CEO ARTICLE

ตัวร้าย


Follow Us :

    

“ถ้าไบเดนชนะ จีนก็ชนะ จีนจะครอบครองประเทศนี้”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรคริพับลีกัน กล่าวถ้อยคำโจมตีนายโจ ไบแดน ตัวแทนพรคเดโมแครต ในการหาเสียงชิงประธานาธิบดีของสหรัฐที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. 2563
การเมืองของสหรัฐมีเพียง 2 ขั้วหลักสลับกันขึ้นนำประเทศผ่านการเลือกตั้ง สหรัฐจะไปในแนวทางใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายที่ใช้หาเสียง
เลือกตั้งครั้งก่อน ทรัมป์ใช้นโยบาย “America First” เพื่อให้สหรัฐเป็นที่หนึ่งเหนือจีน
ภายหลังเลือกตั้ง ทรัมป์ชนะ และทำสงครามการค้ากับจีนเนื่องจากจีนเติบโตเร็ว สินค้าจีนมีราคาถูกหลั่งไหลเข้าสหรัฐ ถูกใจคนจน และทำให้สหรัฐเสียดุลการค้า
2-3 ปีที่ผ่านมาสหรัฐก็ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็นว่าเล่น จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐกลับ ผ่อนคลายกันบ้างบางช่วง กระทบต่อประชาชนไม่ใช่แค่ 2 ประเทศ แต่รวมห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั่วโลก และการส่งออกของไทยก็หนีไม่พ้น
การเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัมป์ยังคงใช้แนวคิดสร้างไบเดนและจีนให้เป็น “ตัวร้าย” ร่วมกันให้คนอเมริกันกลัว ต้องเลือกทรัมป์ ต้องให้ทรัมป์ไปต่อต้านจีน เช่น
1. จะไม่อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทของสหรัฐที่แบ่งงานให้จีน
2. จะเก็บภาษีบริษัทสหรัฐที่ทิ้งสหรัฐไปตั้งฐานการผลิตและสร้างงานในจีน
3. จะหาวิธีการนำคนของสหรัฐที่ไปทำงานในจีนกลับคืนสู่สหรัฐ
4. จะไม่พึ่งพาสินค้าจากจีน แต่จะให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจการผลิตแทนจีน
5. จะให้จีนรับผิดชอบโทษฐานปล่อยให้ Covid-19 เริ่มต้นจากจีนแพร่ระบาดไปทั่วโลก

ก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อน เศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่อยู่แล้ว ค่าแรงสูง สินค้าจึงมีราคาสูงตาม คนว่างงานมากจนเป็นเหตุให้สินค้าจีนที่มีค่าแรงถูกกว่า และราคาต่ำเข้าไปตีตลาด
คนไทยที่ไปตั้งรกรากในสหรัฐจำนวนหนึ่งถึงกับอยู่ไม่ได้ ขายกิจการ และกลับไทย
ครั้งนั้น ทรัมป์ก็ยัด “ตัวร้าย” ให้จีนจนชนะ แต่ครั้งนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าในอนาคต สหรัฐกับจีนใครจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจมากกว่ากัน และคนอเมริกันจะเลือกใคร
แต่วันนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำกว่าเดิมมากแถมยังมี Covid-19 แพร่ระบาดไปทั่ว
ในสหรัฐมีผู้ติดเชื้อรวมแล้วมากกว่า 7 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วมากกว่า 2 แสนราย ไม่มีทีท่าจะจบง่าย ๆ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐยิ่งย่ำแย่กว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน
สหรัฐมีประชากรราว 240 ล้านคน จีนมีราว 1,400 ล้านคน และ 2 ประเทศอยู่ห่างคนละซีกโลก สงครามการค้าเป็นเรื่องการซื้อ การขาย การจ้างงาน การผลิต และโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงให้ถึงกันทั่วโลกซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าสงครามอาวุธที่ใช้ขีปนาวุธยิงใส่กัน
ความซับซ้อนทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องการประเทศคู่ค้าและพันธมิตร หากภายหลังเลือกตั้ง ทรัมป์ชนะแล้วยืนยันจะทำสงครามการค้ากับจีนต่อ ด้านหนึ่งทรัมป์จำเป็นต้องมีประเทศพันธมิตรเช่นไทยมากขึ้น แต่อีกด้านสงครามการค้าที่จะยิ่งหนักขึ้นที่อาจลามไปถึงสงครามอาวุธ
แน่นอน ทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐหรือไม่ ต้องถูกกระทบแน่เพราะสินค้าจีนราคาถูก ได้ใจคนจน และจีนทำการค้ากับทุกประเทศมานาน
การเมืองก็คือการเมือง ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่ต่างกัน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมีต่อประเทศตนหรือประเทศพันธมิตรมีความสำคัญน้อยกว่าคะแนนเสียงและผลประโยชน์ที่จะได้
สงครามไม่หน่ายอุบาย การเมืองก็ไม่ต่างกัน ในตำราเรียนจึงกล่าวว่า “การเมืองคือ การชิงอำนาจและผลประโยชน์” (ดร. ปธาน สุวรรณมงคล)
การเมืองอดีตใช้นโยบายแข่งขันเอาชนะกัน แต่การเมืองปัจจุบันใช้การสร้างตัวร้าย แล้ว “บูลลี่” ให้กระทบชิ่งไปถึงคู่แข่งให้เสียหายแม้จะเป็นการเมืองระดับโลก
การเมืองจึงมีความสกปรกในตัวของมัน ไม่ว่ายุคใด ประเทศใด และไม่แน่ว่าวันหนึ่ง ไทยก็อาจถูกสร้างให้เป็นตัวร้ายต่อสหรัฐ จีน และประเทศอื่นได้เหมือนกัน
เหลียวดูการเมืองของไทย การสร้าง “ตัวร้าย” ก็ไม่ต่างจากสหรัฐเพื่อแย่งชิงความนิยมจากเยาวชนที่ได้สิทธิ์เลือกตั้งมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
ฝ่ายหนึ่งสร้างม็อบให้เป็นตัวร้ายที่เดินตามสหรัฐเพื่อครอบงำไทยให้เป็นพันธมิตร อีกฝ่ายสร้าง “ลุงตู่” ให้เป็นตัวร้ายตัวทำลายเศรษฐกิจไทย
ทรัมป์เป็นนักธุรกิจมาก่อน แต่แก้ปัญหา Covid-19 และเศรษฐกิจมหภาคไม่ดี คนสหรัฐจึงยังยากจนและแตกแยกทั้งจากปัญหาปากท้อง สีผิว และการประท้วง
ลุงตู่เป็นทหารมาก่อน ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจ แก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคไม่ดี แก้ปัญหา Covid-19 ได้ดี แต่คนไทยก็ยังยากจน แตกแยก และมีม็อบประท้วงจากเกมการเมือง
2 ประเทศมีทั้งต่างและคล้ายกัน การสร้างตัวร้ายในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นไม่เว้นวัน
ไม่มีใครตอบได้ว่า คนสหรัฐ คนจีน หรือคนไทย ใครเข้าใจการเมืองมากกว่ากัน แต่ตัวร้ายของทรัมป์ก็เคยชนะการเลือกตั้ง ความแตกแยกในหลายประเทศก็ยังอยู่ สงครามการค้าก็เกิดขึ้น การส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบ และเศรษฐกิจไทยก็เสียหาย
การสร้างตัวร้ายจึงน่ากลัวกว่าที่คิด ไม่ว่าคนไทยคนหนึ่งจะเข้าใจการเมืองมากเพียงใด วันหนึ่งก็อาจถูกสร้างให้เป็น “ตัวร้าย” เพียงชั่วข้ามคืนหากไปหลง ไปโพสต์ แชร์ หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไม่รู้เท่าทัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปรึกษาปัญหาศุลกากรและ Logistics ฟรีได้ที่ www.snp.co.th

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

WTO ตัดสินสหรัฐฯละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศกรณีขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน

สหรัฐฯ – จีน สหายคู่ปรับ ผลัดกันช่วงชิงอำนาจต่อรองความได้เปรียบ/เสียเปรียบการค้าโลก จนหลายๆครั้งเพื่อนร่วมโลกต้องสะท้านสะเทือนไปด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา WTO (World Trade Organization) หรือ องค์การการค้าโลก ประกาศคำตัดสินว่า
การที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ามากกว่า 200 พันล้านเหรียญฯ ในช่วงปี 2018 เป็นการละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ และไม่มีหลักฐานสนุบสนุนความชอบธรรมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
แน่นอนว่าคำตัดสินของ WTO ที่ไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ ย่อมถูกท้วงติง นาย Robert Lightizer, U.S. Trade Representative Ambassador แสดงความเห็นว่า คำตัดสินของ WTO นี้ เป็นการยืนยันสิ่งที่ฝ่ายบริหารของปธน. Trump ได้พูดมาตลอด 4 ปีว่า WTO ไม่ได้ทำหน้าที่ดีพอในการหยุดยั้งความเสี่ยงจากการดำเนินการด้านเทคโนโลยีที่เป็นอันตรายของจีน สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องต่อสู้และป้องกันตนเองจากการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมด้านการค้า โดยจะไม่ปล่อยให้จีนใช้ WTO เป็นเครื่องมือเอาเปรียบทางแรงงาน ธุรกิจ และเกษตรกรรมกับสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่คำตัดสินของ WTO จะประกาศออกมา รัฐบาลประธานาธิบดี Trump ก็กล่าวอ้างมาตั้งแต่แรก ว่าการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการกับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมด้านการค้าและการขโมยสิทธิทางปัญญาที่จีนมีต่อสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามสหรัฐฯมีเวลา 60 วันที่จะอุทธรณ์คำตัดสินของ WTO และ จีนก็อาจจะร้องขอ WTO ให้ทำการตัดสินชี้ขาดอย่างเป็นทางการ
หากมีการอุทธรณ์จริง อาจจะกินเวลานานหลายปี เนื่องจากปัจจุบันศาสอุทธรณ์ของ WTO ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ยอมรับสมาชิกรายใหม่ของศาล และสหรัฐฯ เองก็อยู่ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ด้วย

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.