CEO ARTICLE

บทความที่ 700

Published on December 7, 2021


Follow Us :

    

เผลอแปล๊บเดียว บทความที่เขียนสัปดาห์ละฉบับก็เข้าสู่ฉบับที่ 700 แล้ว หากนับจริง ๆ ก็ผ่านไปราว 25 ปีที่บทความทำหน้าที่ตอบแทนพระคุณท่านผู้อ่านที่ให้ความเอ็นดูเรื่อยมา
บทความและ SNP มีความสัมพันธ์กัน และมีรากเหง้าที่มาอย่างไร ?

ยุคปี 2520 ประเทศไทยอยู่ในยุค ‘เกษตรอุตสาหกรรม’ เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง การจ้างงานดี การส่งเสริมการลงทุนเริ่มเป็นที่รู้จัก การนำเข้า และการส่งออกเริ่มเติบโต
ผู้ประกอบการในยุคนั้นหากนับอายุถึงวันนี้ก็เป็นคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย หรือทวดแล้ว
ยุคนั้นคนทำงานส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ส่วนหนึ่งอินเดีย คนชาติอื่นและคนไทยก็มีไม่น้อย ส่วนใหญ่เก่งการค้า แต่มักขาดความรู้ทางกฎหมายศุลกากรและการขนส่งระหว่างประเทศ หากมีปัญหาก็ใช้เงินเป็นตัวตัดสิน กลายเป็น ‘เงินใต้โต๊ะ’ ที่ไม่รู้ตัวว่าอาจ ‘ถูกหลอก’ หรือ ‘ผิดกฎหมาย’
การต่อสู้ การอุทธรณ์ตามสิทธิ์ การขอคืนภาษีอากรจากการนำเข้าและการส่งออกก็ทำกันอย่างไร้ทิศทาง ข้อผิดพลาดจาก B.O.I. มักเกิดขึ้นง่าย ๆ จนกลายเป็นการสำแดงเท็จ และถูกปรับ แม้แต่งานแสดงสินค้านานาชาติก็ส่งมอบสินค้าไม่ได้ตามกำหนด
ปัญหาเหล่านี้ ไม่มีผู้ประกอบการรายใดหนีพ้น ทุกรายต่างประสบไม่มากก็น้อย
หลายปีต่อมา ปัญหาทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ เอกสารทางการค้ามักถูกตั้งข้อสงสัย ส่งผลให้เครื่องจักร วัตถุดิบ และสินค้ามากมายถูกตรวจสอบมากขึ้น ตกค้างในท่าเรือ ความแออัดจึงค่อย ๆ สะสม และกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศไทย
วิกฤติคือโอกาส ปี 2524 กลุ่ม SNP จึงก่อตั้งขึ้นท่ามกลางความท้าทาย เจตนาเพียงเพื่อให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ทางการค้า กฎหมาย และการขนส่งระหว่างประเทศ
ผู้ก่อตั้งอาศัยความรู้ของกลุ่ม ส่วนหนึ่งร่ำเรียนมาจาก ACC (Assumption Commercial College) อีกส่วนมาจากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอางค์ เครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์เครื่องเขียน เคมีภัณฑ์ และผ่านงานการนำเข้าและส่งออกสิ่งทอในสำเพ็ง
กลุ่มจดทะเบียนครั้งนั้นในชื่อ S.N.P Shipping and Consultant Ltd., Part.

เวลานั้น กฎหมายศุลกากรมีหลายฉบับ แม้แต่ในฉบับเดียวกันก็มีหลายมาตรา พิกัดสินค้าที่เกี่ยวข้องก็มีมาก ทุกอย่างผิดได้และถูกได้ภายใต้กฎหมาย หลักการ และเหตุผลทั้งสิ้น
ทางเดียวที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพคือ ‘ระบบงาน’ ที่เริ่มจาก ‘แผนงาน’ ตั้งแต่ก่อนการสั่งซื้อสินค้านำเข้า การใช้ถ้อยคำในใบสั่งซื้อ (Purchase Order) ใน L/C ที่อาจหวนกลับมาสร้างปัญหาอย่างไม่รู้ตัว การจัดเรือ (Vessel) ให้เทียบท่าที่เหมาะสม และมีศุลกากรที่คุ้นเคยกับสินค้าที่ต้องการนำเข้าและส่งออก
ทุกอย่างหนีไม่พ้นการต่างประเทศ ภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญมากในยุคนั้น
ระบบงานให้ภาพลักษณ์ (Image) ที่ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงมอบงานบริการให้ด้วย และหากระบบงานได้รับการปฏิบัติจนสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์และคุณค่า (Value) คืนสู่ผู้ประกอบการ แน่นอนอาจมีความล้มเหลวบ้าง แต่ภายใต้หลักการและเหตุผลที่ดีก็เป็นที่ยอมรับได้
ระบบงานที่สำเร็จมากขึ้น SNP ก็เติบโตมากขึ้นและก้าวกระโดดไกลขึ้น ได้รับความเชื่อถือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ร่วมงาน
ปี 2531 กลุ่ม SNP ก็ได้รับ ‘ถ้วยรางวัลอันดับ 1 เมืองไทย’ สาขาการขนส่งสินค้าทางเรือ อากาศ และไปรษณีย์จาก ฯพณฯ ท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้น กลุ่ม SNP ก็ได้ร่วมงานกับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ได้ร่วมมือกับตัวแทนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (Overseas Agents) มากขึ้น ได้เป็นที่ปรึกษา และร่วมสร้างระบบงานเพื่อประสิทธิภาพมากขึ้น
ปี 2540 ฟองสบู่แตก เงินบาทลอยตัว เศรษฐกิจประสบปัญหาอย่างหนัก กิจการมากมายต้องปิดตัว คนนับหมื่นตกงาน แนวคิดสร้าง ‘บทความ’ (Article) เพื่อกระจายความรู้จึงเกิดขึ้น
บทความอาศัยประสบการณ์ที่เพิ่มพูล ยุคแรกเขียนเรื่องกฎหมายศุลกากรเป็นหลักโดยไม่เรียงเลขที่ ต่อมามีเรียงเลขที่ในชื่อ ‘CEO Talk’ และพัฒนาสู่การค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในชื่อ ‘Logistics Corner’
ภายหลังพบว่าปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า การส่งออก และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทความจึงขยายขอบเขตกว้างขึ้น
คำว่า ‘SNP’ วันนี้ถูกปลูกฝังให้เป็นพันธกิจองค์กรเพื่อสร้างทีมงานให้มีความเร็วที่เพียงพอ (S = Sufficient Speed) ให้ความสำคัญเครือข่าย (N = Network Necessitation) และให้ทำงานเชิงรุกอย่างมืออาชีพ (P = Professional Proactive)
ทั้งหมดเพื่อพัฒนาระบบงานให้ดีและตอบโจทย์ที่ยากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยภาวะผู้นำที่ได้ผลัดเปลี่ยนไปสู่กลุ่มใหม่ (New Gen) รุ่นที่ 2 ต้องมีความเร็ว ต้องใช้เทคโนโลยี พื้นฐานการศึกษา และความมีวินัยของทีมงานอย่างมาก
บทความเขียนบนกระดาษ หยุดเขียนบ้างตามแต่ละสถานการณ์ แต่พอถึงยุค ‘ไร้กระดาษ’ (Paperless) บทความวันนี้จึงส่งทางออนไลน์ที่มีทีมงานรุ่นใหม่ร่วมวิจารณ์และปรับปรุง
การเรียงเลขที่มาถึงฉบับที่ 700 ทีมงานจึงเห็นควรบอกเล่ารากเหง้าที่มาของบทความเพื่อเป็นการแสดงความขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่เอ็นดู SNP มาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 7, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

นครเฉิงตูเปิดใช้เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถลดทั้งระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 64 นครเฉิงตูได้เปิดใช้เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าในลักษณะหลากหลายรูปแบบ ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรถไฟขบวนแรกวิ่งจากนครเฉิงตูไปยังท่าเรือซินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ต่อด้วยการขนส่งทางเรือไปยังฟิลิปปินส์ ใช้เวลาเพียง 5-7 วัน และสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ถึง 2 ใน 3
นายเจิ้ง ซวงลี่ รองผู้จัดการบริษัท Chengdu Airport Modern Service Industry Development Co., Ltd. เปิดเผยว่า สินค้าที่บริษัทขนส่งด้วยเส้นทางดังกล่าวคือ น้ำเกลือ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ ทำให้ต้องควบคุมต้นทุนการขนส่ง ที่ผ่านมา บริษัทใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางถนนไปยังท่าเรือขนส่งในนครฉงชิ่ง และขนส่งทางเรือจากนครฉงชิ่งผ่านเมืองหลูโจวหรือเมืองอี๋ปินไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งใช้เวลามากกว่า 10 วัน หากเป็นช่วงฤดูแล้งก็จะใช้เวลาในการขนส่งนานถึงครึ่งเดือน การขนส่งด้วยเส้นทางใหม่นี้ สามารถขนส่งสินค้าจากนครเฉิงตูไปถึงท่าเรือซินโจวได้ภายใน 3 – 4 วัน นอกจากนี้ ระยะเวลาการขนส่งจากท่าเรือซินโจวไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สั้นกว่าการขนส่งจากนครเซี่ยงไฮ้มาก และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าขนส่งจากนครเซี่ยงไฮ้แล้ว การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่จากท่าเรือซินโจวจะสามารถประหยัดต้นทุนได้ตู้ละประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การขนส่งจากท่าเรือซินโจวไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงช่วยประหยัดทั้งระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง
นายหลิว เจียว ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจของบริษัท Chengdu Jieshengtong Logistics Co., Ltd. เห็นว่า การขนส่งแบบหลากหลายรูปแบบ (เรือ+ราง) ช่วยแก้อุปสรรคในการขนส่งผลิตภัณฑ์ในเขตการค้าเสรีระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิสาหกิจมีเงื่อนไขความต้องการด้านความหลากหลายทางโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านต้นทุน และหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาด้านความมั่นคงในการขนส่งทางน้ำยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้วิสาหกิจจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับการขนส่งทางรางมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน นครเฉิงตูได้พัฒนาระบบความเชื่อมต่อทางอากาศกับทางรางที่ท่าอากาศยานนานาชาติ ซวงหลิว เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และดึงดูดบริษัทด้านโลจิสติกส์ชั้นนำ เช่น 4PX Worldwide Express, SF Express, La Poste หันมาใช้บริการเส้นทางขนส่งดังกล่าว
ในอนาคต นครเฉิงตูตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนการขนส่งด้วยรถไฟระหว่างประเทศ 500 ขบวนต่อปี มีคลังสินค้าในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3-5 แห่งในอาเซียน และสร้างแพลตฟอร์มให้บริการแบบครบวงจร
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูคาดว่า การเพิ่มเส้นทางการขนส่งทางเรือ + ราง จากนครเฉิงตูไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะส่งผลดีต่อประเทศในภูมิภาค และอาจช่วยผู้ประกอบการไทยประหยัดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาศึกษาว่าเส้นทางดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับธุรกิจของท่านหรือไม่ โดยเฉพาะโอกาสในการส่งออกสินค้าของท่านไปยังพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งน่าจะมีศักยภาพสูงและเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสินค้าคุณภาพจากไทยในอนาคตต่อไป รวมถึงโอกาสในการขนส่งสินค้าต่อไปยังยุโรปด้วย

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.