SNP NEWS

ฉบับที่ 566

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

เวเนซุเอลา


วิกฤติเวเนซุเอลา !

บทเรียนแสนสาหัส ฝันร้ายของประชานิยม

หัวข้อข่าวดังกล่าวนำมาจาก https://money.kapook.com/view207485.html ที่กล่าวถึงต้นเหตุของความ(การ)ล่มสลายในประเทศเวเนซุเอลา

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่เคยร่ำรวยจากน้ำมัน แต่เพราะระบอบประชาธิปไตยที่แตกแยก แบ่งฝ่าย นักการเมืองต่างต้องการเอาชนะจึงใช้นโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งที่ถูกใจคนจนเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง

ไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ คนจนหรือคนมีรายได้น้อยย่อมมีจำนวนมากกว่าคนรวยหรือคนมีรายได้มากอยู่แล้ว

ประชาธิปไตยจะเริ่มจากประชาชนทุกคนมี 1 คะแนนเสียงเท่านั้น

ในการตัดสินเลือกผู้บริหารประเทศ แน่นอนพรรคการเมืองไหนใช้นโยบายประชานิยมที่สุดโต่งและถูกใจประชาชนมากกว่า พรรคการเมืองนั้นก็ยิ่งจะได้รับเลือกมากกว่า

ประชานิยมจึงเป็นใบเบิกทางง่าย ๆ ของนักการเมืองโดยไม่ได้ใช้เงินของตัวเองเพื่อเข้าสู่อำนาจ เมื่อนักการเมืองต่างแข่งขันกันด้วยประชานิยม ประเทศก็เกิดความแตกแยก ประชาชนที่เสพติดประชานิยมก็ย่อมแตกแยกตามไปด้วย

นักการเมืองที่ทุจริตมักใช้วิสัยทัศน์ในทางที่ผิด จึงใช้ความแตกแยกของประชาชนให้เป็นประโยชน์ต่อตนด้วยการแยกประชาชนเพื่อปกครองโดยไม่สนใจเศรษฐกิจของประเทศจะตกต่ำ

ประเทศใดมีความแตกแยกทางการเมืองมาก ประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ จีน และรัสเซียก็ยิ่งเข้าแทรกแซงเพื่อหวังผลประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศนั้นได้ง่าย

สุดท้าย เวเนซุเอลาก็เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) สกุลเงินโบลิวาร์ทะลุสูงขึ้น 80,000% ในปี 2018 ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างมหาศาล เช่น ราคาไก่สดตัวละ 1,900 บาท (14.6 ล้านโบลิวาร์) ข้าวสารบรรจุถุงกิโลกรัมละ 330 บาท (2.5 ล้านโบลิวาร์) หรือกระดาษชำระม้วนละ 340 บาท (2.6 ล้านโบลิวาร์) เป็นต้น

เงินยิ่งเฟ้อ ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้น ประชาชนก็ยิ่งขาดเงินในการดำรงชีวิต ยิ่งมาได้รัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์ การแก้ปัญหาก็ใช้วิธีการพิมพ์เงินโบลิวาร์เพิ่มเพื่ออัดฉีดเข้าสู่มือประชาชน

แต่ยิ่งพิมพ์เงินเพิ่มมากขึ้น ภาวะเงินเฟ้อก็ยิ่งรุนแรงขึ้น ในที่สุด รัฐบาลก็ตัดสินใจเปลี่ยนสกุลเงิน ‘โบลิวาร์’ (Bolivar) มาเป็น ‘ซอฟเวอเรน โบลิวาร์’ เพื่อหวังหยุดภาวะเงินเฟ้อ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์กลับแย่ลงเรื่อย ๆ

ไม่ใช่ประเทศใดจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำแบบนี้ได้ง่าย ๆ หากไม่ใช่นักการเมืองขาดวิสัยทัศน์

ทุกประเทศต้องมีนักการเมืองเป็นผู้นำนโยบายออกสู่การปฏิบัติ นักการเมืองที่ขาดวิสัยทัศน์ก็ย่อมทำอะไรก็ได้เพื่อหวังผลทางการเมืองเฉพาะหน้าอย่างที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา

ปัจจุบัน เวเนซุเอลากลับกลายเป็นประเทศยากจน ไฟฟ้าดับทั่วประเทศบ่อย ประชาชนจำนวนมากต้องอดยาก(อดหยาก) ขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคอย่างหนักถึงขนาดต้องต่อคิด(คิว)ยาวเพื่อรออาหารจากรัฐบาล

ประชาชนส่วนหนึ่งต้องประทังชีวิตด้วยเนื้อเน่า น้ำดื่มที่ไม่สะอาด เด็กทารกและผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มนับหมื่นคนโดยไม่มีใครรู้ว่า เวเนซุเอลาในอนาคตจะเป็นอย่างไร ???

บทเรียนเวเนซุเอลาให้อะไรกับประเทศไทยบ้าง ???
เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทย

ช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะประชานิยมอย่างหนักเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากคนจนที่มีจำนวนมากของประเทศไม่ต่างจากเวเนซุเอลา

แม้แต่รัฐบาล คสช. ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งก็หนีประชานิยมเพื่อให้ได้คะแนนนิยมไปไม่พ้น

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ประชานิยมถูกนำมาเป็นนโยบายของหลายพรรคการเมืองเหมือนเดิมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และไม่สนใจประเทศจะนำเงินมากมายมาจากไหนเพื่อทำประชานิยม

แม้แต่พรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. ก็เช่นกัน

ประชานิยมยิ่งถูกนำมาใช้มาก ฐานะการคลังก็ยิ่งถูกกระทบมาก ภาวะเงินเฟ้อก็ยิ่งมาก ยิ่งดูไปก็ยิ่งไม่ต่างจากเวเนซุเอราไปสักเท่าไร

แม้ภาวะเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ค่าเฉลี่ยที่ 2.5% แต่ก็อยู่ภายใต้การสังเกตุและการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คอยส่งสัญญาณเตือน รอเพียงเมื่อไรประเทศไทยจะได้ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ขึ้นมา

เมื่อไรที่ผู้นำประเทศขาดวิสัยทัศน์ เมื่อนั้นความหายนะจะเกิดแก่ประเทศ

ภายหลังการเลือกตั้ง นักการเมืองของไทยยังแย่งอำนาจไม่สิ้นสุด ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันเพื่อแย่งชิงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

ภาพความแตกแยกเหล่านี้อาจสื่อถึงความมีวิสัยทัศน์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงวิสัยทัศน์เพื่อการแย่งชิงอำนาจเท่านั้น ไม่ได้สื่อถึงความเป็นนักการเมืองที่ดีแต่อย่างใด

ขณะที่นักการเมืองบางรายก็สื่อถึงการขาดวิสัยทัศน์ด้วยซ้ำไป

นักการเมืองขาดวิสัยทัศน์คืออันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและต่อประเทศ

บทเรียนจากเวเนซุเอลาทำให้เห็นว่า เวเนซุเอลาและไทยมีอะไรคล้ายย(คล้าย ๆ)กันหลายอย่าง มีทรัพยากร มีประชาธิปไตยคล้ายกัน มีนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์และที่ขาดวิสัยทัศน์ มีประชาชนยากจนที่รอคอยประชานิยมคล้ายกัน

ภายหลังการเลือกตั้งทั้งเวเนซุเอลาและไทยก็จะได้ผู้นำประเทศคล้ายกัน

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ภายหลังการเลือกตั้งเวเนซุเอลาจะได้ผู้นำประเทศในตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ไทยจะได้ผู้นำประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เป็นนายกรัฐมนตรีอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขสูงสุด

ความหมายที่เห็นชัดคือ ประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศและเป็นผู้นำที่มาจากพรรคการเมือง เมื่อเกิดความขัดแย้งไม่ว่าระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคการเมือง หรือระหว่างประชาชนกับประชาชน ประธานาธิบดีก็ต้องอยู่ในความขัดแย้งโดยไม่มีฝ่ายใดจะยอมฝ่ายตรงข้ามนั้นด้วย

สุดท้ายก็กลายเป็นความหายนะของประเทศ

ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นสถาบันที่พรรคการเมืองและประชาชนทั้งประเทศต่างยอมรับและยอมยุติความขัดแย้งเพื่อพระองค์

นี่เองที่เป็นความแตกต่าง นี่เองที่เป็นความร่มเย็นของไทย

ตราบใดที่ความเคารพและการเทิดทูลของประชาชนต่อสถาบันยังมีสูงสุด นักการเมืองที่ใช้วิสัยทัศน์ในทางมิชอบก็ไม่สามารถใช้ความแตกแยกมาแบ่งประชาชนเพื่อแยกการปกครองได้
แยกอย่างไรก็แยกประชาชนไม่ขาด

ความแตกต่างนี่เองที่จะทำให้ไทยไม่เหมือนเวเนซุเอลาอย่างสิ้นเชิง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

กทท. ลงนามความร่วมมือกับท่าเรืออินเดีย เชื่อม BIMSTEC

เมื่อระหว่างวันที่ 22 – 27 เมษายน ที่ผ่านมา คณะผู้แทน กทท. ประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กทท. โดยมีคุณสมชาย เหมทอง ผช. อทร.(บธ) เป็นหัวหน้าคณะฯ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปเยี่ยมคารวะ และเจรจาธุรกิจกับผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือ Chennai รัฐ Tamil Nadu ประเทศอินเดีย และการท่าเรือ Visakhapatnam รัฐ Andhra Pradesh ประเทศอินเดีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ เจรจาธุรกิจ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างท่าเรือไทย ภายใต้การดูแลของ กทท. กับท่าเรือดังกล่าว ในลักษณะ Port-to-Port Cooperation เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านต่างๆ อาทิ ด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการท่าเรือ รวมถึงด้านการปฏิบัติการท่าเรือ และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน

ท่าเรือ Chennai มีบทบาทหน้าที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของประเทศอินเดียมายาวนานกว่า 137 ปี ซึ่งถือเป็นท่าเรือหลักที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับสามของประเทศ มีความลึกหน้าท่าระหว่าง 8.5 ถึง 16.5 เมตร มีท่าบริการสินค้าทั้งหมด 24 ท่า (ท่าตู้สินค้าสองท่า) ซึ่งสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ สินค้าเทกอง และ รถยนต์ เป็นต้น เพื่อรองรับการบริโภคของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ในบริเวณภาคใต้และชายฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดียเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นท่าเรือ Transit Hub ในการขนส่งสินค้าต่อไปยังท่าเรือวิสาขปัตนัม และท่าเรือโกลกัตตา โดยปี 2018 มีสินค้าผ่านท่าทั้งหมด 51.88 ล้านตัน มีตู้สินค้าผ่านท่า 1,549,457 ทีอียู ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 54,626 ทีอียู อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การท่าเรือเจนไนกำลังประสบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากท่าเรือเอกชนเป็นอย่างมาก จึงได้นำนโยบายการตลาดเชิงรุก เข้ามาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ของท่าเรือ

ท่าเรือ Visakhapatnam เป็นหนึ่งในท่าเรือหลักของประเทศอินเดียตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างท่าเรือ Chennai และท่าเรือ Kolkata โดยเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีความลึกหน้าท่า 14.5 ถึง 18 เมตร มีท่าบริการสินค้าทั้งหมด 24 ท่า ซึ่งมีระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสากล ในการให้บริการสินค้า Bulk, Break Bulk, Liquid, LPG และ Container ซี่งเน้นการให้บริการสินค้าที่ใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมพลังงานเป็นหลัก อาทิ ถ่านหิน น้ำมันดิบ เหล็ก ปุ๋ย หินแร่ต่างๆ โดยท่าเรือแห่งนี้ เป็นท่าเรือเพียงแห่งเดียวในประเทศอินเดียที่สามารถให้บริการเรือขนาด Super Cape Size (ประมาณ 230-250,000 เดทเวทตัน) และเป็นท่าเรือที่ให้บริการเรือสินค้าตู้สินค้าที่มีร่องน้ำลึกที่สุดของประเทศ ในปี 2018 มีสินค้าผ่านท่าทั้งหมด 65.3 ล้านตัน และมีตู้สินค้าผ่านท่า 450,000 ทีอียู ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณสินค้าผ่านท่าไว้ที่ 85 ล้านตัน ในปี 2020

ในการนี้ ภายหลังจากการเจรจาร่วมกัน ท่าเรือทั้งสองแห่งมีความยินดีที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ กทท. ในลักษณะ Port –to-Port Cooperation ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งผู้แทนทั้งสองฝ่าย ในการดำเนินการตามกรอบการทำงานของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการลงนามภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2019

นอกจากนี้ผู้แทน กทท. ได้หารือและเจรจาธุรกิจในลักษณะ Focus Group กับผู้ประกอบการสายเรือ/ผู้ประกอบการ Coastal Shipping และโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย Samudera Shipping Line (India), RCL Agencies East India, Transworld Group, Avana Logistek, Global Logistics Solutions India และ Consolidated Shipping Line(India) เพื่อนำเสนอศักยภาพและโครงการพัฒนาของท่าเรือระนอง ในการพัฒนาเป็นประตูการค้าของไทย เชื่อมกลุ่มประเทศ BIMSTEC พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับแผนงานด้านการตลาด และโอกาสในการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งระหว่างไทยกับท่าเรือ Chennai และท่าเรือ Visakhapatnam เพื่อยกระดับท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าเชื่อมกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/2019/05/13/