CEO ARTICLE

รถเถื่อน


Follow Us :

    

‘ผอ. กอล์ฟ’ พลิกลิ้นกลับคำให้การ’

‘เผยหนี้ท่วมหัว-ซื้อรถเถื่อน ชนวนก่อเหตุชิงทรัพย์ร้านทอง’

สัปดาห์ก่อนตรุษจีน ประเทศไทยมีข่าวหนัก ๆ ให้ติดตามมากมาย แต่ข่าวที่เป็น Talk of the town มากที่สุดคงหนีไม่พ้นข่าว การฆ่าและชิงทองของ ผอ. กอล์ฟ ไปได้

ใน https://www.matichon.co.th/local/news_1913856 พาดหัวด้วยคำว่า “ซื้อรถเถื่อน” ส่วนไทยรัฐก็ใช้คำเดียวกัน “ซื้อรถเถื่อน” ให้เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุการชิงทอง

ผมเห็นคำว่า “ซื้อรถเถื่อน” แล้วก็นึกถึงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวการซื้อรถเถื่อนระบาดมากในประเทศไทยพร้อม ๆ กับการไล่จับกุมของศุลกากร

ในเวลานั้นคนขายรถยนต์ประเภทนี้จะไม่ใช้คำว่า “รถเถื่อน” เหมือนหนังสือพิมพ์ในวันนี้ แต่จะใช้คำว่า “รถเกรย์มาร์เก็ต” บ้าง “รถจดประกอบ” บ้าง หรือ “รถเทา ๆ” บ้าง

คนขายอาจรู้หรือไม่รู้ก็ได้ แต่คำเหล่านี้เป็นการปลอบใจผู้ซื้อให้หลงเชื่อ

ตอนนั้น เพื่อนผมคนหนึ่งก็ไปซื้อรถราคาถูก ๆ แบบนี้มาด้วย เอามาอวด และเล่าให้ผมฟังว่าพร้อม ๆ กับสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าที่ผู้ขายให้มาเพื่อแสดงว่า

“รถยนต์นำเข้าอย่างถูกต้องเพราะมีใบขนสินค้าเป็นหลักฐานการนำเข้า”

พอผมเห็นสำเนาใบขนสินค้าก็ดูออก ผมจึงแนะนำเพื่อนให้รีบขายไปโดยเร็ว เวลานั้นข่าวการจับกุมของศุลกากรดังมากจริง ๆ ขณะที่คนซื้อรถถูก ๆ ประเภทนี้ก็ไม่เข้าใจ ดูไม่ออก

ผมไม่รู้ว่า ขณะที่ ผอ. กอล์ฟไปซื้อรถ BMW เปิดประทุนในราคา 3 แสนบาทและสุดท้ายถูกศุลกากรจับกุมทำให้เสียค่าปรับ 6 แสนบาทตามข่าวนั้น ผอ. กอล์ฟรู้หรือไม่ว่าเป็น “รถเถื่อน” หรือคิดว่าเป็น “รถเกรย์มาร์เก็ต” หรือ “รถจดประกอบ” หรือ “รถเทา ๆ” หรือมีสำเนาใบขนสินค้าขาเข้ามาแสดงแบบเพื่อนของผมหรือไม่ ???

สิ่งที่อยากเสนอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในวันนี้คือ การนำสินค้าต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทยนั้น ไม่มีคำว่า “เทา ๆ” เด็ดขาด จะมีก็เพียง 2 คำเท่านั้นคือ “นำเข้าอย่างถูกต้อง” กับ “ลักลอบนำเข้า” เท่านั้น

หากจะกล่าวแบบสรุปคือ การนำเข้าหาก “ไม่ถูกกฎหมาย” ก็ “ผิดกฎหมาย” แค่นั้น

ตอนที่เพื่อนผมนำสำเนาใบขนสินค้ามาให้ดูเพื่อแสดงว่า เป็นรถนำเข้าอย่างถูกต้องนั้น คนที่อยู่ในแวดวงตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) ที่มีความรู้ก็พอจะมองออกว่าสำเนาใบขนนั้นเป็นของจริงหรือไม่

วิธีการดูง่าย ๆ ก็ตรงที่มุมซ้ายล่างของใบขนสินค้า หากมีเลข 4 ตัวคือ “0409” นั้นแสดงว่าเป็นใบขนสินค้าที่ได้ผ่านสถานะต่าง ๆ ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

หากแสดง 2 ตัวหน้า 01 เป็นสถานะขั้นตอนส่งข้อมูลไปยังกรมศุลกากร

หากแสดง 2 ตัวหน้า 02 เป็นสถานะขั้นตอนพิธีการศุลกากร

หากแสดง 2 ตัวหน้า 03 เป็นสถานะขั้นตอนการรอตรวจปล่อยสินค้าตามคำสั่งของกรมศุลฯ

หากแสดง 2 ตัวหน้า 04 เป็นสถานะขั้นตอนการรับมอบสินค้าออกไปจากกรมศุลกากรแล้ว

ส่วนตัวเลขย่อย 09 ที่อยู่ต่อจาก 01 หรือ 02 หรือ 03 หรือ 04 นั้น หมายถึง การเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในแต่ละขั้นตอนของสถานะนั้น

ดังนั้น สถานะ “0409” จึงหมายถึง ใบขนสินค้าฉบับนี้ได้ผ่านขั้นตอนการรับมอบสินค้าอย่างสมบูรณ์แล้ว

นี่คือเหตุผลที่ท่านผู้อ่านควรต้องดูตรง “มุมซ้ายล่าง” ของใบขนสินค้าให้มีรหัส “0409”

แต่หากเป็นเลขอื่นไม่ว่าจะเป็น 2 หลัก หรือ 4 หลักที่ขึ้นต้นด้วย 01 หรือ 02 หรือ 03 ก็ตาม มันคือรหัสตัวเลขที่แสดงว่า สินค้าที่แสดงในใบขนสินค้าฉบับนี้ยังไม่ครบถ้วนการผ่านพิธีการด้านศุลกากรอย่างสมบูรณ์

หากกล่าวให้ง่าย ใบขนสินค้าสมัยนี้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ส่งผ่านไปมาระหว่างผู้นำเข้าหรือตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) กับกรมศุลกากร

การส่งผ่านแต่ละขั้นตอนจะมีรหัสกำกับไว้ คนไม่ได้อยู่ในอาชีพนี้จะดูไม่ออก พอผู้ซื้อเห็นสำเนาใบขนสินค้าที่คนขายนำมาแสดงก็บอกว่าเป็นรถ “เกรย์มาร์เก็ต” หรือ “จดประกอบ” ที่นำเข้ามาอย่างถูกต้องก็มักหลงเชื่อ

อีกประการหนึ่ง ใบขนสินค้าที่สมบูรณ์ทุกฉบับแล้วต้องมีเลขที่กำกับ การตรวจสอบกับกรมศุลกากร หรือมอบให้ตัวแทนออกของตรวจสอบว่าเป็นใบขนสินค้าที่ผ่านพิธีการถูกต้องครบถ้วนจริงหรือไม่ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง

ในความเป็นจริง รถเกรย์มาร์เก็ตก็เป็นรถยนต์นำเข้าอย่างถูกต้องจริง ๆ อย่างที่กล่าวอ้าง แต่ที่เรียกเป็น “รถเกรย์” ก็เพราะผู้นำเข้าไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของรถยนต์ยี่ห้อนั้น และรุ่นที่นำเข้าก็เป็นรุ่นที่ตัวแทนอย่างเป็นทางการไม่จำหน่ายแค่นั้นเอง

ในข่าวไม่ได้บอกว่า ผอ. กอล์ฟจะรู้หรือไม่ว่าเป็น “รถเถื่อน” แต่รถยนต์ที่ถูกจับกุมนี่เป็น “รถเถื่อน” เมื่อเป็นรถเถื่อนก็ต้องถูกจับกุมโดยศุลกากร ต้องเสียค่าปรับ และสุดท้ายก็สร้างความเดือดร้อนอย่างที่เห็น

เพียงแต่กรณีของ ผอ. กอล์ฟกลับแก้ปัญหาในทางที่ผิด หาก ผอ. กอล์ฟ พอจะรู้ว่ารถที่กำลังจะซื้อเป็น “รถเถื่อน” ท่านก็อาจไม่ซื้อ ความเสียหายก็อาจไม่มากถึงขนาดนี้ก็ได้

การที่ผมนำเรื่อง ผอ. กอล์ฟ ซื้อรถยนต์หรูมากล่าวก็เพราะข่าวทำให้เชื่อว่า ปัจจุบันน่าจะยังมีการซื้อขายรถยนต์แบบนี้กันอยู่ และน่าจะยังเรียกให้ดูดีว่า “รถเกรย์มาร์เก็ต” บ้าง “รถจดประกอบ” บ้าง หรือ “รถเทา ๆ” บ้างจนเกิดการซื้อขายเหมือนในอดีต

อย่างน้อย ผู้ที่กำลังคิดจะซื้อก็ต้องรู้ว่า มันคือ “รถเถื่อน” ไม่ใช่ “รถเกรย์มาร์เก็ต” อย่างที่กล่าวอ้างจนนำความเดือดร้อนมาให้อย่างที่ ผอ. กอล์ฟ ประสบ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล. https://www.sanook.com/auto/62185/ ให้ข้อมูลเกี่ยกับคำว่า “เกรย์มาเก็ต “ไว้ว่า

ศูนย์รถเกรย์ (Grey Market) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มองหารถยนต์นำเข้าหรู ๆ ซึ่งสมัยก่อนศูนย์เกรย์ส่วนใหญ่จะเน้นทำตลาดรถยนต์ที่ไม่ได้นำเข้ามาจำหน่ายในไทยโดยผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ (ที่นิยมมากในบ้านเราสมัยก่อน เช่น Toyota Granvia หรือ Toyota Land Cruiser เป็นต้น) โดยส่วนใหญ่หากเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ก็จะเป็นถูกนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่รถยุโรปมักจะถูกนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้พวงมาลัยขวาแบบบ้านเรา ทำให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยมากกว่าการนำเข้าจากประเทศอื่น

แต่ถึงอย่างไร รถเกรย์ก็มีข้อแตกต่างจากรถศูนย์ที่นำเข้าโดยผู้ผลิตเอง ซึ่งสามารถสรุปข้อดี-ข้อเสียของการนำเข้าแต่ละแบบได้ ดังนี้

ข้อดี – รถที่นำเข้ามาจากศูนย์เกรย์มักมีทางเลือกที่หลากหลายกว่า มีรุ่น-ยี่ห้อให้เลือกเยอะกว่า บางรุ่นอาจไม่ได้นำเข้าโดยผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีราคาจำหน่ายต่ำกว่ารถศูนย์ หรือหากมีราคาใกล้เคียงกัน ก็มักจะติดตั้งอ็อพชั่นมาให้มากกว่า ขณะที่บางศูนย์สามารถให้ลูกค้าเป็นผู้สั่งออเดอร์เองได้ ทำให้สามารถตกแต่งหรือเลือกอ็อพชั่นได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด

ข้อเสีย – ศูนย์เกรย์มักมีข้อด้อยในเรื่องการบริการหลังการขาย เนื่องจากศูนย์จะต้องดูแลรถยนต์มากกว่า 1 ยี่ห้อ ทำให้ไม่สามารถสต็อกอะไหล่ได้ทุกชิ้น ซึ่งส่วนมากอะไหล่ที่ศูนย์มีสต็อกไว้ จะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนเป็นประจำ เช่น น้ำมันเครื่อง, ผ้าเบรก, ของเหลวต่างๆ ฯลฯ ขณะที่อะไหล่เฉพาะจะต้องสั่งจากต่างประเทศเท่านั้น ทำให้การซ่อมบำรุงล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนั้น รถที่ศูนย์เกรย์นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษนั้น ส่วนมากไม่ผ่านการปรับจูนเพื่อให้รองรับน้ำมันที่ขายในประเทศไทย หากเป็นเครื่องยนต์ดีเซลก็มักจะพบปัญหาควันดำ รวมถึงต้องเติมสารพิเศษที่เรียกว่า AdBlue เพื่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสียอันเข้มงวดของยุโรปด้วย ซึ่ง AdBlue ที่ว่าที่ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทยแต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์บริการรถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่รับรถยนต์ที่ซื้อจากศูนย์เกรย์เข้ารับเซอร์วิสเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ไม่มีสต็อกอะไหล่บางชิ้น หรือช่างไม่ชำนาญงานซ่อมบางอย่างที่ไม่มีขายในประเทศไทย เป็นต้น

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ฟิลิปปินส์เตรียมใช้กฎหมายกำหนดอัตราค่าขนส่งทางเรือ…หวังช่วยแก้ปัญหาท่าเรือแออัด

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (DTI) อยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อควบคุมอัตราค่าขนส่งทางเรือที่สูงขึ้น โดยนาย Rowel Barba ปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงฯ กำลังดำเนินการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอัตราค่าขนส่งทางเรือ และจะจัดส่งให้นาย Ramon Lopez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และสภาคองเกรส พิจารณาให้การรับรองต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้
นาย Ramon Lopez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่า DTI จะผลักดันให้มีการออกกฎหมายควบคุมอัตราค่าขนส่งดังกล่าว แทนแนวทางก่อนหน้านี้ที่ขอให้ประธานาธิบดี ดูแตร์เต ออกคำสั่ง Executive Order (EO) โดยแนวทางการออกกฎหมายดังกล่าวได้มีการปรึกษาหารือกับนักกฎหมายแล้ว และมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการออก EO อาจไม่เพียงพอที่จะสามารถครอบคลุมสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้ ภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว จะกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลอัตราค่าขนส่งให้เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งก่อนที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้มีการออกคำสั่งบริหารร่วม Joint Administrative Order (JAO) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (ของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม) โดยกำหนดกฎระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายของสายการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ ผู้ประกอบการรถบรรทุก และผู้ที่เข้ามาใช้บริการท่าเรือ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน และป้องกันไม่ให้มีการทิ้งตู้คอนเทนเนอร์เปล่า รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ โดยคำสั่ง JAO ถือเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อข้อร้องเรียน/ข้อกังวลของผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมถึงสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (Philippine Chamber of Commerce and Industry) และสมาพันธ์ผู้ส่งออกฟิลิปปินส์ (Philippine Exporters Confederation Inc.) เกี่ยวกับอัตราค่าขนส่งที่สูงและความแออัดของท่าเรือในกรุงมะนิลา ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ได้พยายามหาแนวทางต่างๆ ในการกำหนดเพดานสำหรับค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บ เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราค่าขนส่งสูงขึ้น โดยจากผลการศึกษาในปี 2561 ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์และธนาคารโลกพบว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขาย ซึ่งสูงกว่าประเทศอินโดนีเซียที่มีต้นทุนค่าขนส่งอยู่ที่ร้อยละ 21.4 ตามด้วยเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 16.3 และประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 11.11
ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Philippine Star ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2563

ผลกระทบ
ฟิลิปปินส์มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะถึง 7,000 กว่าเกาะ ทำให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นระบบที่สำคัญที่สุด โดยใช้ขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสาร แต่มีข้อเสียคือใช้เวลานาน โดยท่าเรือสำคัญในฟิลิปปินส์ ได้แก่ South Habour, Manila International Container Port (MICP), Cebu, Batangas, Davao, Subic, Cagayan de Oro, General Santos และ Zamboanga ทั้งนี้ ท่าเรือที่มีความหนาแน่นที่สุดในฟิลิปปินส์ คือ ท่าเรือมะนิลา โดยเฉพาะ Manila International Container Port (MICP) สำหรับท่าเรืออื่นๆ ที่มีความหนาแน่น ได้แก่ ท่าเรือที่ตั้งอยู่ในเมืองสำคัญ/เมืองรอง เช่น Batangas City, Cebu City, Davao City, Legazpi City, Lucena City, Puerto Princesa, San Fernando, Subic และ Zamboanga City เป็นต้น ซึ่งท่าเรือเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนหนึ่งของ Strong Republic Nautical Highway ซึ่งเป็นระบบขนส่งทางเรือที่สามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งทางบก (roll-on/roll-off) เพื่อเชื่อมโยงกับเกาะอื่น ๆ ได้
ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาระบบโลจิสติกส์ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยจากข้อมูลธนาคารโลก (World Bank) ปี 2018 เกี่ยวกับการจัดอันดับและให้คะแนนด้าน Logistic Performance Index (LPI) พบว่า ฟิลิปปินส์ได้รับคะแนน 2.90 จาก 5 และอยู่ในอันดับที่ 60 (ในขณะที่ไทยได้รับคะแนน 3.41 อยู่ในอันดับที่ 32) โดยปัญหาระบบโลจิสติกส์สำคัญคือ ความแออัดของท่าเรือ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น การดำเนินธุรกิจนำเข้า/ส่งออกของฟิลิปปินส์ไม่สะดวก แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลฟิลิปปินส์จะพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว ให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ปัญหาความแออัดของท่าเรือโดยเฉพาะในกรุงมะนิลา ทำให้นักธุรกิจต่างชาติ รวมถึงนักธุรกิจไทย ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการส่งออกสินค้าจากไทยมายังฟิลิปปินส์ต้องใช้เวลาส่งมอบสินค้านานขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสินค้าบางประเภทที่เน่าเสียได้ง่าย หรือสินค้าที่ต้องการเก็บรักษาและดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งการเสียค่าปรับในการส่งมอบสินค้าล่าช้าให้กับคู่ค้าจากปัญหาความแออัดของท่าเรือ
โอกาส/แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย
ความไม่มีประสิทธิภาพของท่าเรือและระบบโลจิสติกส์ของฟิลิปปินส์ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฟิลิปปินส์ถูกมองข้ามโอกาสในการเข้ามาลงทุนและค้าขายจากต่างประเทศ การที่ฟิลิปปินส์จะออกกฎหมายเพื่อควบคุมอัตราค่าขนส่งทางเรือให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาความแออัดของท่าเรือ รวมทั้งการพยายามปรับปรุงแก้ไขระบบโลจิสติกส์ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ น่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการไทยมากขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวสั่งสมมาเป็นเวลานานหลายปีต้องใช้วิธีที่เหมาะสมและเวลาในการแก้ไข ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสินค้าไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาท่าเรือแออัดมีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งในอดีตมีการซื้อขายกันในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และเกิดปัญหาเรื่องการส่งมอบสินค้าล่าช้าจากปัญหาท่าเรือแออัด ประกอบกับฟิลิปปินส์มีพายุไต้ฝุ่นเข้าบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดในสัญญาส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันฟิลิปปินส์ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการนำเข้าข้าวมาเป็นเปิดเสรีนำเข้าโดยเอกชน ส่งผลให้มีผู้นำเข้า/พ่อค้าคนกลางรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้ปัญหาความแออัดท่าเรือส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าฟิลิปปินส์จะพยายามแก้ไขปัญหาในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มอาหารซึ่งสินค้ามีอายุการเก็บรักษาและเสี่ยงที่จะเกิดการเน่าเสียได้ง่ายควรวางกลยุทธ์ และกำหนดแผนการส่งมอบสินค้าให้ละเอียดรอบคอบ รวมทั้งการจัดทำสัญญาซื้อขายโดยเฉพาะเงื่อนไขการส่งมอบไม่ให้เกิดความเสียเปรียบ นอกจากนี้ การมองหาคู่ค้าชาวฟิลิปปินส์เพื่อช่วยในการติดต่อประสานงานในท่าเรือก็จะช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น
0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.