CEO ARTICLE

บริหารจัดการ

Published on April 26, 2022


Follow Us :

    

‘บริหารจัดการ’ ควรใช้ร่วมกัน หรือควรใช้แยกกันเป็น ‘การบริหาร’ และ ‘การจัดการ’ ?
คำเหล่านี้ไม่ว่าจะอยู่รวมกันหรือแยกกัน หากจะว่าเข้าใจง่ายก็ ‘ง่าย’ แต่หากจะว่าเข้าใจยากก็ ‘ยาก’ มันแตกต่างกันอย่างไร ให้ประโยชน์ต่อธุรกิจ และต่อชีวิตประจำวันอย่างไร ?

ในการแข่งขันฟุตบอล ก่อนที่กองหลังจะส่งบอลไปแดนหน้า กองหลังต้องพิจารณาก่อนว่าสถานการณ์แดนหน้าเป็นอย่างไร และควรส่งลูกบอลไปตรงไหนเพื่อให้กองหน้าทำประตูได้
ส่วนกองหน้าก็ต้องหาวิธีการจะรับบอลอย่างไร ส่งต่ออย่างไร และจะใช้กลยุทธ์อะไรเพื่อพาลูกบอลไปทำประตูสู่ชัยชนะให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผน
กองหลังทำหน้าที่พิจารณา มองสถานการณ์ และตัดสินใจเปิดบอล ส่วนกองหน้าก็สร้างวิธีการ สร้างกลยุทธ์ สร้างแผน ลงมือทำตามแผน และทำให้ได้ตามที่กองหลังส่งมา
ด้วยเหตุนี้ กองหลังจึงเปรียบเสมือนฝ่ายบริหาร กองหน้าก็เปรียบเสมือนฝ่ายจัดการ
แต่ในหลายสถานการณ์ที่กองหลังต้องขึ้นแดนหน้า รับบอล ส่งบอล และยิงประตู ส่วนกองหน้าก็ต้องลงแดนหลังเพื่อช่วยรับบอล ส่งบอลไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมในแดนหน้าเช่นกัน
กองหลังและกองหน้าจึงมีหน้าที่ต่างกัน แต่ต้องเล่นร่วมกันอย่างแยกไม่ออก การบริหารและการจัดการก็มีหน้าที่ต่างกัน แต่ต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ออกเช่นกัน

‘การบริหาร’ ภาษาอังกฤษเรียก “Administration” หากค้นหาความหมายจากนักทฤษฎีต่าง ๆ จะพบหลากหลาย แต่ทุกทฤษฎีจะให้ความหมายพื้นฐานคล้ายกับฟุตบอลข้างต้น
การบริหารคือ “การพิจารณาสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นให้ถูกต้องและแม่นยำ”
ในเมื่อต้องการ ‘ความถูกต้องและแม่นยำ’ คนที่มีทักษะบริหารต้องการอะไร ?
คำตอบคือ ‘วิสัยทัศน์’ ในการมองสถานการณ์ มองข้อมูล ข่าวสาร ตัวเลขย้อนหลัง สถิติ หลักการ เหตุผล แนวคิด ทฤษฏี การเปรียบเทียบ และอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา
คนมีวิสัยทัศน์ดีจึงมักมองได้ 2 ด้านหรือมากกว่า มองเห็นข้อดีและข้อเสียของแต่ละด้าน ต้องปรึกษาเพื่อตัดสินใจให้ถูกทาง ส่วนคนมีวิสัยทัศน์สั้น หรือมองไม่กว้างก็มักมองได้ด้านเดียว เชื่อด้านเดียว ไม่ปรึกษา การพิจารณาก็จะแคบทำให้ฝ่ายจัดการแคบและพลาดเป้าไปด้วย
คนที่อยู่ฝ่ายบริหารจึงต้องหมั่นฝึกวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลและทัศนคติให้เป็นบวกเสมอ
ส่วน ‘การจัดการ’ ภาษาอังกฤษเรียก “Management” ความหมายก็หลากหลายเช่นกัน และให้ความหมายพื้นฐานคล้ายกับฟุตบอลเช่นกัน
การจัดการคือ “การกำหนดเป้าหมายและการปฏิบัติเพื่อให้วิสัยทัศน์ได้รับความสำเร็จ”
ในเมื่อต้องการ ‘ความสำเร็จ’ คนที่มีทักษะการจัดการต้องการอะไร ?
ข้อ 1 ต้องรู้และเข้าใจ ‘วิสัยทัศน์’ ที่ฝ่ายบริหารสรุปก่อน ฝ่ายจัดการที่ไม่รู้วิสัยทัศน์ก็จะทำงานไปวัน ๆ ไม่มีเป้าหมาย หรือมีแต่ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงจนเป็นความสำเร็จที่ไม่แท้จริง
ข้อ 2 ต้องรู้เป้าหมาย หรือสร้างเป้าหมายขึ้นมาเองให้สอดคล้องกับ ‘วิสัยทัศน์’ และ
ข้อ 3 ต้องสร้างแผนงาน ฝึกกำลังพล พัฒนาทักษะ สร้างการประสานงาน การรายงาน การอำนวยการ การเงิน การจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ และอื่น ๆ เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จซึ่งมีทฤษฎีการจัดการที่มีประสิทธิภาพให้เลือกใช้มากมาย เช่น ทฤษฎี POSDCoRB ของลูเทอร์ กูลิค หรือ POCCC ของอองริ ฟาโยล เป็นต้น
ถามว่า ฝ่ายจัดการจะคิดจะสร้างวิธีการทำงานเองโดยไม่ยึดทฤษฏีใด ๆ เลยได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ ในฟุตบอล วอลเล่บอล หรือแม้แต่กีฬาที่เล่นคนเดียว เช่น กอล์ฟ เทควันโดก็ยังต้องมีแผนการซ้อม การฝึก และการเล่น ดังนั้น การคิดและการสร้างวิธีการเองก็อาจทำได้
แต่การทำงานเป็นทีมต้องมีรูปแบบที่ชัดเจน การใช้ทฤษฏีการจัดการที่ผ่านการพิสูจน์ มีความสำเร็จให้เห็นมานานแล้วย่อมดีกว่า มันก็วนกลับมาที่ ‘วิสัยทัศน์’ ในการตัดสินใจเลือกใช้
นี่คือความแตกต่างและความสัมพันธ์ของการบริหารและการจัดการที่แยกกันไม่ขาด
ในธุรกิจที่มีการบริหารและการจัดการสมบูรณ์ก็จะเกิดการพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ บ่อย ๆ เช่น ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน การตลาด การพัฒนาคน การขาย การเลือกใช้ทฤษฎีการจัดการใดเพื่อสร้างเป้าหมาย สร้างขั้นตอนการทำงาน และสร้างแผนงาน เป็นต้น
ในเรื่องทั่วไป เช่น เข้างานสายบ่อยจะส่งผลอย่างไร วันนี้จะมีฝนตกหรือไม่ รถจะติดมากแค่ไหน ราคาน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เราจะต้องแก้ไขอย่างไร วางแผนใช้รถอย่างไร เป็นต้น
‘การบริหาร’ หรือ ‘การจัดการ’ คนผู้หนึ่งไม่ว่าจะทำงานอะไรหรือใช้ชีวิตแบบไหน หากมีทักษะเพียงอย่างเดียว การใช้ชีวิตย่อมมีรูปแบบดูดี และเดินไปสู่ความสุขและความสำเร็จได้ง่าย
แต่หากมีทักษะทั้ง 2 ด้านก็ถือเป็นยอดคนที่เล่นบอลได้ทั้งกองหลังและกองหน้า
นี่คือ ‘บริหารจัดการ’ ที่ไม่ว่าจะใช้รวมกันหรือแยกจากกันต่างก็มีความสำคัญต่อทุกคนที่ไม่ควรละเลยทั้งสิ้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : April 26, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

เปิดหวูด… ขบวนรถไฟขนสินค้า “นครหนานหนิง-เวียงจันทน์” เที่ยวปฐมฤกษ์แล้ว

มิติใหม่ของการขนส่งสินค้าทาง “รถไฟ” ระหว่างจีน(เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)-สปป.ลาว หลังจากเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 ได้พัฒนารูปแบบการขนส่ง “รถไฟ+รถบรรทุก” ในเส้นทางจีน(กว่างซี) – เวียดนาม – สปป.ลาว ในการลำเลียงสินค้าที่ใช้ทางการเกษตร (ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรทางการเกษตร) ด้วยรถไฟจากนครหนานหนิง และไปถ่ายตู้ขึ้นรถบรรทุกในเวียดนาม ก่อนจะวิ่งไปยังปลายทางใน สปป.ลาว ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 เวลา 11:00 น. ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ในเส้นทาง “นครหนานหนิง-เวียงจันทน์” ได้เคลื่อนตัวออกจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง (Nanning international railway port/南宁国际铁路港) ผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน มณฑลยูนนาน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ผู้ส่งออกในอำเภอระดับเมืองผิงกั่ว เมืองไป่เซ่อของกว่างซี (เมืองชายขอบติดกับมณฑลยูนนาน) ได้ใช้บริการรถไฟดังกล่าวเพื่อส่งออก polyferric sulfate ไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นครั้งแรก (สถานีน่าหลี่ เมืองไป่เซ่อ – ด่านโม่ฮาน – เวียงจันทน์)

เดิมที การขนส่งสินค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับ สปป.ลาว จะใช้การขนส่งทางเรือ (ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรืออ่าวตังเกี๋ย) ผ่านประเทศเวียดนาม หรือประเทศไทย ก่อนจะลากตู้สินค้าไปยัง สปป.ลาว ซึ่งรูปแบบการขนส่ง(อ้อม)ดังกล่าวต้องใช้เวลานานค่อนข้างนาน (ราว 10-15 วัน) ขณะที่ทางรถบรรทุก (ผ่านถนนอาร์ 8 อาร์ 9 และอาร์ 12) แม้จะใช้เวลาสั้นเพียง 1-2 วัน แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก อาทิ ประเภทสินค้าที่เหมาะกับการขนส่งทางถนน สภาพอากาศ และสภาพการจราจรที่แออัดโดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดน

การเปิดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าดังกล่าวช่วยให้ผู้ค้าได้รับประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายสินค้า สามารถขนส่งต่อเที่ยวได้ในปริมาณมาก ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ลดความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่ง และร่นเวลาการขนส่งเหลือเพียง 3 วันเท่านั้น (ประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางเรือได้อย่างน้อย 10 วัน)

นายเฉียน เฟิง (Qian Febg/钱峰) ผู้จัดการใหญ่บริษัท SINOTRANS สาขากว่างซี (中外运广西有限公司) ให้ข้อมูลว่า สินค้าส่งออกที่ไปกับขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์นี้เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในท้องถิ่น (อาทิ สารชะล้างโลหะ) การเปิดเส้นทางขนส่งทางรถไฟดังกล่าวช่วยวางรากฐานด้านการขนส่งที่มีความสะดวกรวดเร็วให้กับสินค้ากว่างซีในการเจาะตลาด สปป.ลาว และได้รับความสนใจอย่างมากจากลูกค้าที่กำลังมองตลาด สปป.ลาว อีกทั้ง แป้งสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ยางพารา และสินค้าเกษตรอื่นๆ ของ สปป.ลาว ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวในการขยายตลาดสินค้าในกว่างซีได้เช่นกัน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายกำลังร่วมกันผลักดันให้เส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นเที่ยวประจำโดยเร็ว

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน การทำการค้าระหว่างประเทศของกว่างซี ถือได้ว่า “รถไฟ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการลำเลียงสินค้า โดยนอกจากโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีแล้ว การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศก็เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนามผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” ของกว่างซี

Tips กระบวนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม (ขาขึ้น) จะเป็นโมเดลการขนส่ง “รถ+ราง” โดยรถบรรทุกจากภาคอีสานไทย และเปลี่ยนถ่ายขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เพื่อลำเลียงผ่านด่านรถไฟผิงเสียงไปที่นครหนานหนิง และใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศจีน แต่สำหรับการขนส่ง “ผลไม้ไทย” รถบรรทุกจากภาคอีสานไทย ผ่านกรุงฮานอยไปที่จังหวัดล่างเซิน (Lang Son) เพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟที่สถานีด่งดัง (Dong Dang) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียง และกระจายต่อไปยังพื้นที่ในประเทศจีน

บีไอซี เห็นว่า เส้นทางรถไฟข้ามประเทศเส้นทางใหม่ “นครหนานหนิง – ด่านรถไฟโม่ฮาน – เวียงจันทน์ (สปป.ลาว)” เป็นอีก “ทางเลือก” ของผู้ส่งออกไทยในการลำเลียงสินค้าด้วยรถไฟไปเจาะตลาดจีน(กว่างซี) อีกทั้ง ยังเป็นการ “เติมเต็ม” ประสิทธิภาพให้กับเส้นทางขนส่งทางรถไฟดังกล่าวด้วย ในแง่ของการมีสินค้า “ขากลับ” ไปยังจีน(กว่างซี)

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น (1) การขนถ่ายสินค้าด้วยรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมกับโครงการรถไฟในจีน (2) การขนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟกับรถบรรทุก และ (3) การเชื่อมโครงข่ายรถไฟ China- Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.