินค้าแว่นตาโดยเฉพาะ โดยมีเนื้อที่จัดแสดงถึง 60,000 ตารางเมตร ซึ่งมีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงาน

แว่นตาเป็นสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบัน จุดแข่งขันของตลาดแว่นตาจะไม่เพียงเป็นเฉพาะด้านราคากับรุ่นสินค้า ยังคงจะขึ้นกับด้านอื่นๆ เช่น การออกแบบและน้ำหนักของแว่นตา และความบางของเลนส์ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของตลาด

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.