CEO ARTICLE

เจ้าโลก


Follow Us :

    

“หอการค้ามะกันเตือน ‘สหรัฐฯ ถูกทิ้ง’ หลัง 15 ชาติเอเชีย-แปซิฟิก เซ็น RCEP ตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก” (MGROnline 17 พ.ย. 63)

RCEP ย่อมาจาก Regional Comprehensive Economic Partnership – ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคซึ่งมีการลงนามกันเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63
สมาชิกที่ลงนามมี 15 ประเทศ ประกอบด้วย ASEAN 10 ประเทศ (สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และไทย) และอีก 5 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน
ประชากรของ 15 ประเทศรวมกันได้ราว 2,200 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ร่วมกันราว 30% ของโลก จึงเป็นข้อตกลงทางการค้าและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก
ความตกลงนี้ทำให้ภาษีศุลกากรและระเบียบต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศสร้างให้เป็นเครื่องมือป้องกันประเทศลดบทบาทลง ส่งผลให้การส่งออกและการนำเข้าคล่องตัวมากขึ้น
การฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก Covid-19 ของประเทศสมาชิกก็จะดีและเร็วขึ้นตามไปด้วย
ส่วนประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ การได้ตลาดใหม่ ๆ การส่งออก เช่น สินค้าเกษตร อาหาร การก่อสร้าง แรงงาน สุขภาพ การลงทุน และโลจิสติกส์ เป็นต้น
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมสหรัฐในยุคทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญข้อตกลงเหล่านี้โดยก่อนหน้านี้ก็ถอนตัวจาก CPTPP – Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership – ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ไม่แพ้ RCEP ตั้งแต่ 3 ม.ค. 60 จนเป็นข่าวใหญ่เวลานั้น
สหรัฐเป็นผู้ริเริ่มข้อตกลงต่าง ๆ แต่ไม่เข้าร่วม จีนผลักดันและเริ่มเข้าร่วม ขณะที่หอการค้าของสหรัฐต้องออกมาเตือนตามหัวข้อข่าวข้างต้น

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา หากจะกล่าวว่า สหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และการทหาร หรือจะเรียกว่า สหรัฐคือ ‘เจ้าโลก’ อันดับ 1 ก็ไม่น่าจะผิดนัก (https://sites.google.com/)
สหรัฐใช้ ‘ประชาธิปไตย’ ที่แฝงไปด้วยวัฒนธรรมต่าง ๆ ของตนส่งออกไปยังประเทศอื่นที่เห็นว่า ‘ยังไม่เป็นประชาธิปไตย’ มีการให้ความรู้ ชี้นำ ให้ช่วยเหลือด้านการเงินแก่คนรุ่นใหม่ทั้งในทางลับและทางแจ้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อน
ขณะที่จีนในอดีตเป็นประเทศ ‘หลังม่านไม้ไผ่’ ด้อยพัฒนา ล้าหลัง แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา จีนใช้ ‘สินค้าและบริการ’ ส่งออกไปยังประเทศอื่น ได้เงินตรา สร้างงาน สร้างเงิน พัฒนาเทคโนโลยี และการทหาร จีนใช้ระบบเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อน
วันนี้จีนถูกกล่าวว่าได้ขึ้นมาเป็น ‘เจ้าโลก’ อันดับ 2 ต่อจากสหรัฐ
แต่หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยมาก มีทีท่าว่าจะถูก ‘สินค้าและบริการ’ ของจีนที่นำเข้าไปในสหรัฐยึดครองตลาดจนอาจเป็นรองจีนด้านเศรษฐกิจ
ทรัมป์จึงใช้นโยบาย America First เพื่อผลักดันให้สหรัฐยืนเป็นที่ 1 และพยายามไม่เข้าร่วมในข้อตกลงใด ๆ กับจีนเพื่อกีดกันสินค้าจีนไม่ให้เข้าสหรัฐมากขึ้น เว้นแต่จำเป็น
การถอนตัวจาก CPTPP และการไม่ร่วม RCEP แม้จะมองว่า สหรัฐเสียเปรียบด้านการส่งออก แต่ก็เป็นการลดการนำเข้า และลดความเสี่ยงการเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจไปในตัว
ส่วนผลอีกทางหนึ่งก็เป็นการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ นี่จึงอาจเป็นกุศโลบายของทรัมป์เพื่อรักษาความเป็นเจ้าโลกอันดับ 1 สอดคล้องกับนโยบาย Buy American หรือ “ให้คนอเมริกันซื้อสินค้าที่ผลิตโดยคนอเมริกัน” ที่โจ ไบเดนใช้หาเสียงจนชนะก็ได้
หันมาดูประเทศไทย วันนี้ไทยไม่มีนโยบายส่งเสริมการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่ชัดเจน เข้าร่วมในข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ก็หวังการส่งออกโดยลืมมองสินค้าและบริการจากต่างประเทศที่เตรียมบุกเข้าไทยเช่นกัน
หากโจ ไบเดน คิดตามหอการค้าสหรัฐที่เตือน เปลี่ยนมาเข้าร่วมทั้ง CPTPP, RCEP และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอื่น ก็ย่อมทำให้สินค้า บริการ เทคโนโลยี ทรัพย์สินปัญญา สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และลิขสิทธิ์เตรียมยกพลร่วมกับจีนบุกเข้าไทยมากขึ้น
สหรัฐและจีนชิงกันเป็นเจ้าโลกอันดับ 1 ข้อตกลงทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือชั้นดี ไทยเข้าร่วมบ้างและไม่เข้าบ้าง สหรัฐและจีนมีประชาชนที่ภูมิใจในความเป็นชาติของตนเป็นส่วนใหญ่ เดินตามนโยบายผู้นำ ส่วนไทยขาดความชัดเจนในด้านนี้
ดังนั้น หนทางที่จะยืนมั่นคงท่ามกลางสงครามเจ้าโลกคือ ไทยต้องใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทย (Localization) ตั้งรับ ส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และเชิดชูทุก ๆ วัฒนธรรมอันดีงามในทุกภูมิภาคของไทยให้ยั่งยืน
มิฉะนั้น สินค้าและวัฒนธรรมต่างชาติก็จะเข้ามาแทนที่ การนำเข้าก็จะสูงขึ้น และไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นเจ้าโลกอันดับ 1 หรือ 2 ไทยก็จะสูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นไทย และตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอยู่ดี
มันจึงอยู่ที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบจะเห็น และจะเริ่มส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทยเพื่อความอยู่รอดจากสงครามชิงเจ้าโลกที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างประเทศ เกิดจากกำแพงภาษีที่ถูกทำลาย และเกิดจากความเป็นไทยที่ค่อย ๆ เจือจางไปในเวลานี้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ไทยได้-เสียอะไรบ้างจากข้อตกลง RCEP

ในที่สุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งประกอบด้วยประเทศอาเซียนทั้ง 10 และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็ผ่านการลงนามร่วมกันอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย หลังจากพยายามเจรจากันยาวนานถึง 8 ปี

แม้ว่าอินเดียจะถอนตัวออกไป ข้อตกลงนี้ก็ยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลของปี 2019 RCEP มีประชากรรวมกัน 3,600 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพี 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้ารวมกัน 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ขณะที่ไทยค้าขายกับกลุ่มประเทศ RCEP กว่า 141,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 55.79% ของมูลค่าการส่งออกของไทย

ด้วยเหตุนี้ RCEP ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสร้างความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุน ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจ และเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าและการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐภายใต้นโยบาย America First (อเมริกาต้องมาก่อน) จึงเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็มีทั้งเป็นโอกาสและเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับไทย

ความกังวลอันดับแรกๆ ที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพูดถึงคือ ผลกระทบกับเกษตรกรรายเล็กๆ และความขัดแย้งเหนือที่ดินทำกิน

อาเรียสกา คูนิอาวาตี จากองค์กร Solidaritas Perempuan ในอินโดนีเซียเผยว่า “การเปิดตลาดสู่ประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งลดภาษีสินค้าเกษตรระหว่างกันค่อนข้างสูงจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเกษตรกรและผู้ผลิตรายเล็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนา”

บทความเรื่อง How RCEP affects food and farmers (RCEP กระทบต่ออาหารและเกษตรกรอย่างไร) ขององค์กร GRAIN ระบุว่า ข้อตกลง RCEP จะทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินขนานใหญ่

ประเทศ RCEP ส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม แต่นักลงทุนสามารถเช่า ได้รับใบอนุญาต หรือสัมปทานด้วยเขื่อนไขที่แตกต่างกัน

ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทและนักลงทุนต่างชาติพยายามกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรไว้เก็งกำไร นับตั้งแต่ปี 2008 เฉพาะประเทศ RCEP อย่างเดียวบริษัทต่างชาติกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรไปมากถึง 60 ล้านไร่

การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในลักษณะนี้ทำให้บริษัทต่างชาติมีสิทธิ์ต่างๆ เหนือที่ดินมากมาย ทั้งยังทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นมากจนนำมาสู่การเก็งกำไร ทำให้เกษตรกรรายย่อยถูกบีบออกจากที่ดินในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาในข้อตกลงที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงที่ดิน โดยในหมวดการลงทุนที่กำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ภายใต้ความตกลง RCEP เช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ (national treatment) ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนจากต่างชาติย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดนี้เสมือนเป็นการเอื้อให้ที่ดินที่อยู่ในมือเกษตรกรในท้องถิ่นเปลี่ยนมือไปสู่บริษัทและนายทุนต่างชาติ

นอกจากนั้น เป้าหมายลดภาษีสินค้าสูงที่สุดถึง 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด อาจทำให้สินค้าจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่าทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ดังที่อินเดียซึ่งถอนตัวจากข้อตกลงไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กังวลว่าการลดภาษีระหว่างกันจะทำให้สินค้าราคาถูกจากจีน และสินค้าเกษตรจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หลั่งไหลเข้ามาตีตลาดสินค้าในประเทศ ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตในท้องถิ่น

นอกเหนือไปจากนี้ ประเทศ RCEP ส่วนใหญ่ยังตั้งกำแพงภาษีสินค้าอ่อนไหวบางประเภทไว้ค่อนข้างสูง อาทิ ข้าว รองเท้า ผลิตภัณฑ์จากนมและน้ำผึ้ง ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังคงเดินหน้าปกป้องสินค้าของตัวเองได้ภายใต้มาตรการนี้ อย่างในกรณีของญี่ปุ่น ที่ประกาศว่าจะยังคงภาษีสินค้าเกษตร 5 ชนิดไว้ ได้แก่ ข้าว เนื้อวัว เนื้อหมู ข้าวสาลี และน้ำตาล เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศและสกัดสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า

ดังนั้นกำแพงภาษีที่แต่ละประเทศรับปากว่าจะลดลงมาจึงไม่ได้บังคับใช้กับสินค้าทุกชนิด ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะกำหนดข้อยกเว้นไว้อย่างไร

ส่วนในข้อได้เปรียบของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า RCEP จะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของไทยใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก RCEP เป็นความตกลงที่เปิดกว้างที่สุดและมีมาตรการด้านต่างๆ สูงที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา เช่น การตั้งเป้าหมายลดภาษีสินค้าสูงที่สุดถึง 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะสร้างโอกาสให้สินค้าไทยทำตลาดได้มากขึ้นจากความตกลงเดิมที่มีอยู่ โดยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกไปตลาดเหล่านี้มูลค่า 91,800 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการส่งออกทั้งหมด

ประเด็นที่สอง RCEP ช่วยสร้างสมดุลการค้าและการลงทุนในสองฟากฝั่งของโลก โดยเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของชาติเอเชียที่มีจีนเป็นแกนนำความตกลง เพื่อให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ช่วยคานอิทธิพลชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า RCEP จะกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตเหนียวแน่น เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าในซีกโลกตะวันออก ด้วยจุดเด่นของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins) ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความยืดหยุ่นมากกว่าความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับประเทศในกลุ่ม Plus 5

ส่วนไทยซึ่งมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนอย่างเหนียวแน่นกับประเทศสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในอนาคตไทยจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น

โดยผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ขณะที่ผลทางอ้อมมาจากการที่ประเทศ Plus 5 จะลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งแรก ซึ่งการเกิดขึ้นของ RCEP จะยิ่งทำให้ไทยยังคงเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านการผลิตและส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยอาจได้อานิสงส์ด้านการค้าและการลงทุนจากการเข้าเป็นสมาชิก RCEP แต่ในความเป็นจริง ข้อตกลง RCEP อาจเอื้อประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่ม Plus 5 มากกว่า

โดยการเกิดขึ้นของ RCEP แทบไม่เปลี่ยนภาพโครงสร้างการค้าของไทยมากนัก เนื่องจากผลบวกทางตรงเพิ่มเติมจากการเปิดเสรีการค้ามีจำกัด เพราะสินค้าส่วนใหญ่ได้ลดภาษีไปแล้วตามกรอบ FTA อาเซียนกับประเทศ Plus 5 ขณะที่ผลบวกทางอ้อม กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งไปยัง Plus 5 อยู่แล้ว

ที่มา : https://www.posttoday.com/world/638532

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.