SNP NEWS

ฉบับที่ 560

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

รถคันนี้สีฟ้า

“ทำไมรถสีขาวจึงติดสติกเกอร์ว่า รถคันนี้สีฟ้า ?”

หลายปีที่ผ่านมา บนท้องถนนมักเห็นรถยนต์สีขาววิ่งกันมากคล้ายกับสีขาวเป็นสีที่นิยมของผู้ซื้อรถยนต์
ไม่กี่ปีต่อมา เจ้าของรถสีขาวบางคนก็เอาสติกเกอร์ไปติดไว้บนรถยนต์จนผู้พบเห็นแปลกใจด้วยถ้อยคำข้างต้น และคำที่แสดงว่ารถคันนี้เป็นสีอื่น ๆ เช่น
“รถคันนี้สีเหลือง ….. รถคันนี้สีแดง”
“มันเกิดอะไรขึ้น ?” หากต้องการคำตอบ ก็ต้องไปถามเซลล์ขายรถยนต์ซึ่งน่าจะมีความรู้ความเข้าใจดีกว่าผู้อื่น
“ทำไมรถยนต์สีขาวจึงเป็นที่นิยมทั้ง ๆ ที่ราคาแพงกว่าสีอื่น ค่าดูแลรักษาสูงกว่า รักษาก็ยากกว่า แต่บนท้องถนนกลับมีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ สีขาวมาก แถมหลายคันยังติดสติกเกอร์รถคันนี้สีฟ้า สีเหลือง สีแดงอีก”
“มันเกิดอะไรขึ้น ?”
“อ๋อ … มีการสำรวจครับ วัยรุ่นชอบรถสีขาวมากกว่าโดยไม่สนใจเงินที่ต้องจ่ายมากกว่า ตอนซื้อ หรือตอนบำรุงรักษา ผู้บริหารจึงผลิตรถสีขาวออกมามากกว่าเพื่อสนอง พอมีลูกค้าถามหาสีอื่นก็ต้องรอรอบการผลิตใหม่ บางครั้งก็ต้องรอหลายเดือน ผมจึงแนะนำลูกค้าหากไม่อยากรอก็ให้ซื้อสีขาวครับ” เซลล์แมนตอบ
“หมายความว่า ลูกค้าบางคนไม่ได้ชอบสีขาวจริง ๆ แต่ยอมซื้อสีขาวเพราะไม่อยากรอ?”
“ใช่ครับ บางคนไปดูดวงมาแล้วรู้ว่าสีที่ถูกโฉลกคือสีฟ้าก็เอาสติกเกอร์แบบที่ว่านั้นไปติดที่รถอย่างที่เห็นตามท้องถนนครับ แต่อีกส่วนก็ซื้อเพราะไม่อยากรอนานจริงครับ” เซลล์ตอบ
คำตอบของเซลล์ขายรถยนต์ทำให้เข้าใจว่า คนซื้อรถยนต์สีขาวไม่ได้แปลวว่าคนซื้อชอบสีขาวเสมอไป บางคนซื้อเพราะถูกเซลล์แมนโน้มน้าวเพื่อปิดการขายของตนก็มี
การโน้มน้าวกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขายและทำให้เกิดคำว่า “รถคันนี้สีฟ้า” ทั้ง ๆ ที่ความจริงคือ มันคือรถสีขาว

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ดู ๆ ไปก็ไม่ต่างจาก “รถคันนี้สีฟ้า” สักเท่าไร
ขณะรณรงค์หาเสียง พรรคการเมืองก็ทำการศึกษาความต้องการของประชาชนกลุ่มหนึ่ง แน่นอนต้องเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อคะแนนเสียงของพรรคไม่ต่างไปจากการศึกษารถยนต์สีขาว
จากนั้นก็นำความต้องการนั้นมาสร้างนโยบายเสนอประชาชน
ในทางเศรษฐศาสตร์ ทุก ๆ นโยบายต้องมีข้อดี (Benefit) และมีข้อเสีย (Cost) ไม่มากก็น้อย แต่ดูเหมือนพรรคการเมืองจะพยายามปิดซ่อนข้อเสียไว้ บางพรรคศึกษาเพียงเล็กน้อย หรือไม่ศึกษาก็มี จากนั้นก็นำนโยบายมาเสนอประชาชนทั่วประเทศ
ประชาชนกลุ่มที่ชอบใจพรรคอยู่แล้ว ก็เลือกพรรคนั้นเหมือนคนชอบรถยนต์สีขาวโดยไม่สนใจว่า ราคาแพงกว่าสีอื่น ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาแพงกว่า และไม่สนใจว่านโยบายที่พรรคเสนอนั้นจะสร้างข้อดี ข้อเสีย และจะสร้างความเสียหายต่อประเทศมากน้อยเพียงใด
ประชาชนที่ชอบพรรค บางกลุ่มมีความรู้ ความเข้าใจดีแต่ก็เลือกเพราะเห็นว่านโยบายมีประโยชน์ต่อตนเองโดยไม่สนใจโทษที่ผู้อื่นในประเทศที่ต้องแบกรับข้อเสียอย่างไร
ขณะที่ประชาชนบางกลุ่มเลือกแม้จะไม่รู้เรื่องข้อดีข้อเสียเลย แต่เลือกเพราะถูกโน้มน้าว เลือกตามกระแส เลือกเพราะกลัวพรรคที่ไม่ชอบจะมา หรือเลือกเพราะถูกสั่งให้เลือกทั้ง ๆ ที่อาจมีมุมมองอื่นที่แตกต่างออกกัน
มันก็เหมือนการถูกโน้มน้าวให้ซื้อรถยนต์สีขาวนั่นล่ะทั้ง ๆ ที่อาจชอบสีฟ้าจึงมโนเองว่า สิ่งที่เลือกนั้นจะดี ตนจะชอบในภายหลัง แต่สุดท้ายก็ต้องเอาสติกเกอร์มาติด
สิ่งที่น่าตกใจมากคือ พรรคการเมืองบางพรรคใช้จินตนาการผสมเรื่องจริงบางส่วนสร้างนิยายขึ้นมาโน้มน้าวประชาชนก็มีให้เห็นมากมาย
การนำรัฐธรรนูญปี 2560 มาเป็นจำเลยโจมตีให้เป็นผู้ร้ายโดยอ้างเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ ว่า ตอนทำประชามติ ประชาชนไม่รู้เรื่องแต่ยอมรับไปเพื่อให้จบกระบวนการไปก่อน
“ประชาชนอยากเลือกตั้ง” เป็นคำตอบที่พรรคการเมืองอธิบาย
จากตัวเลขที่พบ (https://news.mthai.com/politics-news/511721.html) รัฐธรรรมนูญปี 2560 ตอนลงประชามติ ประชาชนเห็นด้วย 16,820,402 คน คิดเป็นร้อยละ 61.35 ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วย 10,598,037 คน คิดเป็นร้อยละ 38.65
จำนวนประชาชนที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบต่างกันเกือบเท่าตัวราว 2 : 1 จำนวนคนเห็นชอบกับไม่เห็นชอบต่างกันราว 6 ล้านคน
แน่นอน ตัวเลขนี้อาจมีประชาชนบางส่วน “ยอมรับไปก่อนเพื่อเร่งเลือกตั้งจริง” แต่ก็ย่อมมีประชาชนบางส่วนที่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นเพราะอยากรับจริง ๆ
ตัวเลขที่สูงและต่างกันมากขนาดนี้ มันไม่มีทางมองเป็นอื่นได้นอกจากส่วนที่ยอมรับจริง ๆ นั้นย่อมมีมากกว่ามาก ส่วนที่รับไปก่อนก็มีแต่เป็น “ส่วนน้อย”
ข้ออ้างนี้จึงฟังไม่ขึ้น แต่พรรคการเมืองก็นำมาโจมตีรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยจินตนาการ
ระหว่างการหาเสียง ทีวีบางรายการนำนักศึกษาวัยรุ่น 100 คน มาแสดงมติ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับรัฐธรรมนูญ
ผลที่ออกมาก็ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2560 กลายเป็นผู้ร้ายเพียงพริบตา
ในความเป็นจริง จำนวนนักศึกษาวัยรุ่น 100 คนในตอนนี้ จะนำไปเทียบกับประชาชนที่ลงประชามติในตอนนั้นจำนวน 16,820,402 คน ได้อย่างไร
มันต่างกันราวฟ้ากับดิน
สิ่งนี้ก็ดูไม่ต่างไปจากความพยายามโน้มน้าวให้ซื้อ “รถยนต์สีขาว” อีกเหมือนกัน
ในความเป็นจริง ประเทศไทยไม่เหมือนตลาดซื้อขายรถยนต์ แต่พรรคการเมืองก็กลับนำเรื่องหนึ่งมาผสมอีกเรื่องหนึ่ง บางเรื่องก็เป็นจินตนาการล้วน ๆ มาสร้างเป็นนิยายขึ้นใหม่ พูดจาให้เอามันส์อย่างเดียวแล้วนำมาโน้มน้าวให้ประชาชนหลงเชื่อ ชื่นชอบ และลงคะแนนให้
ประชาชนที่เสพข้อมูลโดยไม่คิด ไม่ไตร่ตรองจึงมักถูกโน้มน้าวโดยง่าย
หากประเทศไทยเป็นเหมือนตลาดรถยนต์ก็อาจจะง่าย เลือกพรรคการเมืองแล้วมีผลเสียตามมา หรือเลือกผิด ก็เพียงนำสติกเกอร์มาติดที่พรรคในภายหลัง
อย่างน้อยก็หลอกตัวเองได้
ในความเป็นจริง ระบอบประชาธิปไตยที่สามารถพัฒนาประเทศได้ดีต้องมีประชาชนที่รู้ และความเข้าใจผลดี ผลเสียของแต่ละนโยบายอย่างแท้จริงก่อน
ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นในนักการเมืองที่จะเลือกก่อน
หากประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เชื่อมั่น ระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยเพียงการเลือกตั้งก็ไม่ต่างจากระบอบเผด็จการที่ยัดเหยียดข้อมูลให้ด้านเดียว ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีที่ไป ไม่มีที่มา ไม่มีข้อดีข้อเสียของนโยบายมาแสดงให้เห็น
ประชาธิปไตยบนความไม่รู้ของประชาชน มันก็ไม่ต่างจากเผด็จการเราดี ๆ นี่เอง
หลังการเลือกตั้ง ทุกอย่างน่ายุติลงและการเมืองก็น่าจะเดินไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ภาพที่เห็น คนไทยส่วนใหญ่ยังแตกแยก
พรรคการเมืองยังใช้จินตนาการสร้างเรื่อง สร้างวาทกรรมให้ประชาชนหลงเชื่อ ให้แบ่งฝ่ายเพื่อให้เกิดความแตกแยกที่ง่ายต่อการปกครอง
ภาพเหล่านี้จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างสิ้นเชิง เจตนาที่ต้องการให้คนในชาติมี “ความปรองดอง”

นักวิจารณ์การเมืองบางท่านจึงว่า ประเทศไทยอาจยังไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย จริง ๆ ประชาชนถูกวาทกรรมหลอกลวงได้ง่ายในโลกโซเซียลจนถูกชักจูงให้ลงคะแนนได้ง่ายด้วยข้อมูลเพียงด้านเดียว
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งไม่เหมือนการซื้อรถยนต์ เมื่อเลือกตั้งแล้วก็ไม่สามารถนำสติกเกอร์มาติดที่พรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองมาสร้างความสงบสุขแก่ทุกคนในชาติได้
เมื่อการเลือกตั้งไม่เหมือนการซื้อรถยนต์ สุดท้ายบ้านเมืองก็ถูกนักการเมืองที่อยากชนะ อยากได้อำนาจโดยไม่สนใจความถูกผิด สร้างวาทกรรมขึ้นมามากมายเพื่อชักนำประชาชนจนบ้านเมืองอาจไหลกลับสู่วังวนของความขัดแย้งอีกครั้ง
ความขัดแย้งที่สร้างความวุ่นวายจนกระทบต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเรื่อยมา
ในเมื่อประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่อำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนควรหยุดวาทกรรมทางการเมือง ไม่ขยายความขัดแย้งโดยตัวประชาชนเอง
หากประชาชนไม่พาตัวเข้าไปเป็นเครื่องมือ ไม่เข้าไปส่งเสริมวาทกรรมของนักการเมือง ความขัดแย้งก็น่าจะยุติโดยประชาชนโดยพลัน ประเทศชาติก็จะเข้าสู่โหมดความสงบสุขที่เป็นของประชาชนเอง
นี่ล่ะคือเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

กทท.ร่วมลงนามในข้อตกลงท่าเรือพี่น้องกับท่าเรือ Rizhao
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำโดย คุณสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานกรรมการ กทท. พร้อมด้วย คุณนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมือง Qingdao กรรมการ กทท. คุณโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ คณะผู้บริหาร กทท. และผู้บริหารบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยานในข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่าง กทท. และท่าเรือ Rizhao (Sister Port Agreement between Port Authority of Thailand and Rizhao Port) เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและส่งเสริมการขนส่งระหว่างไทยและเมือง Rizhao โดยปัจจุบันมีการขนส่งตู้สินค้าระหว่างไทยและเมือง Rizhao ผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) จำนวน 400-500 ทีอียู ต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ หลังจากมีการลงนามในข้อตกลงฯ ทั้งสองฝ่ายจะประสานความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ การพัฒนาบุคลากรระหว่างกัน และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการท่าเรือ ครอบคลุมทั้งธุรกิจท่าเรือและธุรกิจโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างทั้งสองท่าเรือจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการลงทุนและการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศไทยไปยังตอนเหนือของประเทศจีน ณ ท่าเรือ Rizhao เมือง Rizhao ประเทศจีน